นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า อภ.ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ที่เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีในรูปแบบยาเตรียมที่ทันสมัย ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายที่ใช้งานง่าย มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับโรคต่างๆ มากขึ้น ซึ่งขณะนี้การสกัดสารสกัดกัญชา สามารถผลิตน้ำมันกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้นเพิ่มขึ้นจาก ประมาณ 2,500 ขวด เป็นประมาณ 10,000 ขวด โดยในปลายเดือนก.ค.และส.ค.นี้ จะเริ่มทยอยกระจายผ่านกรมการแพทย์ สู่โรงพยาบาลที่เปิดให้บริการใช้สารสกัดกัญชารักษาผู้ป่วย ในรูปแบบการวิจัยแบบเฉพาะรายผ่านช่องทางพิเศษ หรือ SAS และการรักษาผู้ป่วยแบบวิจัยเชิงลึกครบทุกกระบวนการวิจัย รวมถึงการรักษาในรูปแบบอื่นกับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้สารสกัดกัญชาตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยแพทย์ผู้รักษาและเภสัชกรผู้สั่งจ่ายยา และโรงพยาบาลที่ได้รับการอนุญาตจาก อย. นพ.วิฑูรย์กล่าวว่า ขอย้ำว่าการนำสารสกัดกัญชามาใช้ทางการแพทย์นั้นจะไม่ใช่ทางเลือกแรก ในการรักษา และใช้เมื่อรักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่ได้ผลแล้วเท่านั้น โดยสารสกัดน้ำมันกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้น องค์การฯทำการผลิต เป็น 3 สูตร คือ สูตรที่ 1 คือ THC สูงกว่า CBD สูตรที่ 2 คือ CBD สูงกว่า THC และสูตรที่ 3 คือ สัดส่วน THC และ CBD 1 ต่อ 1  ผลิตโดยยึดหลักต้องปลอดภัย(Safety) ทุกขวดที่สกัดออกมาต้องมีสารมีฤทธิ์ของยาที่ใกล้เคียงกันหมด(Consistency) และ ต้องมีประสิทธิภาพ (Efficacy)  โดยหลังจากทำการเก็บเกี่ยวดอกกัญชา 140 ต้น ล็อตแรกหมดแล้ว องค์การฯจะทำความสะอาดพื้นที่เพื่อทำการปลูกในล็อตที่ 2 ต่อไปทันที โดยคาดว่า      จะได้สารสกัดกัญชาล็อตที่ 2 ประมาณปลายปีนี้ ส่วนระยะที่ 2  เป็นในระดับกึ่งอุตสาหกรรม จะขยายพื้นที่ปลูกเป็นแบบ Indoor และแบบ Greenhouse พร้อมปรับปรุงสายพันธุ์ทั้งพันธุ์ไทยและพันธ์ลูกผสม ให้ได้สารสำคัญที่เหมาะสม และสามารถปลูกในสภาพอากาศของไทยได้ ซึ่งจะสามารถเพิ่มผลผลิตเป็น 150,000 – 200,000 ขวด คาดว่าจะปลูกได้ในต้นปี 2563 ผอ.อภ. กล่าวว่า  ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นในครั้งนี้ เพื่อวิจัยและพัฒนา ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชารูปแบบต่างๆนอกเหนือจากชนิดหยดใต้ลิ้น ให้หลากหลาย ใช้งานง่าย  มีประสิทธิภาพการรักษาและเหมาะสมกับโรคต่างๆ ยิ่งขึ้น  โดยใช้เทคโนโลยีเภสัชกรรม เน้นให้ประชาชนได้ใช้ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาเมดิคัลเกรดที่ดีมีคุณภาพ ราคาที่เข้าถึงได้ ด้าน รศ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากความร่วมมือในครั้งนี้ คาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์กัญชาและสมุนไพรอื่นๆที่เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีในรูปแบบยาเตรียมที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น ยาเหน็บทวารหนัก แผ่นแปะซึมผ่านผิวหนัง และแผ่นฟิล์มเกาะติดเนื้อเยื่อในช่องปาก ซึ่งหากได้วัตถุดิบกัญชามาจากองค์การฯแล้ว ก็สามารถวิจัยต่อได้ทันที ซึ่งเป็นการเพิ่มรูปแบบผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น น้ำมัน สเปรย์ และแคปซูลสารสกัดกัญชา และหากมีความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องก็จะผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จากกัญชาในรูปแบบอื่นๆต่อไป และสามารถนำผลิตภัณฑ์กัญชามาทดสอบใช้กับผู้ป่วย Palliative Care หรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย ในศูนย์การุณรักษ์  คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่นอีกด้วย  ทั้งนี้ประเทศไทยจะได้มีผลิตภัณฑ์จากกัญชาที่มีคุณภาพที่หลากหลายยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้ยาในราคาที่ถูกลง