ข้อมูลใหม่ล่าสุด “โซเดียมคลอไรด์” แต่ยังไม่อาจยืนยันจะมาจากชั้นมหาสมุทร หรือเพียงแค่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของชั้นน้ำแข็งเท่านั้น ทำให้นักวิทย์ต้องค้นคว้าองค์ประกอบของธาตุ-ธรณีวิทยาบนดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสฯนี้ใหม่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์เรื่องราวการค้นพบอีกครั้งสำคัญในวงการนักดาราศาสตร์ โดยระบุ “นักดาราศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (CalTech) และห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (JPL) ของนาซา ใช้กระบวนการวิเคราะห์สเปกตรัมของแสงในช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็น พบว่าบริเวณสีเหลืองจากพื้นผิวของ “ยูโรปา” ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีนั้น คือ “โซเดียมคลอไรด์ (Sodium chloride)” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “เกลือแกง” เกลือที่ใช้ปรุงอาหารกันอยู่เป็นประจำ และยังเป็นองค์ประกอบหลักของเกลือในน้ำทะเลบนโลกอีกด้วย ก่อนหน้านี้ เรามีข้อมูลของยูโรปาจากการบินเฉียดของยานวอยเอเจอร์ (Voyager) และยานกาลิเลโอ (Galileo) ขององค์การนาซา ทำให้นักดาราศาสตร์ทราบว่า ดวงจันทร์ดวงนี้ปกคลุมไปด้วยพื้นผิวที่เป็นน้ำแข็ง และมีชั้นน้ำทะเลเกลืออยู่ข้างใต้ และจากข้อมูลทางสเปกตรัมในช่วงคลื่นอินฟราเรดจากยานกาลิเลโอ ได้ตรวจพบน้ำแข็งและสารประกอบที่ดูเหมือนจะเป็นเกลือแมกนีเซียมซัลเฟตบนพื้นผิว แต่เนื่องจากพื้นผิวที่เป็นน้ำแข็งนั้นมีอายุน้อย และไม่มีหลักฐานของกระบวนการทางธรณีวิทยาที่เด่นชัดบนพื้นผิวของดาว นักวิทยาศาสตร์จึงสันนิษฐานว่า เกลือที่พบเหล่านี้อาจมาจากชั้นมหาสมุทรข้างใต้ชั้นน้ำแข็ง ล่าสุดข้อมูลใหม่จาก หอดูดาว W. M. Keck รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีความละเอียดของสเปกตรัมมากขึ้น ทำให้ทราบว่าสารประกอบที่อยู่บนพื้นผิวยูโรปานั้นแท้จริงแล้วอาจไม่ใช่แมกนีเซียมซัลเฟต เนื่องจากข้อมูลความละเอียดสูงนี้ ไม่พบหลักฐานที่แสดงถึงสารประกอบในกลุ่มซัลเฟตเลย ทีมนักดาราศาสตร์จึงตั้งข้อสันนิษฐานใหม่ว่าสารประกอบนี้อาจเป็นโซเดียมคลอไรด์ จากการทดลองยิงรังสีต่าง ๆ ไปยังตัวอย่างน้ำทะเลบนโลกที่มีโซเดียมคลอไรด์เป็นองค์ประกอบหลัก เหมือนกับสภาวะบนพื้นผิวของยูโรปา พบว่าโซเดียมคลอไรด์จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ซึ่งตรงกับสีที่บริเวณทารา เรจิโอ (Tara Regio) บนดวงจันทร์ยูโรปา “โซเดียมคลอไรด์นั้นก็เหมือนกับน้ำหมึกล่องหนบนพื้นผิวของยูโรปา ตอนที่ยังไม่โดนรังสี เราไม่สามารถบอกได้ว่ามีอยู่หรือไม่ แต่หลังจากโดนรังสีแล้ว สีเหลืองของมันจะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน” เควิน แฮนด์ (Kevin Hand) หนึ่งในทีมนักวิจัยครั้งนี้กล่าว เมื่อทีมนักดาราศาสตร์ถ่ายภาพสเปกตรัมของพื้นผิวยูโรปาอีกครั้งด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) พบว่า แถบการดูดกลืนของสเปกตรัมในช่วงคลื่นที่ตามองเห็น 450 นาโนเมตร ณ บริเวณทารา เรจิโอตรงกับแถบการดูดกลืนสเปกตรัมของเกลือแกงในห้องทดลอง แม้ว่าการค้นพบนี้ ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า เกลือดังกล่าวมาจากชั้นมหาสมุทรที่อยู่ลึกลงไปหรือไม่ หรืออาจจะเป็นเพียงอีกองค์ประกอบหนึ่งของชั้นน้ำแข็ง แต่การศึกษาในครั้งนี้ ทำให้ยูโรปากลายเป็นอีกหนึ่งวัตถุที่มีความน่าสนใจทางธรณีวิทยามากกว่าที่ทีมนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ ทำให้พวกเขาต้องกลับไปวิเคราะห์ธาตุองค์ประกอบ และลักษณะทางธรณีวิทยาของดวงจันทร์ยูโรปาใหม่อีกครั้ง เรียบเรียง : ศุภวิชญ์ ดวงภูเมฆ - ผู้ช่วยนักวิจัย สดร. อ้างอิง :https://www.nasa.gov/…/table-salt-compound-spotted-on-euro…/”