กรมพัฒนาที่ดิน จัดการประชุมวิชาการดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 7 แลกเปลี่ยนผลงานวิจัย สร้างนวัตกรรมและการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม กรมพัฒนาที่ดิน ได้เล็งเห็นความสำคัญในการดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ได้ดำเนินการงานวิจัยด้านดินเค็ม พร้อมได้รับความร่วมมือแบบบูรณาการจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ FAO มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัย Ehime มหาวิทยาลัย Hokkaido มหาวิทยาลัย New South Wale (UNSW) และ SCG จึงได้จัดประชุมวิชาการดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 11–12 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออร์คิด จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นเวทีแสดงผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์การวิจัยด้านดินเค็ม ของนักวิชาการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากองค์กรต่างๆ รวมถึงการกำหนดทิศทางการทำงานวิจัย การสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือในอนาคต และทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม รวมถึงเป็นการกระตุ้นนักวิจัยรุ่นใหม่ได้เผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านดินเค็ม ประสบการณ์ ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและหน่วยงานให้มากที่สุด รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ และชุมชนในพื้นที่ดินเค็มให้กว้างขวางขึ้น เกษตรกรและหน่วยงานต่างๆ สามารถนำวิธีการ เทคโนโลยี ที่ได้รับนำไปปรับใช้ในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ทำให้สามารถพัฒนาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการ และส่งผลได้ใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเค็มอย่างยั่งยืน เกษตรกรมีความมั่นคั่ง และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 400 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร ผู้อำนวยการกอง/สำนัก ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรระหว่างประเทศ นักวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน FAO มหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้สื่อข่าวทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และเกษตรกรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ดินเค็มที่มีพื้นที่ถือครองเป็นพื้นที่เนินรับน้ำ ดร.สถาพร ใจอารีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ด้านวิชาการ กล่าวว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่การเกษตรสูงสุดในประเทศ มีเนื้อที่เพาะปลูกของภาคถึง 60 ล้านไร่ แต่เป็นภูมิภาคที่มีอัตราการขยายตัวของผลผลิตด้านการเกษตรต่ำสุด เพราะมีปัญหาคุณภาพดินไม่ดี เพราะเป็นดินเค็ม ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ดินเค็ม 17.8 ล้านไร่ หรือ 29 % ของพื้นที่ที่เพาะปลูกของภาค เพราะดินเค็มทำให้โครงสร้างของดินเสีย ดินแน่นทึบ นอกจากนี้ จะพบความเค็มทั้งน้ำในลำห้วยธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำ และน้ำใต้ดิน ซึ่งความเค็มของดินและน้ำเป็นอันตรายต่อพืช ทำให้การเจริญเติบโตของพืชลดลงหรือตาย และยังเป็นอันตรายต่อสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในระบบนิเวศ และยังส่งผลต่อความมั่นคงของอาหารในภูมิภาค ซึ่งในปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญปัญหาการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ทำให้ปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อการแพร่กระจายดินเค็ม การจัดงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆ เช่น ติดตามผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์การวิจัยด้านดินเค็ม เป็นเวทีเสวนาบทบาทส่งเสริมการปลูกป่าเพิ่มมูลค่าต้นไม้ในพื้นที่เนินรับน้ำ ผลสำเร็จของการพัฒนาดินเค็ม ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการและการใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเค็ม การทำงานด้านการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม รวมถึงการติดตามการทำงานด้านการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม ตลอดจนประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการฯ ในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมตามนโยบาย Agri-map และยังกระตุ้นให้นักวิชาการในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจะได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านดินเค็ม รวมทั้งการสร้างเครือข่ายและสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ รวมถึงชุมชนเข้มแข็งในพื้นที่ดินเค็ม เป็นการแสดงศักยภาพของการพัฒนาในแนวใหม่ในการบูรณาการพัฒนาและการใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเค็มอย่างยั่งยืนระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรหลักของพื้นที่ หรือที่เรียกว่า “ประชารัฐ” โดยมีการเชื่อมโยงในหัวข้อ "Stop Soil Erosion, Save our Future : ปกป้องอนาคต หยุดการชะล้างดิน" กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศ การนำเสนอผลงานวิจัย การเสวนา การนำผลสำเร็จการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการและการใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเค็ม และการจัดนิทรรศการการจัดการดินเค็มจากหน่วยงานต่างๆ พร้อมทั้งรับฟังการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ดินเค็มของกรมพัฒนาที่ดิน” โดยนางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน การเสวนาในมุมมองของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรดิน และมุมมองของเกษตรกรผู้ประสบความสำเร็จด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น การเสวนามี 2 หัวข้อ คือ 1.บทบาทส่งเสริมปลูกป่าเพิ่มมูลค่าต้นไม้ในพื้นที่เนินรับน้ำ (Re-charge) และ2.ผลสำเร็จของการพัฒนาที่ดินเค็ม ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการและการใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเค็ม นอกจากนี้ มีการบรรยาย 3 หัวข้อเรื่อง ได้แก่ 1.การใช้ภาพถ่ายทางอากาศเพื่อศึกษาการเจริญเติบโตของยูคาลิปตันบนคันนาในพื้นที่ดินเค็ม 2.ผลกระทบของการปลูกยูคาลิปตัสบนคันนาต่อความยืดหยุ่นเชิงสังคมและเชิงนิเวศ (social-ecological resilience) ของเกษตรกร และ3.การขับเคลื่อนและขยายผลการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาค : เส้นทางสู่ความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการขับเคลื่อนและขยายผลการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน (Decision Support for Mainstreaming and Scaling up of Sustainable Land Management; DS-SLM) โดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านดินเค็ม และการนำเสนอผลงานภาคบรรยาย และภาคนิทรรศการ จากนักวิชาการของกรมพัฒนาที่ดิน เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ดินเค็ม มหาวิทยาลัย และ SCG รวมทั้งมีการนำเสนอรายงานความก้าวหน้า เรื่อง “การศึกษาศักยภาพการผลิตพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ดินเค็มน้อยถึงปานกลาง (เขต N Zone) เพื่อการจัดการปัญหาดินเค็มอย่างยั่งยืน ระยะที่ 1” และการมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณสำหรับ การนำเสนอผลงานดีเด่น "ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปัญหาดินเค็มเป็นอย่างมาก บวกกับพื้นที่เป็นดินทราย มีผลต่อการปลูกพืชของเกษตรกรและพื้นที่ภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ 1 ใน 3 ของประเทศ มีผลกระทบต่อภาพรายได้ของประเทศ เพราะฉะนั้นการประชุมวิชาการเพื่อจะช่วยเหลือปรับปรุงพื้นที่ดินเค็มในภาคอีสาน ซึ่งได้ดำเนินการมา 7 ปีแล้ว ทั้งหมดนี้เพื่อพัฒนาให้สามารถปรับปรุงพื้นที่ดินเค็มให้มีการใช้พื้นที่ได้เหมาะสม และเกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิต และรายได้ อันนี้คือเป้าหมาย เนื่องจากว่าถ้าเราแก้ปัญหาดินเค็มในภาคอีสานได้ แก้ปัญหาดินทรายที่เกิดการชะล้างในภาคอีสานได้ จะช่วยเหลือรายได้ของประเทศในภาพรวม ถ้าช่วยภาคอีสานได้ก็เท่ากับยกได้เกือบหมดเลย จะเห็นได้ว่าการประชุมวิชาการนี้มีบทบาทสำคัญ เพราะปัญหาดินเค็มเป็นปัญหาพิเศษ เป็นดินที่มีปัญหาพิเศษ ที่ต้องช่วยกันแก้ไข ปัญหาดินเค็มไม่มีทางที่หมดไป เนื่องจากมันเป็นชั้นหินเกลือที่อยู่ใต้โลก เรามาเป็นเวลานาน เราจึงไม่สามารถที่จะกำจัดมันได้หมด แต่เราสามารถที่จะปรับให้เป็นพื้นที่ในการทำการเกษตรในรูปแบบที่เหมาะสมได้ รูปแบบการทำเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งน่าสนใจมาก หรือที่พูดง่ายๆว่าเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ จะมีการปลูกพืชหลายๆชนิด ทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น จาก 5,000 บาท เปลี่ยนเป็น 10,000 กว่าบาท และรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราจะต้องสนับสนุนแนวคิดนี้ กล่าวคือ สนับสนุนพวกพืชผักสวนครัว ที่สร้างรายได้ผสมผสานของเกษตรกร โดยให้มีคุณภาพที่ดี เมล็ดพันธุ์ที่ดี มีการปลูกที่เหมาะสม และส่งเสริมโดยเฉพาะพืชที่มีความปลอดภัยมีความสำคัญและต้องมาพร้อมคุณภาพ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น ดีขึ้นเพราะมีรายได้ตลอดปี ดีขึ้นเพราะสุขภาพดีขึ้น และมีความสุขในการใช้ชีวิต นี่คือประเด็นสำคัญที่ทำให้มองว่า ถ้าส่งเสริมไปในพื้นที่ดินเค็ม จะทำให้ชุมชนมีความรู้สึกว่ามีความเป็นปึกแผ่น ไม่ต้องอพยพเข้าไปทำงานในกรุงเทพมหานคร เขาจะสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองอันนี้คือเป้าหมาย พื้นฐานจริงๆ มาจากข้อมูลวิชาการ เพราะฉะนั้น ผมเห็นว่าการจัดประชุมวิชาการครั้งนี้จัดขึ้นได้ดีมาก น่าจะทำต่อไปเรื่อยๆ ผมสนับสนุนให้มีการจัดให้ดีมากขึ้นกว่านี้ และทำให้กระจายไปในพื้นที่ต่างๆ มากกว่านี้"รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว