ความคืบหน้าการแก้ปัญหาปลาซักเกอร์หรือปลาเทศบาล ขนาดลำตัวเฉลี่ยประมาณ 1 ฟุต รวมน้ำหนักกว่า 200 กิโลกรัม ลอยตายเกยตื้นอยู่ช่วงลำตะคองคดเคี้ยวและตื้นเขิน บริเวณเส้นทางคลองน้ำธรรมชาติไหลผ่านละแวกชุมชนมิตรภาพ ซอย 4 เขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์โดยมีกลิ่นเหม็นคละคลุ้งและพบฝูงแมลงวันจำนวนมากบินเกาะกินซากปลาที่กำลังเน่าเปื่อย นอกจากนี้ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนที่มีบ้านพักอาศัยและที่ทำกินสองฝั่งลำตะคอง หวั่นประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเหมือนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กค. 2555 หรือ 7 ปีที่ผ่านมา โรงงานผลิตน้ำแข็งหลอดที่ตั้งอยู่ข้างโรงพยาบาลราชสีมา กรุงเทพ ได้ลักลอบปล่อยสารแอมโมเนียลงลำตะคอง ทำให้น้ำมีค่าความเป็นกรดด่างสูงและสารแอมโมเนียมีคุณสมบัติไม่เสถียรดึงออกซิเจนในน้ำ ทำให้ออกซิเจนลดต่ำอย่างรวดเร็ว เป็นสาเหตุให้ปลานับหมื่นตัวที่อาศัยอยู่ในคลองน้ำธรรมชาติตั้งแต่ด้านหลังศูนย์การค้าเดอะมอลล์นครราชสีมาถึงหมู่บ้านวีไอพี เป็นระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร ตายเฉียบพลัน เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ ( 15 ก.ค.62) เจ้าหน้าที่กลุ่มงานสุขาภิบาล ทน.นครราชสีมา ได้ลงพื้นที่ปรับภูมิทัศน์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อม โดยเก็บซากปลาซึ่งส่วนใหญ่ถูกย่อยสลายไปตามกระแสน้ำ รวมทั้งกำจัดเศษขยะมูลฝอย วัชพืชที่กีดขวางทางน้ำ ซึ่งมีกระแสน้ำไหลมากกว่าปกติ นอกจากนี้ได้สอบถามหาสาเหตุการตายจำนวนมากของปลาซักเกอร์ ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ กินอาหารไม่เลือกโดยใช้วิธีดูด คนไทยนิยมนำปลาซักเกอร์มาเลี้ยงในตู้ปลาสวยงาม เพื่อให้ทำความสะอาดดูดตะไคร่น้ำ ต่อมาเมื่อปลาตัวใหญ่มาก กินอาหารไม่พอ เริ่มไล่ดูดปลาอื่น จึงถูกนำมาปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีอาหารสมบูรณ์ ทำให้เติบโตและแพร่พันธุ์เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นปลาอึดและทนกับสภาพแวดล้อมสามารถอยู่ได้ทุกลุ่มน้ำ ซึ่งยังเป็นปริศนาที่พบปลาซักเกอร์ตายจำนวนมาก สันนิษฐานเบื้องต้นไม่น่าเป็นการสิ้นอายุขัยและตายจากสภาพแวดล้อม จากการสังเกตแม้นลำตะคองตอนล่าง จะมีความเสื่อมโทรมระดับ 5 ซึ่งใช้ประโยชน์ได้เฉพาะการคมนาคมทางน้ำเท่านั้น ก็ยังพบเห็นสัตว์น้ำจืดชนิดอื่นๆ สามารถอาศัยอยู่ในน้ำได้แต่ต้องขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำมากกว่าปกติ ล่าสุดเจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 นครราชสีมา ได้ลงพื้นที่สืบสวนและเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ นายชยุธพงศ์ อำรุงสุข ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง เปิดเผยว่า แนวทางเยียวยา ฟื้นฟูลำตะคองตอนล่าง ได้เพิ่มปริมาณการระบายน้ำเดิมวินาทีละ 5 ลบ.เมตร เป็น 8 ลบ.เมตร โดยปรับยกบานประตูระบายน้ำ (ปตร.) คนชุม ต.ปรุใหญ่ อ.เมือง เพื่อสนับสนุนการประปาท้องถิ่นและการปลูกข้าวนาปีรวมทั้งฟื้นฟูระบบนิเวศน์ลำตะคองช่วงตอนล่าง