“กสม.”จัดงานสถาปนาครบ 18 ปี “วัส ติงสมิตร” ตีปี๊บเคลียร์เรื่องร้องเรียนแล้ว 82% หวังสร้างสังคมตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชน เปรียบเป็นยุคพระศรีอาริย์ วันที่ 12 ก.ค.62 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดงานวันสถาปนาองค์กรคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ครบรอบ 18 ปี โดยในช่วงเช้ามีพิธีสักการะศาลพระพรหมประจำศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ และมีการจัดพิธีสงฆ์ โดยมีผู้แทนหน่วยงานและองค์กรต่างๆเข้าร่วมแสดงความยินดีอย่างคับคั่ง จากนั้นนายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. ได้กล่าวบรรยาย หัวข้อ “สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับบทบาทในการร่วมพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า กสม.ชุดปัจจุบันทำงานมาแล้ว 4 ปีเศษเกือบ 5 ปีแล้ว โดยการทำงานที่ผ่านมา มีการรับเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้ว 2,200 เรื่อง โดยดำเนินการแล้วเสร็จและออกรายงานแล้ว คิดเป็นร้อยละ 82 ของเรื่องทั้งหมด ทั้งนี่ที่ผ่านมา กสม.ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน การผลักดันเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังมียุทธศาสตร์ในการทำงานระหว่างปี 2560-2565 รวม 5 ด้าน คือ 1.ส่งเสริมและติดตามให้ทุกภาคส่วนในสังคมเกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนตามที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 2.เน้นการดำเนินงานที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน 3.มุ่งการทำงานร่วมกับเครือข่ายภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน 4.ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชน สื่อสารเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศไทยต่อสาธารณะชนอย่างถูกต้องและทั่วถึง และ 5.ส่งเสริมและพัฒนากระบวนการทำงานโดยยึดคุณธรรมและความโปร่งใส ประธาน กสม. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กสม.ถูกมองว่าเป็นยักษ์ที่ไม่มีกระบอง แต่เชื่อว่าหากเราทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และได้รับการยอมรับจากสังคม หากเกิดเหตุการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนขึ้นคนในสังคมก็จะรอฟังท่าทีจาก กสม. แต่ที่ผ่านมาการทำงานของ กสม. โดยเฉพาะการออกรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าใดนัก เพราะขาดเหตุผลที่น่าเชื่อถือ หรือบางครั้งมีคนเข้าใจผิดว่า กสม.เป็นองค์กรเอ็นจีโอ ทั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐ อย่างไรก็ตามจุดมุ่งหมายของ กสม.คือสร้างจิตสำนึกให้คนในสังคมทุกคนคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งหากทำได้ตามเป้าหมายดังกล่าว ทุกคนจะรู้ว่าควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไร ซึ่งก็จะเปรียบเหมือนยุคพระศรีอาริย์