ผลสรุปนิด้าโพลพบว่ามีคนอยากไปเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นรวมร้อยละ 76.95 ที่ไม่อยากไปเพียงร้อยละ 20.66 เป็นตัวเลขที่น่าสนใจ แสดงให้เห็นว่าต้องมีผลมากต่อการพัฒนาท้องถิ่นสูง เพราะปกติในการเลือกตั้งมักมีข้อต่อรองทางการเมืองกัน การอยากให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นมาก แน่นอนว่าการต่อรองทางการเมืองในระดับชาติที่ลงตัวยาก กำลังเคลื่อนย้ายกันไปต่อรองในระดับท้องถิ่น เป็นการวิเคราะห์การเมืองท้องถิ่นที่ค่อนข้างยาก การมองการเมืองท้องถิ่นนอกจากมองในระดับมหภาคแล้ว ยังต้องมองไปที่จุดเล็ก ๆ ด้วย ความแตกต่างระหว่าง อปท.เล็ก ๆ กับ อปท. ใหญ่ ในเขตเมืองย่อมมีบริบทที่แตกต่างกันมากในตัวของมันเอง ดังนั้นการเลือกตั้งท้องถิ่นย่อมแตกต่างกันระหว่าง อปท.ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ อปท.ในชนบท กับ อปท. ในเมือง อปท. ระดับบน กับ อปท.ระดับล่างรวมทั้งแตกต่างจาก อปท. เมืองพิเศษ เช่น กทม. และ เมืองพัทยา แต่นั่นก็เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นของการเมืองท้องถิ่นเพราะท้องถิ่นมีวัฒนธรรมขององค์กร (Organization Culture) ที่เป็นของตัวเองค่อนข้างสูง โดยเฉพาะท้องถิ่นที่ยังมีความเป็น“ชนบทหรือกึ่งเมืองกึ่งชนบท” ที่มีจำนวนมากเกินกว่าร้อยละ50 ของ อปท.ทั่วประเทศ จากประสบการณ์ของท้องถิ่นที่เริ่มตั้งไข่จากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เกิด “องค์การบริหารส่วนตำบล” (อบต.) พ.ศ. 2537 และ การยกฐานะ “สุขาภิบาล” เป็น “เทศบาลฯ” (ตำบล) พ.ศ. 2542 พัฒนาการท้องถิ่นเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ก้าวกระโดด มีการยื้ออำนาจการถ่ายโอนภารกิจและ การควบคุมกำกับดูแลมาตลอดถึงปัจจุบันรวม 20-25 ปีหากนับจากกฎหมายกระจายอำนาจปี 2543 ที่มี “แผนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.” ในปี 2544 รวม 18 ปี หากเป็นคนก็ถือว่าเป็นวัย “หนุ่มสาว” นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงการจัดการเลือกตั้งใหม่ในปี 2546 รวม 15 ปี จากกระทรวงมหาดไทยมาให้“คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) ดูแลการเลือกตั้งท้องถิ่นที่มองเห็นความล้มลุกคลุกคลานของท้องถิ่นได้ สับสนมากกับวันเวลาแห่งการรอคอย(การเลือกตั้ง) ข่าวการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ค่อนข้างสับสนและไม่แน่นอนแม้ ณ เวลาที่เขียนบทความฉบับนี้ คนท้องถิ่นเริ่มขาดความเชื่อมั่น เพราะผู้มีอำนาจในการกำหนดว่าให้มีการเลือกตั้ง อปท. ได้ก็คือ (1) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือ (2) คณะรัฐมนตรี (ครม.) เท่านั้นแม้ข่าวการเลือกตั้งท้องถิ่นมีมีเบาะแสค่อนข้างเชื่อจะมีมาตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2562 แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ร่วมสามเดือนแล้ว ยังไม่มีวี่แววใด ๆ ที่ชัดเจนจากผู้มีอำนาจดังกล่าวว่าจะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น แม้ข่าวเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2562 กกต. ให้ข่าว่าต้องให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้เสนอกำหนดวันเลือกตั้ง แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ข่าวว่าต้องให้ คสช.เป็นผู้พิจารณา ทั้ง ๆ ที่ คสช.กำลังจะหมดอายุ เพราะหากมี ครม.เมื่อใด คสช.ก็หมดอำนาจซึ่ง ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ก็ได้มีพระบรมราชโองการฯประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีแล้ว ดังนั้น อำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้งจึงเป็น ของ ครม. รอจนกว่า ครม.จะเข้ารูปเข้ารอย แต่หวังว่าคงไม่มีการตีลูกยาวนานหลายเดือนแน่นอน เพราะประชาชนคนท้องถิ่นนั่งเฝ้ารอวันเลือกตั้งมานานร่วม 5 ปีแล้วหรือว่า คน อปท.เคยชินที่ถูกกดทับมานานด้วยอำนาจสารพัดหรือ คสช.ไม่แตะต้อง อปท. เป็นสื่อนัยว่า ไม่ได้เลือกตั้งท้องถิ่น รัฐบาลก็อยู่ได้ อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่า เป็นวิกฤติในการตัดสินใจอย่างยิ่งว่า “แล้วแต่การตัดสินใจของ ครม. ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะมันมีทั้งคนได้โอกาสกับคนที่เสียโอกาส” ด้วยสถานการณ์ที่มักพลิกผัน และการจัดสรรผลประโยชน์ทางการเมืองที่ลงตัว จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการขยับวันเลือกตั้งท้องถิ่นออกไปเรื่อยๆ คนท้องถิ่นมีความหวังลึกๆว่า ให้รัฐบาลรีบจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นตามกติกาโดยเร็ว ปัญหาต่างๆในท้องถิ่นก็จะลดลง ไม่จำต้องชะลอหรือดองเรื่องไว้ เพราะว่าประชาชนยังทุกข์ไม่พอหรือจนยังไม่พอหรือเดือดร้อนยังไม่พอจึงยังไม่จำเป็นต้องเร่งรีบเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ให้ฉายาประเทศไทยย้ำไว้เด็ดขาดว่า “ไทยเป็น 'ผู้ป่วย' แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เพราะ การเมืองที่อ่อนแอ และ เศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศไทย รวมถึงการส่งออก ห้วงเวลาแห่งการรอคอย(การเลือกตั้ง) การเริ่มรอการนับวาระเวลาการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นห้วงเวลาแห่งการตกแต่งเตรียมการ เช่น (1) การรอประกาศ อบต.ยกฐานะเป็นเทศบาลจำนวน 58 แห่ง (2) การให้นายอำเภอประกาศเขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง อปท.กรณี ควบรวม (3)การส่งคนลงสมัครเลือกตั้ง ใน อปท.ใกล้เคียง ในกลุ่มเครือญาติธุรกิจของนักการเมือง (4) ว่าที่ผู้สมัครนายกฯและสมาชิกสภาฯ ต้องศึกษานิยาม กฎระเบียบ เลือกตั้งท้องถิ่นให้เข้าใจเสียก่อน (5) กระแสข่าวการคัดค้านการถ่ายโอน รพ.สต. 132แห่งให้ อบจ. แต่จะให้เป็นอยู่เทศบาลและ อบต.แทน (6) ข่าวการต่อรองให้เพิ่มเงินค่าตอบแทนให้แก่สมาชิกสภาท้องถิ่นร้อยละ 30 และ ผู้บริหารท้องถิ่นร้อยละ 25-30 หวังว่า ห้วงเวลาแห่งการรอคอย คงมิใช่ว่า เมื่อส่วนหัวไม่เดิน แต่องค์กรอิสระ(กกต.) ก็เคลื่อนไหวเพียงเพื่อให้ดูได้ว่า พร้อมทุกอย่างแต่รอที่อำนาจสั่งการเท่านั้น ถือเป็นการครอบงำโดยนักธุรกิจข้ามจังหวัดที่มีความมุ่งหวังการเข้าครอบงำธุรกิจในระดับเมือง โดยอาศัยอำนาจทางการเมืองท้องถิ่น ที่ไม่สามารถแยกแยะ ความเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือการทับซ้อนผลประโยชน์และอำนาจในตำแหน่ง ความมุ่งหวังเอาอำนาจบริหารท้องถิ่น เอื้อประโยชน์กลุ่มเครือญาติ กลุ่มธุรกิจของตน ทำให้การบริหารท้องถิ่น พิกลพิการ ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาและการแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นยิ่งทำให้เกิดความล้าหลังกว่าห้วงเวลาก่อนการถ่ายโอนอำนาจเสียอีก ที่ผ่านมาภาคอีสานไม่ใช่เพียงแหล่งซื้อเสียง ซื้อขายตำแหน่งเท่านั้น ภาคอื่นเช่นภาคใต้หลายแห่งก็เกิดวิกฤตการณ์ดังเช่นภาคอีสาน หรือภาคอื่น ๆ ก็เช่นกัน การซื้อขายสิทธิเลือกตั้ง อาจไม่ใช่ตัวเงิน แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ก็เป็นการซื้อเสียได้ ภาคใต้ ภาคตะวันออก บางแห่ง หน่วยตรวจสอบ หน่วยกำกับดูแล ไม่สามารถใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องต่อสู้กับอำนาจบารมีของนักการเมืองท้องถิ่น ระบบถูกครอบงำมาถึงระบบราชการ เป็นน้ำท่วมปากพูดไม่ออกบอกไม่ถูก จึงเป็นเรื่องยากมากในการปรับแก้ทัศนคตินักการเมืองท้องถิ่นในระยะเวลาสั้นๆ เพราะความเป็นพรรคพวกสำคัญกว่าระเบียบกฎหมาย ที่ไม่สามารถแยกแยะส่วนรวมส่วนตนออกจากกันได้ ความถูกต้อง ก็คือความพึงพอใจของ นายกฯ สมาชิกสภาฯ และหัวคะแนน หาใช่กฎกติกาหรือระเบียบใด ๆ ไม่ พรรคการเมืองทางเลือกใหม่จะลุยสนามท้องถิ่น กว่าสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวพรรคการเมืองเตรียมส่งผู้สมัครลุยการเมืองท้องถิ่น มีการผนึก “นักเลือกตั้ง” การโยนหินถามทางช่วงชิงพื้นที่ในเมืองใหญ่ ถึงขนาดมีการอาสา “ติวเทคนิคในการหาเสียงออนไลน์ ให้แก่นักเลือกตั้งท้องถิ่น” ด้วยช่างเป็นที่น่าหอมหวนของ “พรรคการเมืองทางเลือกใหม่” (Alternative) ยิ่งนัก แม้พรรคฝ่ายร่วมรัฐบาลก็ยังมีความหวังลุยท้องถิ่นเช่นกัน แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเส้นทางที่ราบรื่นสำหรับนักการเมืองท้องถิ่นหน้าใหม่ ที่ต้องฝ่าผจญกับนักการเมืองเก๋าเกมส์ลายครามในพื้นที่ ดังที่กล่าวแล้วว่า บริบทของท้องถิ่นเล็กใหญ่ที่แตกต่างกันเป็นอุปสรรคตัวสำคัญสำหรับนักการเมืองหน้าใหม่ในพื้นที่ เพราะ สภาพสังคมชนบทแบบพี่น้องที่เล็ก ๆ ที่คนหน้าใหม่ย่อมไม่สามารถผ่านด่านนี้ได้ แต่ในสนามการเมืองท้องถิ่น “ใน อปท.เมืองใหญ่” การคัดสรรนักเลือกตั้งหน้าใหม่ที่เหมาะสมลงสนามอาจประสบผลสำเร็จได้ ด้วยปริมาณของสังคมเมือง “ที่มีคนรุ่นใหม่และคนหัวใหม่” ที่แฝงด้วยจำนวนที่มากพอสมควร เป็นความหวังว่า “พรรคการเมืองทางเลือกใหม่”ย่อมทำได้ ด้วยหวังว่า คนใหม่น่าจะเป็นคำตอบ สำหรับคนท้องถิ่นที่ยังไม่เจอคำตอบ (ทางออก) เพราะเป้าหมายของพรรคการเมืองประเภทนี้ก็คือต้องสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ที่อยากเปลี่ยนแปลง และต้องสื่อถึงแก่นแกนสังคม ที่คนรุ่นใหม่หัวใหม่เขาเข้าใจด้วย มิใช่ไปเอานักการเมืองเก่าหน้าเก่า หรือ พวกสอบตกมาปัดฝุ่นเป็นตัวแทน เพราะหากทำเช่นนั้น ก็อย่าหวังโกยคะแนนจากคนรุ่นใหม่หัวใหม่ได้เลย ที่พวกเขาเหล่านั้นเชื่อว่า มันไม่สามารถตอบโจทย์ (ตัวเชื่อม) ให้แก่สังคมของเขาที่เป็นจริงได้ และแน่นอนว่าคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามใหม่ของสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นที่แก้ไขกฎหมายจัดตั้งให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แล้วนั้น จะเอื้อประโยชน์ต่อคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดีที่สุด ได้แก่ (1) กรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ให้ผู้มีอำนาจ (ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ) สอบสวนภายใน 60 วัน เมื่อทราบผลก็ประกาศให้ประชาชนทราบ (2) ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น จะมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาทั้งทางตรงทางอ้อมกินผ่านโครงการต่างๆ ของท้องถิ่นแบบเดิม ๆ ไม่ได้อีกแล้ว นักเลือกตั้งจากกลุ่มทุน น่าวิตกยุทธวิธีหา “นักเลือกตั้งจากกลุ่มทุน” (นายทุน) ในท้องถิ่นที่ยังนิยมใช้กันอยู่ ที่สวนทางกับความเชื่อของคนรุ่นใหม่หัวใหม่ เป็นระบบทุนครอบงำที่เคยมีมาแต่ก่อน เช่นนายทุนใหญ่ธุรกิจต่าง ๆ ทั้งธุรกิจการเกษตร พืช การเลี้ยงสัตว์การธุรกิจในพื้นที่ ฯลฯ ที่โดยพื้นฐานแล้วนายทุนเหล่านี้จะเป็นตัวแทนของนายทุนใหญ่ระดับชาติและหรือนายทุนข้ามชาติด้วย เช่น กระแสจีนนิยมที่แผ่ไพศาลในภูมิภาคนี้ ทุนจีนคอนเน็คชั่นจีน เช่น ในรูปของโรงไฟฟ้าขยะ ตามนโยบายรัฐบาล ด้วยเม็ดทุนมหาศาลที่น่ากลัว เพราะเป็นธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานที่ผูกขาด (ฮุบ) เช่นการสัมปทานทาง หรือกรณีตัวอย่างธุรกิจเครือข่ายนายทุนข้ามชาติในการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ (Parts)ของสินค้าประกอบของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ไปตั้งโรงงานตามพื้นที่ต่างประเทศอื่น เพื่อลดต้นทุนการผลิตของบริษัทแม่ เช่นชิ้นส่วนปั้มน้ำมันแบรนด์ดังของอเมริกาแต่อะไหล่ผลิตที่จีนทั้งสิ้นด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า การเคลื่อนย้ายโรงงานมาผลิตที่ประเทศไทยก็เช่นกัน เพื่อหวังลดต้นลดการผลิตของบริษัทแม่ อะไหล่รถยี่ห้อดังจากยุโรปทำในจีน รวมญี่ปุ่นด้วย นโยบายดึงทุนต่างประเทศของไทยต้องพึงระวังเพื่อปกป้องผลประโยชน์แก่คนไทยในระดับล่างด้วย เพราะ ณ ปัจจุบันมีเมกโปรเจคท์มากมายรออยู่ รวมทั้งโครงการ “คลองไทย” ด้วยเป็นต้น อำนาจการเมืองใหญ่ เป็นเวทีของ “ทุนข้ามชาติ” (Tran international) ที่อาจมาฮุบกิจการของคนไทยได้หมด อาทิเหมืองแร่ (เหมืองทอง) บ่อน้ำมัน บ่อแก๊ส ฯลฯ ระบบการตรวจสอบการบริหารประเทศจำต้องเข้มงวดมากขึ้นเพราะโอกาสที่จะเกิดการทุจริต ผลประโยชน์ทับซ้อน หรือ“การเสียค่าโง่” ของรัฐ ย่อมมีโอกาสมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เช่นการส่งส่วย หัวคิว เงินทอนโครงการเอื้อประโยชน์ แสวงประโยชน์ ผลประโยชน์ทับซ้อน หรือ “การทุจริตเชิงนโยบาย”ฯลฯ การตีลูกเซ่อ การตีกิน อยู่ที่สำนึกรับผิดชอบของคนในระดับบริหารเท่านั้น ประชาชนผู้ตรวจสอบขาดปัญญาตรวจจับได้ ไร้การตรวจสอบ นี่พาลไปถึงความท้อว่า “ทำให้ชาวบ้านเกิดความเคยชินว่าไม่ต้องเลือกตั้งก็ได้” เพราะชินแล้ว ทำอย่างไรก็ทำไปเถอะ คำสั่ง คสช.ปลดล็อกแล้ว 9 กรกฎาคม 2562 มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับสุดท้ายที่9/2562 ให้ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. 66 ฉบับ จากทั้งหมดที่ คสช. ได้ออกมากกว่า 200 ฉบับ แต่กลับ ไม่ได้ยกเลิก คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 1/2557 ซึ่ง เป็น คำสั่งให้ สมาชิก สภาและผู้บริหาร ท้องถิ่นทุกแห่งที่หมดวาระไปแล้ว ดำรงตำแหน่ง ต่อเป็นการชั่วคราว เมื่อ ไม่ได้ยกเลิก คำสั่งฉบับ ดังกล่าว สมาชิกสภา และผู้บริหาร ท้องถิ่น ก็ ต้องอยู่ต่อไป จนกว่า ครม.จะเห็นชอบให้ กกต.ประกาศ ให้ มี การ เลือกตั้ง ข่าวนี้มาพร้อมกับที่กระทรวงมหาดไทยแจ้งคำสั่ง กกต. มอบหมายให้ “พนักงานฝ่ายปกรองและตำรวจชั้นผู้ใหญ่” รับแจ้งเหตุการกระทำความผิดมาตรา 92 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 และหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมอบหมายให้นายอำเภอปฏิบัติการแทนตามมาตรา 71แห่ง พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ.2496 แก้ไข (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562ถือเป็นนัยสัญญาณบ่งชี้ถึงการวางแผนการเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว เรามาดูว่าโอกาสวันแห่งการเลือกตั้งท้องถิ่นคงอีกไม่ช้า