“บิ๊กตู่”ตรวจศูนย์ข้อมูลน้ำ เร่งบูรณาการ ฝนแล้ง น้ำท่วม ภัยพิบัติ ย้ำการประชาสัมพันธ์ปชช. เหตุด่วนต้องแจ้งรวดเร็ว บอกมั่นใจการทำงานทีม “รอยล” เมื่อเวลา 10.45 น.วันที่ 3 ก.พ. ที่กรมทรัพยากรน้ำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางมาตรวจเยี่ยมและติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของศูนย์เมขลา และติดตามการดำเนินการหลังการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติเพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำที่เป็นเอกภาพและเป็นทิศทางเดียวกัน ภายหลังตรวจเยี่ยมนายกฯให้สัมภาษณ์ว่า ศูนย์เมขลามีความสำคัญต่อประเทศ ที่จะต้องบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ เนื่องจากประเทศไทยมีกลุ่มผู้ใช้น้ำหลายประเภท ทั้งการอุปโภค บริโภค การเกษตร และภาคอุตสาหกรรม เราจึงจำเป็นต้องปรับปรุงบริหารจัดการใหม่ใน 25 ลุ่มน้ำ และในส่วนของพื้นที่เขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้ศูนย์เมขลาเป็นศูนย์ระดับชาติ รวบรวมข้อมูลน้ำทั้งหมด โดยเชื่อมโยงกับศูนย์ของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทุกอย่างอยู่ในแผนงานและมอบหมายงานให้แต่ละกระทรวงแล้ว เพื่อบริหารข้อมูลให้เป็นข้อมูลเดียว และให้ทุกหน่วยงานนำไปปฏิบัติได้ อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์ พร้อมทั้งดูว่ามีต้นน้ำอยู่ที่ใดบ้าง จะสามารถกักเก็บน้ำได้อย่างไร รวมถึงดูแลระบบส่งน้ำกระจายน้ำ และดูแล้วช่วงฤดูฝนและหน้าแล้งไปด้วย เพื่อตอบสนองกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งหมดให้ได้ โดยรัฐบาลได้ทำแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาวมา 2 ปีครึ่งแล้ว ซึ่งในช่วงที่รัฐบาลยังอยู่ก็สามารถเดินตามแผนได้ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็สามารถปรับแผนได้ แต่ตนจะวางอนาคตไว้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้รัฐบาลมีแผนบริหารราชการแบบภูมิภาค โดยเพิ่มอีก 2 ภูมิภาคคือภาคตะวันออก และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อใช้ในการจัดกลุ่มการใช้งบประมาณ ทั้งนี้เพราะแต่ละภูมิภาคมีทรัพยากรต่างกัน จึงต้องปรับเปลี่ยนให้ตรงกับสถานการณ์ ไม่เช่นนั้นก็จะทะเลาะกันตั้งแต่เริ่มเพาะปลูก “ผมอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการคิด การใช้ประโยชน์จากทรัพยากร โดยรัฐบาลจะนำร่องไปก่อน ที่ผ่านมาเราขาดการทำความเข้าใจกันมานาน ทุกคนมองแต่ความต้องการของตัวเองโดยไม่นึกถึงคนอื่น ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำมาตลอด การทำงานต้องบูรณาการร่วมกันถึงจะทำงานออกมาได้โดยไม่ขัดแย้งกัน ขอให้ประชาชนมีความเข้าใจ มันไม่ได้ทั้งหมดหรอก แต่มันต้องทั่วถึง ที่สำคัญอุตสาหกรรมทุกประเภทใช้น้ำกันทั้งหมด จึงอยากให้เข้าใจว่ารัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังทำให้คนเดือดร้อน แต่ต้องกลับเข้าสู่ระเบียบให้ได้ เช่น เรื่องผังเมือง เราไม่ได้ควบคุมมาตั้งแต่แรก ประเทศจึงต้องปรับเปลี่ยนทั้งหมด ไม่เช่นนั้นจะเดินไปข้างหน้าไม่ได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว ต่อมาเวลา 11.00 น. ที่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางตรวจความพร้อมของคลังน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ โดยมีนายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ให้การต้อนรับ พร้อมนำเยี่ยมชมการทำงาน และ บรรยายสรุป สำหรับคลังน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ เกิดขึ้นจากความห่วงใยสถานการณ์น้ำของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ปี 2539 จึงเกิดความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งในและต่างประเทศ โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวระหว่างรับฟังรายงาน ว่า ต้องช่วยกันสร้างกระบวนการเรียนรู้ ว่าจะใช้น้ำอย่างไร รวมถึงการเตรียมรับมือภัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งวันนี้เรามีหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้ทั้งหมดแล้ว และตนดีใจที่มีเครื่องมือการพัฒนาพอที่จะขยับขยายได้ ขณะเดียวกัน มีหลายหน่วยงานอยากให้เราเป็นศูนย์ขยายผลให้กับอาเซียนทั้งหมด ซึ่งเหมือนสิ่งที่ตนเคยบอกไปว่าเราต้องทำเพื่อประเทศ และทำเพื่ออาเซียน นายกฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ต้องทำอุปกรณ์ที่มีให้เกิดความคุ้มค่า ซึ่งเรื่องนี้ตนไม่ห่วงเรื่องเทคนิค แต่เรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ถือว่าเป็นเรื่องของชาติ เพราะเสมือนต้องทำนายล่วงหน้า ขณะเดียวกันสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านรับสั่งว่า เราจะต้องบริหารงานจากข้อเท็จจริง และข้อมูลทางเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งจากนี้ต้องมีการบูรณาการใน 3 เรื่อง คือ ฝนแล้ง น้ำท่วม และภัยพิบัติ โดยเฉพาะน้ำท่วมที่ต้องแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด ซึ่งตนอยากได้ข้อมูลในทางปฏิบัติมากกว่าข้อมูลในเชิงวิชาการอย่างเดียว ทั้งนี้การทำงานจะต้องไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน แต่ขอให้บูรณาการข้อมูล โดยให้วิเคราะห์ข้อมูลไปถึงผู้ใช้งานได้อย่างครบถ้วน และขอให้สร้างการรับรู้ ให้ทั่วถึง รวมถึงสามารถตอบคำถามได้ทั้งในยามภาวะปกติ และในยามที่เกิดอุทุกภัย หน่วยงานภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือและรับมืออย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง อีกทั้งประชาชนจะได้มีการเตรียมตัวในการรับมือ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตนมั่นใจ ในการทำงานนายรอยล และคณะทำงานทุกคน เพียงแต่ต้องการให้การแก้ปัญหาดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้ขอย้ำอีกครั้งว่าให้ไปเร่งประชาสัมพันธ์ว่าวันที่ 3-4 ก.พ. จะมีประมาณน้ำที่สูง โดยเฉพาะที่ จ.นครศรีธรรมราช