วันที่ 14 ก.ค.นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า... “คุณอุตตมควรเปิดเผยหลักฐานในมือ”มีผู้อ่านเฟซบุ๊คของผม ส่งเบาะแสหลักฐานเอกสารในเรื่องต่างๆ มาให้ผมเป็นประจำ เพื่อตรวจสอบและร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ รวมถึงที่เอกสารเหล่านี้ ที่อ้างว่าเป็นกรณีของคุณอุตตมผมนำบางส่วนมาเผยแพร่ เพื่อวิเคราะห์เชิงวิชาการตามข้อมูลเท่าที่ปรากฏ ให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่เนื่องจากเป็นเบาะแสจากภาคประชาชน ผมจึงไม่สามารถยืนยันได้ รูปที่ 1 และ 2 เป็นคำเบิกความต่อศาล ของคุณอุตตม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ของศาลมีข้อความระบุในแผ่นที่ 6 ว่า “ข้าฯ ตัดสินใจไม่อนุมัติสินเชื่อรายนี้ในครั้งนี้” รูปที่ 3 อ้างว่าแสดงรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2546 ซึ่งมีกรรมการบริหารครบทั้ง 5 คน รวมถึงคุณอุตตม รูปที่ 4 อ้างว่าในวาระ “เรื่อง บริษัท โกลเด้น ...” มีข้อความ วรรคสอง ว่า“ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า ความเสี่ยงและความเป็นไปได้ของโครงการตามเกณฑ์มาตรฐานของธนาคารแล้ว สามารถสนับสนุนวงเงินสินเชื่อแก่บริษัทฯ ได้” รูปที่ 5 อ้างว่า ที่ประชุมซึ่งมีคุณอุตตมร่วมด้วยนั้น มีมติที่ประชุม ‘อนุมัติ’ รูปที่ 6 อ้างว่าเป็นลายเซ็นของคุณอุตตมผมเองไม่เคยเห็นลายเซ็นของคุณอุตตม แต่เนื่องจากท่านจะเข้าดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง ประชาชนก็จะได้เห็นลายเซ็นของท่านบนธนบัตรในอนาคตปัญหามีอยู่ว่า กรณีธ.กรุงไทยนั้น คณะกรรมการเคยมีมติว่า การอนุมัติสินเชื่อโดยคณะกรรมการบริหาร ต้องเป็นมติเอกฉันท์เท่านั้น ถ้ามีกรรมการแม้แต่คนหนึ่ง ตัดสินใจไม่อนุมัติ คำขอสินเชื่อก็จะตกไปหรือถ้ามีกรรมการแม้แต่คนหนึ่ง ตั้งประเด็นคำถามแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ ซึ่งฝ่ายสินเชื่อยังไม่สามารถเคลียร์ได้ การอนุมัติก็ต้องเลื่อนออกไปก่อนแต่ข้อความที่คุณอุตตม ระบุว่าท่าน ‘ตัดสินใจไม่อนุมัติสินเชื่อรายนี้ในครั้งนี้’ นั้น ผมไม่เห็นว่าปรากฏที่ใดในรายงานการประชุม (ตามเอกสารที่มีผู้ส่งมาและอ้างว่าเป็นการประชุมครั้งนั้น) ดังนั้น ถ้าเอกสารรูปต่างๆ นี้ถูกต้อง ก็จะแสดงว่าคุณอุตตม น่าจะมีเอกสารหลักฐานอื่น ที่บ่งชี้ และสนับสนุนข้ออ้าง ซึ่งหักล้างสิ่งที่ปรากฏในเอกสารข้างต้นได้ ทั้งนี้ ในเรื่องเกี่ยวกับการอนุมัติสินเชื่อแบงค์นั้น จะต้องอ้างอิงพยานเอกสารเป็นหลัก ไม่สามารถจะใช้คำบอกเล่าลอยๆ เพราะผู้ที่กระทำผิดสามารถจะพูดแก้ตัวใดๆ ก็ได้ และถ้ากรรมการผู้ใดมีข้อสังเกต หรือคัดค้าน หรือไม่อนุมัติ กรรมการผู้นั้นจำต้องขอให้มีการบันทึกคำคัดค้านหรือข้อสังเกตไว้ในรายงานการประชุม นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งถัดไป ที่ประชุมก็จะต้องพิจารณารับรองรายงานการประชุมครั้งก่อนหน้า กรณีกรรมการผู้ใดเห็นว่า รายงานการประชุมครั้งก่อนหน้าไม่ถูกต้อง ก็จะต้องไม่รับรอง หรือกรณีกรรมการผู้ใดถึงแม้ไม่ได้เข้าประชุมครั้งถัดไป ก็ย่อมจะต้องได้รับเอกสาร และสามารถมีหนังสือคัดค้านเป็นหลักฐานไว้ได้ รูป 7 เป็นคำพิพากษา ส่วนที่วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผิดตามฟ้องหรือไม่ รูป 8 คำพิพากษาระบุว่า ในการกระทำความผิดนั้น ผู้กระทำคือ คณะกรรมการบริหาร ซึ่งคำว่า ‘คณะ’ ย่อมหมายถึง ครบทั้ง 5 คน เพราะถ้าหากไม่ครบ 5 คน ย่อมไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อได้และศาลระบุเหตุผลประกอบในการลงโทษว่า เนื่องจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นคณะกรรมการบริหารผมจึงมีความเห็นทางวิชาการว่า หลักฐานที่ปรากฏตามคำพิพากษานี้ อาจจะมีผลทำให้คุณอุตตมขาดคุณสมบัติ หรือไม่? ส่วนกรณีถ้าหากเหตุผลที่ไม่มีการดำเนินคดีคุณอุตตม เกิดขึ้นจากให้การเป็นประโยชน์ ในลักษณะที่ทางราชการไม่สามารถหาข้อมูลนี้ได้จากแหล่งอื่น ก็ควรชี้แจงว่า มีการให้การเป็นประโยชน์อย่างใด อนึ่ง ผู้ที่จะถูกกันเป็นพยานได้นั้น ก็จะต้องอยู่ในเหตุการณ์ และอาจเป็นผู้ร่วมกระทำผิด ซึ่งตามระเบียบพิธีปฏิบัติ ก็จะต้องมีการกล่าวหาเสียก่อน แล้วอัยการค่อยสั่งไม่ฟ้องทีหลัง แต่เท่าที่ดูคำเบิกความต่อศาล ผมก็ไม่เห็นว่ามีประเด็นที่เป็นประโยชน์ตรงจุดไหน ไม่เห็นมีอะไรที่ก้าวล่วงไปถึง Big boss รวมทั้งกรณีหากถูกกันเป็นพยาน ในฐานะเป็นผู้ร่วมกระทำผิด ก็จะทำให้ขาดคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรีโดยอัตโนมัติอีกด้วย ทั้งนี้ ผมไม่ยืนยันว่ามีผู้ใดกระทำผิด โดยเฉพาะบริษัทเอกชน แต่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจ และบางรายอาจมีข้อเคลือบแคลงดังนั้น เพื่อความสง่างาม ผมจึงขอแนะนำให้คุณอุตตม เร่งเปิดเผยหลักฐานในมือ ที่โต้แย้งข้อมูลข้างต้น เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน แก่รัฐสภา และแก่ท่านนายกรัฐมนตรีต่อไปรวมทั้งยืนยันหรือปฏิเสธข้อมูลเกี่ยวกับความถูกต้องครบถ้วนของเบาะแสต่างๆ รวมไปถึงการเบิกความต่อศาล ว่าตรงกับข้อเท็จจริงอย่างไร ทั้งนี้ หากท่านประสงค์จะให้ สภาที่ 3 จัดเวทีเพื่อถกเถียงเรื่องนี้อีก ก็ยินดีครับ