จากกรณีกลุ่มเกษตรกร ตำบลหนองโสน และตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร กว่า 130 คน เดินทางมายังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อขอให้เพิ่มระดับการส่งน้ำไปให้ถึงพื้นที่ปลายคลอง เนื่องจากนาข้าวหลายพันไร่ในพื้นที่ตำบลหนองโสน และตำบลเนินปอ กำลังขาดน้ำจากสภาวะฝนตกน้อย ประกอบกับโครงการชลประทานกำแพงเพชร ส่งน้ำมาไม่ถึงเนื่องจากมีการดึงน้ำจากต้นทางไปใช้จนหมด นั้น เมื่อวันที่ 14 ก.ค.62 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พื้นที่ตำบลหนองโสน และตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร เป็นพื้นที่รับน้ำที่อยู่บริเวณปลายคลองวังบัว ซึ่งอยู่ไกลจากปากคลองที่รับน้ำจากแม่น้ำปิงมากถึง 120 กิโลเมตร ที่สำคัญเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกแผนการส่งน้ำฤดูฝนปี 2562 แม้ว่าปัจจุบันจะได้มีการจัดตั้งเป็นโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 แล้วก็ตาม แต่การผนวกเข้าเป็นพื้นที่ชลประทาน จะได้รับการจัดสรรโควตาน้ำในปี 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวปัจจุบันรับน้ำจากท่อระบายน้ำ (ทรบ.)ปากคลองส่งน้ำวังบัว ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุง ทรบ.ปากคลองใหม่ ทำให้ไม่สามารถส่งน้ำเข้าพื้นที่ได้ เบื้องต้นกรมชลประทานได้ทำการผันน้ำจากแม่น้ำปิง ในเขตพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ในอัตรา 40 ลบ.ม./วินาที เพื่อส่งน้ำเข้าพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง โครงการส่งน้ำและบำรุงวังบัว และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังยาง-หนองขวัญ แต่เนื่องจากโครงการฯวังบัว ต้องรอรับน้ำที่ถูกแบ่งและส่งผ่านมาจากโครงการฯท่อทองแดง ซึ่งในระหว่างทางจะต้องไหลผ่านพื้นที่ชลประทานในเขตจังหวัดกำแพงเพชรกว่า 4 แสนไร่ ทำให้น้ำไม่สามารถส่งไปถึงพื้นที่ปลายคลองที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำได้ ประกอบกับปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลอยู่ในเกณฑ์น้อย อีกทั้ง กรมชลประทานมีนโยบายเก็บกักน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ และการเกษตรตามลำดับ ให้เพียงพอจนถึงฤดูฝนปีหน้า ปัจจุบันได้รับน้ำจากแม่น้ำปิงในอัตรา 50 ลบ.ม./วินาที เพื่อส่งน้ำให้ไปถึงพื้นที่ตำบลหนองโสน และตำบล-เนินปอ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ซึ่งอยู่ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรักษาวังบัว พร้อมกับขอรับการสนับสนุนปริมาณน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร มายังพื้นที่ดังกล่าวอีกทางหนึ่งด้วย คาดว่าปริมาณน้ำที่รับเพิ่มมากขึ้นจะไหลไปถึงพื้นที่เป้าหมายภายใน 1-2 วันนี้ สำหรับพื้นที่ที่เพาะปลูกพืชในช่วงฤดูฝน ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก และจะส่งน้ำชลประทานเสริมในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอเท่านั้น จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย