เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 เวลา 18.35 น. ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) พร้อมด้วยผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษา มจพ. ร่วมต้อนรับนักศึกษาทีมหุ่นยนต์ iRAP Sechzig เดินทางจากประเทศออสเตรเลียมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ หลังเป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก World Robocup Rescue 2019 ณ เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 2-8 กรกฎาคม 2562 หลังคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และรางวัล (Best in Class Mobility) นวัตกรรมสมรรถนะการขับเคลื่อนหุ่นยนต์ยอดเยี่ยม ซึ่งมีทีมเข้าร่วมการแข่งขัน 14 ทีม จาก 8 ประเทศทั่วโลก อาทิ อเมริกา เยอรมัน ญี่ปุ่น แคนาดา จีน อิหร่าน เม็กซิโก และไทย ณ สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 การแข่งขันในครั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัชชัย เสริมพงษ์พันธ์ อาจารย์ที่ปรึกษาทีมหุ่นยนต์ กล่าวว่า การแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 รอบคือ รอบคัดเลือก และรอบชิงชนะเลิศ โดยวันที่ 2-3`กรกฎาคม 2562 เป็นวันซ้อมสนาม วันที่ 4-6 กรกฎาคม 2562 เป็นการแข่งรอบคัดเลือก และวันที่ 7 กรกฎาคม 2562 รอบชิงชนะเลิศ รอบคัดเลือกจะทำการแข่งขันแบบเก็บคะแนน วันละ 6 ด่าน โดยทำการเลือกด่านการแข่งขัน จาก 4 ลักษณะคือ 1. Maneuvering การทดสอบการหลบหลีกสิ่งกีดขวาง แบ่งเป็น หก ด่านย่อย 2. Mobility การทดสอบสมรรถนะของหุ่นยนต์แบ่งเป็น ห้า ด่านย่อย 3. Dexterity การทดสอบการทำงานของแขนกลแบ่งเป็น ห้า ด่านย่อย 4. Exploration การทดสอบการวาดแผนที่อัตโนมัติและการทำงานอัตโนมัติของหุ่นยนต์ การคัดเลือกทีมเข้ารอบจะรวมคะแนนจาก 5 ด่านของ Maneuvering และ 5 ด่านของอีก 3 ลักษณะที่เหลือ อีกทั้งยังเก็บคะแนนสำหรับรางวัลพิเศษ best in class อีกด้วย การแข่งขันในรอบคัดเลือก ในวันแรกๆ ทีมญี่ปุ่นสามารถแสดงศักยภาพออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด ส่วนทีมคู่ปรับเก่าอย่างอิหร่านเกิดปัญหาที่ตัวหุ่นยนต์ไม่สามารถแข่งขันรอบแรกๆ และทำคะแนนได้ไม่ดีในการแข่งขันรอบคัดเลือกวันสุดท้าย ทีม iRAP Sechzig มั่นใจแล้วว่าสามารถทำคะแนนผ่านเข้ารอบได้อย่างแน่นอน แต่สิ่งที่ต้องลุ้นเพิ่มเติมก็คือ รางวัลพิเศษ best in class mobility ซึ่งจากการประเมินคร่าวๆ คะแนนของทีมญี่ปุ่น และทีมไทย ใกล้เคียงกันมาก จนมาถึง 2 ด่านสุดท้ายคือ การเคลื่อนที่ผ่านบันได และด่านเคลื่อนที่ผ่านกรวดและทราย ซึ่งจะเป็นด่านที่ตัดสินการได้รางวัลพิเศษ โดยทีมญี่ปุ่นเข้าแข่งขันด่านผ่านบันไดหลังจากทีมไทย จึงพยายามทำรอบการแข่งขันเพื่อให้คะแนนมากกว่าทีมไทยมากๆ แต่ด้วยความประมาททำให้แขนกลของทีมญี่ปุ่น เกิดหักระหว่างการแข่งขัน ทำให้แม้ว่าจะทำรอบได้มากกว่าทีมไทยแต่คะแนนตัวคูณน้อยกว่า ส่งผลถึงการแข่งขันด่านสุดท้ายคือ กรวดและทราย แต่ด้วยเวลาที่งวดเข้ามาทำให้ทีมญี่ปุ่นซ่อมหุ่นยนต์ไม่เสร็จไม่สามารถเข้าทำการแข่งขันด่านกรวดและทรายได้ จึงส่งผลให้ทีมไทยผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศได้เป็นอันดับหนึ่ง และได้รางวัลพิเศษ best in class mobility มาครองอีกสมัย รอบชิงชนะเลิศ เมื่อกรรมการประกาศวิธีการแข่งขันออกมาส่งผลให้ทุกทีมเกิดความกังวล เนื่องจากการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศแบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 ด่าน ซึ่งทดสอบความสามารถของหุ่นยนต์ในทุกๆ ด้านคือ การเคลื่อนที่ การใช้งานแขนกล และการสร้างแผนที่อัตโนมัติ โดยข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้นคือ นอกจากวาดแผนที่อัตโนมัติแล้ว การเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์เมื่อวาดแผนที่ จะต้องเป็นแบบอัตโนมัติด้วย ซึ่งทีม iRAP Sechzig แม้จะเตรียมโปรแกรมการทำงานมาเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่สามารถทำให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่แบบอัตโนมัติได้อย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ความห่างของการทำงานแบบอัตโนมัติ ระหว่างทีมญี่ปุ่นและทีมไทยมีมากกว่าการแข่งขันประเภทอื่น ทำให้ทีม Shinobi จากประเทศญี่ปุ่นได้รางวัลชนะเลิศ คะแนนเต็ม 300% ด้วยคะแนน 216% ส่วน iRAP Sechzig จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ประเทศไทย ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คะแนน 204% และทีม Hector จากประเทศเยอรมัน ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คะแนน 173% สมาชิกในทีมประกอบด้วย 1. นายธนัท วีบุตร 2. นายชัยพฤกษ์ เลาหะพานิช 3. นายปียภูมิ ธนวุฒิอนันต์ 4. นายธนวิชญ์ สินสุขอุดมชัย 5. นายชิณวุฒิ เหงี่ยมงามศรี 6. นายอาทิตย์ นาราเศรษฐกุล 7. นายจิรกานต์ สุขเจริญ 8. นายพูนกิจ ศรีตระการปฐม 9. นายภูบดี บุญจริง 10. นายธีรวัฒน์ เพ็ชรปูน 11.นายธรรมฤทธิ์ ศิวาลัย 12. นายเนตินันท์ กุตนันท์ 13. นายฐิติยศ ประกายธรรม โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชัชชัย เสริมพงษ์พันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรพันธุ์ พันธุ์โอภาส อาจารย์นภดล พัดชื่น นายอรัญ แบล็ทเลอร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมชาย เวชกรรม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ เป็นผู้ประสานงาน ประวัติแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย มจพ. 1. แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 1 ปี พ.ศ.2549 การแข่งขัน World RoboCup Rescue 2006 ณ เมืองเบรเมน ประเทศเยอรมัน 2. แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 2 ปี พ.ศ. 2550 การแข่งขัน World RoboCup Rescue 2007 ณ เมืองจอร์เจีย แอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา 3. แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 3 ปี พ.ศ. 2552 การแข่งขัน World RoboCup Rescue 2009 ณ เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย 4. แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 4 ปี พ.ศ. 2553 การแข่งขัน World RoboCup Rescue 2010 ณ ประเทศสิงคโปร์ 5. แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 5 ปี พ.ศ. 2554 การแข่งขัน World RoboCup Rescue 2011 ณ อิสตัลบูล ประเทศตุรกี 6. แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 6 ปี พ.ศ. 2556 การแข่งขัน World RoboCup Rescue 2013 ณ เมืองไอโฮเฟน ประเทศเนเธอร์แลนด์ 7. รองแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย ปี พ.ศ. 2558 การแข่งขัน World RoboCup Rescue 2015 ณ เมืองเห่ยเฟ่ย ประเทศจีน 8. แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 7 ปี พ.ศ. 2559 การแข่งขัน World RoboCup Rescue 2016 ณ เมืองไลพ์ซิก (Leipzig) ประเทศเยอรมัน 9. รองแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย ปี พ.ศ. 2560 การแข่งขัน World RoboCup Rescue 2017 ณ เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น 10. แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 8 ปี พ.ศ. 2561 (ค.ศ.2018) การแข่งขัน World Robocup Rescue 2018 ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา 11. รองแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย ปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ.2019) การแข่งขัน World Robocup Rescue 2019 ณ เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย