สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 จับมือทุกภาคส่วนจัดประชุมวิชาการดินเค็มภาคอีสาน หวังช่วยเกษตรกรพ้นกับดักรายได้ปานกลาง มีอาชีพที่ยั่งยืน นายสถาพร ใจอารีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ทำการเกษตรมาก 1 ใน 3 ของประเทศ มีเนื้อที่เพาะปลูก 60 ล้านไร่ แต่ในจำนวนพื้นที่ดังกล่าวมีปัญหาดินเค็มถึง 17.5 ล้านไร่ คิดเป็น 29% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด ซึ่งปัญหาดินเค็มส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช ทำให้ผลผลิตต่ำ โดยพบว่าภาคอีสานมีอัตราการขยายตัวของผลผลิตด้านการเกษตรต่ำสุด จึงส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร เมื่อเกษตรกรภาคอีสานที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้น้อยจะส่งผลเชื่อมโยงต่อรายได้เฉลี่ยของคนในประเทศ ดังนั้น การแก้ปัญหาดินเค็ม จะช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเค็มในการเพิ่มผลผลิต สร้างรายได้และยกระดับให้พ้นกับดักรายได้ปานกลางได้ในที่สุด กรมพัฒนาที่ดิน โดยสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 จึงได้จัดประชุมวิชาการดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และเกษตรกรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ดินเค็ม เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยด้านดินเค็ม ผลสำเร็จการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม รวมทั้งจัดเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการและการใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเค็ม สามารถนำความรู้และประสบการณ์เหล่านี้ไปต่อยอดขยายผลในการพัฒนางานวิจัยหรือสร้างนวัตกรรมที่จะช่วยพัฒนาพื้นที่ดินเค็มภาคอีสานในอนาคต อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้เห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการจัดการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการในภาคอีสาน เกษตรกรสามารถปรับตัวให้ใช้พื้นที่ดินเค็มทำการเกษตรได้เหมาะสมมากขึ้น มีการปลูกป่าบนพื้นที่เนินรับน้ำเพื่อป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม ปลูกยูคาลิปตัสบนคันนา ซึ่งช่วยเรื่องควบคุมน้ำใต้ดินไม่ให้ขึ้นสู่ผิวดิน และยังสามารถขายสร้างรายได้เสริม หรือบางพื้นที่ทำเกษตรแบบผสมผสาน หรือปลูกพืชพรรณที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ดินเค็ม เช่น รากสามสิบ มีสรรพคุณทางยาและยังช่วยบำรุงดินทำให้ดินชุ่มน้ำ หรือต้นกก เกษตรกรได้นำต้นกกมาใช้ในด้านหัตถกรรม เป็นต้น “ดินเค็มเป็นปัญหาเฉพาะเนื่องจากไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้ เพราะเกิดจากชั้นหินเกลือที่สะสมอยู่ใต้ดินมายาวนาน เมื่อระดับน้ำใต้ดินเพิ่มขึ้นเกลือก็จะถูกดันขึ้นมาผิวดิน ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวมากกว่าพื้นที่ดอน ดังนั้น การแก้ปัญหาดินเค็มจะมุ่งเน้นที่ทำอย่างไรให้พื้นที่ดินดอนสามารถใช้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้ เพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างยั่งยืน มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่อพยพย้ายถิ่นฐานไปหางานทำนอกพื้นที่ ที่สำคัญจะได้พ้นกับดักรายได้ปานกลางซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของประเทศ” รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว