"สทนช."ลงพื้นที่อีสานล่างชงแผนด่วน เล็งดึงน้ำจากเหมืองหินเก่าผลิตน้ำประปา จ.บุรีรัมย์ลดวิกฤติขาดน้ำกินน้ำใช้ พร้อมเร่งแผนระยะกลางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนแม่บทน้ำฯ และงบกลาง เร่งสร้างอ่างฯ ปรับปรุงปตร. ขยายระบบประปา ขุดลอกเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บให้เห็นผลก่อนสิ้นฝน เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (15 ก.ค.62) นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประชุมหารือร่วมกับนายธีรวัฒน์ วุฒิคุณ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมด้วยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 3 และเลขานุการลุ่มน้ำมูล ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ณ ศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อหารือกับทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ประเมินสถานการณ์ฝน สถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อกำหนดแนวทางมาตรการ แผนปฏิบัติการอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ที่ต้องเตรียมแผนรองรับในการหาแหล่งน้ำสำรองให้กับประชาชน พร้อมบูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้องไม่ให้ผลกระทบแล้งในช่วงฤดูฝนขยายวงกว้าง เพื่อสรุปรายงานต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) นายสำเริง เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ฝนน้อยกว่าเกณฑ์ปกติที่เกิดขึ้น และอาจจะเกิดสถานการณ์แห้งแล้งรุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดยได้กำชับทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์ และให้ความช่วยเหลือให้ประชาชนได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด โดยสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือขณะนี้ พบว่า มีปริมาณน้ำภาพรวมคิดเป็นทั้งสิ้น 4,344 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 33% โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่เฝ้าระวังน้ำน้อยกว่า 30% จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ 28% เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ 27% เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น 24% เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ 23% เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี 23% เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร 21% เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา 15% ขณะที่แหล่งน้ำขนาดกลางปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% จำนวน 97 แห่ง ขณะที่ปริมาณฝนสะสม 15 วัน น้อยกว่า 30 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่ามีปริมาณฝนตกน้อยมีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำและสถานการณ์แล้งใน 105 อำเภอ 12 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำพู กาฬสินธุ์ ยโสธร ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และนครราชสีมา สำหรับแผนเร่งด่วนที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานเจ้าภาพเร่งรัดดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมทั้งการปฏิบัติการฝนหลวง การเชื่อมต่อและหาแหล่งน้ำที่มีในบริเวณใกล้เคียง การใช้น้ำบาดาล หาแหล่งน้ำสำรอง ที่มีความเสี่ยงขาดอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะจ.สุรินทร์ และ จ.บุรีรัมย์ ที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำประปา การเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ รถบรรทุกน้ำ รวมถึงได้แจ้งให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการบริหารจัดการสำรวจความเสียหายด้านเกษตร และการวางแผนการปลูกพืชฤดูแล้งนี้เป็นการล่วงหน้าด้วย ขณะเดียวกัน สทนช.ยังได้เร่งรัดแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2562 ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล ซึ่งมีทั้งสิ้น 1,045 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 45,665 ไร่ อาทิ โครงการประตูระบายน้ำหาดแสงจันทร์ จ.นครราชสีมา โครงการฝายบ้านก้านเหลือง จ.บุรีรัมย์ โครงการปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาศรีสะเกษ เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงแผนการขุดลอกอ่างและแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อรองรับปริมาณน้ำในฤดูฝน ตามที่ สทนช. ได้เสนอ ครม.อนุมัติงบกลาง 1,200 กว่าล้านบาท 144 โครงการนั้น เป็นโครงการในลุ่มน้ำมูลพื้นที่ จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ รวม 23 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 17,810 ไร่ ปริมาณน้ำ 6 ล้าน ลบ.ม. โดยมีโครงการสำคัญ อาทิ ขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยซันโพรง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมอาคารประกอบ จ.นครราชสีมา การเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก จ.บุรีรัมย์ และขุดลอกหนองสะหนุน จ.ศรีสะเกษ รวมถึงแผนการสร้างอ่างฯ ประตูระบายน้ำ ขุดลอกแหล่งเก็บน้ำ ในปี 63-65 ในพื้นที่ 5 จังหวัด รวม 2,105 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 56,804 ไร่ ปริมาณน้ำ 66 ล้าน ลบ.ม. อาทิ โครงการประตูระบายน้ำบ้านท่าม่วง จังหวัดบุรีรัมย์ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำกุดตลาดยาว (พื้นที่แก้มลิง) จังหวัดบุรีรัมย์ ขุดลอกหนองน้ำไดตาเจก จังหวัดสุรินทร์ เป็นต้น สำหรับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคที่เกิดขึ้นในจังหวัดบุรีรัมย์ เร่งด่วนในระยะสั้นมี 4 มาตรการ ได้แก่ 1.การประปาส่วนภูมิภาคได้จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ผลิต ซึ่งปัจจุบันได้ใช้มาตรการลดแรงดันน้ำในช่วงกลางคืนเพื่อยืดเวลาการใช้น้ำให้ได้ประมาณ 2 เดือน 2. ชลประทานบุรีรัมย์จะทำการเปิดทางน้ำภายในอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด เพื่อนำน้ำที่มีปริมาณประมาณ 4 แสน ลบ.ม. ให้ไหลเข้าบริเวณโรงสูบของการประปาโดยตรง 3. การนำน้ำจากเหมืองหินเก่า ซึ่งเป็นที่ของเอกชนมาใช้เพิ่มเติมในระบบของประปา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทานจะบูรณาการร่วมกันและจัดหาเครื่องสูบน้ำเข้ามาดำเนินการเพื่อเป็นแผนสำรองให้มีน้ำประปาได้ถึง 50 วัน 4. มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดทำแผนเร่งด่วนในการเจาะบ่อน้ำบาดาล บริเวณรอบอ่างทั้งสองแห่งด้วย “พื้นที่ภาคอีสานตอนล่างปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ พายุมูนที่ผ่านมาส่วนใหญ่ฝนไปตกบริเวณชายขอบภาคเท่านั้น ซึ่งในระยะ 1-2 วันนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าแนวโน้มฝนดีขึ้นแต่ไม่มากนัก ดังนั้น ทุกหน่วยงาน ต้องติดตามการคาดการณ์สภาพฝนจากกรมอุตุฯอย่างใกล้ชิดด้วย เพื่อเร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ และประเมินผลกระทบต่อเนื่องด้วย โดยเฉพาะความเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร รวมถึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนงานโครงการระยะกลาง และระยะยาว เสนอมายัง สทนช. เพื่อเสนอ กนช.ให้ความเห็นชอบอนุมัติแผนงาน โครงการงบปประมาณต่อไป”นายสำเริง กล่าว