ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย สหรัฐฯ กำลังประสบปัญหาการลดน้อยถอยลงของกำลังแรงงานในประเทศ ประกอบกับการสร้างระบบกีดกันการอพยพเข้าของแรงงาน ราคาถูกจากเม็กซิโก และแรงงานอพยพลี้ภัยสงคราม หรือภัยเศรษฐกิจจากประเทศอื่นๆ เช่น เวเนซูเอลล่า หรือจากตะวันออกกลาง ทำให้กำลังแรงงานที่จะมาใช้เยี่ยงแรงงานทาสลดลง เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการประกาศว่า อัตราการเกิดของสหรัฐฯลดลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลา 4 ปีมาแล้ว และเป็นสัญญาณที่ปรากฏชัดว่าเป็นยอดต่ำสุดของอัตราการเกิดในรอบ 32 ปี ในขณะที่อัตราการมีอายุยืนยาวของคนสูงอายุเพิ่มขึ้นมาตลอด นี่คือปัญหาที่อาจจะเกิดเหมือนๆกันในหลายประเทศ และต่างก็มีวิธีการแก้ไขที่แตกต่างกันออกไป สหรัฐฯในช่วง 10 ปีมานี้ ใช้วิธีการรณรงค์เพื่อห้ามการทำแท้ง โดยความร่วมมือระหว่างรัฐและองค์กรทางศาสนาขนาดใหญ่ ซึ่งในอดีตมีแนวคิดอยู่ 2 แนวทางของพรรคการเมือง 2 ขั้ว นั่นคือ ถ้าเป็นแนวของพรรคเดโมแครตจะสนับสนุนการทำแท้งเสรี เพราะถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของสตรี ตามแนวเสรีนิยม ส่วนพรรครีพับลิกัน ซึ่งมีแนวอนุรักษ์นิยมจะรณรงค์สอดผสานกับองค์กรทางศาสนานั่นคือ Prolife คือ การมุ่งรักษาชีวิต แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้แนวทางของทั้งสองพรรคกลับมาเป็นแนวเดียวกัน คือ การห้ามทำแท้งอย่างเข้มงวดก็ไม่ใช่เพราะมีแนวคิดที่เคร่งครัดศาสนาอะไร แต่เพราะเมกากำลังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง หลายรัฐเริ่มออกกฎหมายห้ามทำแท้ง เช่น รัฐอลาบามา ซึ่งเข้มงวดมากไม่ยกเว้นแม้แต่การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการถูกข่มขืน หรือการตั้งครรภ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อมารดาและเด็ก ชนชั้นปกครองเริ่มตระหนักว่าอัตราการลดลงของการเกิดจะก่อให้เกิดปัญหาแรงงานให้กับอุตสาหกรรมของตนในอนาคต แม้ว่าจะมีการพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมาใช้แทนแรงงานมากขึ้นก็ตาม แต่งานอีกหลายอย่างก็ยังจำเป็นต้องใช้คน เช่น คนควบคุมเครื่องจักร ผู้ใช้แรงงานด้านการบริการต่างๆหรือทหารเป็นต้น แต่สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้อัตราการเกิดลดน้อยลงกลับไม่มีใคร โดยเฉพาะชนชั้นปกครองให้ความสนใจแก้ไข ยิ่งควบคุมการทำแท้ง ควบคุมการคุมกำเนิดก็ยิ่งสร้างภาระให้กับ “ผู้หญิง” ที่อยู่ในครอบครัวคนชั้นล่างและชนชั้นกลางเป็นอย่างมาก นั่นคือ ภาระกดดันทางเศรษฐกิจที่เธอถูกปล่อยให้เผชิญกับชะตากรรมที่ลำบากยากแค้น ผู้เขียนไม่ได้ประสงค์ที่จะหยิบยกเอาปัญหาทางเศรษฐกิจมาอยู่เหนือปัญหาคุณธรรมด้วยการสนับสนุนการทำแท้งหรือการคุมกำเนิด แต่พยายามจะชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างของระบบที่เอารัดเอาเปรียบกันอย่างรุนแรงก่อให้เกิดทุกข์อย่างร้ายแรงกับผู้หญิงในสังคม ทุนนิยมสามานด์ โดยเฉพาะในสหรัฐฯที่ระบบเศรษฐกิจถูกควบคุมด้วย “รัฐบรรษัท” (Corporate State) หรือ รัฐลึก (Deep State) ที่มีการกดขี่ขูดรีดกันอย่างรุนแรง โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมและไร้เมตตากรุณาโดยสิ้นเชิง ลองมาพิจารณาดูว่าทำไม “ผู้หญิง” ในระดับชนชั้นดังกล่าวถึงไม่ต้องการมีลูก ประการแรกอัตราค่าบริการทางการแพทย์ในสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้นมาก ในขณะที่รัฐตัดทอนเงินสวัสดิการด้านนี้ลงอย่างต่อเนื่อง เพราะอุตสาหกรรมกดดันให้ลดอัตราภาษีลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ยิ่งในสมัยรีพับลิกันภาษีก็จะถูกลดลงมาก ทำให้ต้องจัดสรรงบประมาณกันอย่างบีบรีด และส่วนที่ตัดง่ายสุดคือเงินสวัสดิการ นอกจากนี้การเอื้ออาทรต่อการให้สิทธิในการหยุดงาน ภายหลังการคลอดยังถูกลดทอนลงให้สั้นลงในช่วงที่จ่ายเงินค่าแรง นอกจากนี้การเลี้ยงเด็กก็ยังเป็นภาระเป็นอย่างยิ่งต่อผู้หญิงที่มีลูกและยังต้องทำงานไปด้วยเพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ซึ่งนายจ้างมักกดดันพวกเธอมากเพราะมองว่าพวกเธอทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะมีลูกเป็นภาระ ยิ่งความตึงเครียดทางเศรษฐกิจทับทวีคูณ ก็ยิ่งเกิดปัญหาครอบครัวและเกิดการหย่าร้าง ทำให้แม่เลี้ยงเดี่ยวยิ่งต้องรับภาระหนักโดยลำพัง สิ่งเหล่านี้ทำให้ “ผู้หญิง” จำนวนมากไม่ต้องการมีลูก โดยที่อาจจะไม่ใช่ประเด็นของพวกรักสนุกเท่าไร อนึ่งในภาคส่วนของ “ผู้หญิง” ในกลุ่มชนชั้นสูงการคุมกำเนิดหรือการทำแท้งเป็นเรื่องที่ง่ายดาย ไม่ว่าจะมีกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และระดับความปลอดภัยในการทำแท้งก็มีสูงกว่า คลินิกของ “ผู้หญิง” ในระดับล่างมากนัก ที่สำคัญและไม่ค่อยมีใครคำนึงถึง คือ การเลี้ยงลูกไม่ใช่งานสมัครเล่น แต่เป็นงานที่ต้องทุ่มเทความเอาใจใส่ ความรัก ความเอื้ออาทรตลอดจน การอบรมบ่มนิสัย มิฉะนั้นลูกที่เกิดมาก็จะกลายเป็นปัญหาสังคมในที่สุด ดังนั้นจึงควรเป็นภาระหน้าที่ของสังคมที่จะต้องจัดสรรงบประมาณมาช่วยดูแล เยียวยาปัญหาเหล่านี้ ไม่ใช่การปัดภาระด้วยการตัดทอนงบประมาณลงมา แล้วออกกฎหมายมาบีบบังคับให้ “ผู้หญิง” เหล่านั้นต้องทนทุกข์เวทนา การที่กำลังแรงงานลดลงยังก่อให้เกิดปัญหากับกองทุนประกันสังคมที่จะต้องจ่ายเงินเลี้ยงดูผู้ที่ออกจากกำลังแรงงาน โดยเหตุสูงอายุตกงาน พิการ หรืออื่นๆ ในขณะที่ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด งบด้านรักษาพยาบาลก็ถูกตัดลงอย่างต่อเนื่องด้วยเหตุผลต่างๆนานา ที่สำคัญกลุ่ม “รัฐบรรษัท” ไม่ต้องการจ่ายเงินเพิ่มยิ่งเกิดการแข่งขันในเชิงการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น และสงครามการค้ากับจีนยิ่งทำให้ค่าครองชีพของพลเมืองเมกาต้องรับภาระมากขึ้นตามมา แม้ว่าสหรัฐฯจะต้องการแรงงานอย่างมาก โดยเฉพาะการที่สหรัฐฯมีนโยบายที่จะก่อสงครามไปทั่วภูมิภาคต่างๆในโลก เพราะสหรัฐฯต้องการกำลังทหาร แต่ก็ไม่มีการพิจารณาถึงการสร้างแรงงานที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศ นอกจากการสร้างแรงงานทาสจากครอบครัวคนชั้นล่าง จ่ายค่าตอบแทนแรงงานต่ำ สวัสดิการที่ไม่มั่นคง หรือการถูกจ้างไปรบต่างแดนด้วยอัตราเสี่ยงชีวิต และทุภพลภาพระดับสูง แถมกลับมาก็มิได้รับการดูแลอย่างพอเพียงทั่วถึง ทั้งหมดนี้ก็ทำไปเพื่อให้อุตสาหกรรมอาวุธ และตลาดวอลสตรีทได้มั่งคั่งร่ำรวย นอกจากนี้สหรัฐฯต้องการประชากรเพื่อให้มีผู้บริโภคสินค้าของอุตสาหกรรมอีกหลายประเภท แต่คนเหล่านี้ไม่มีกำลังซื้อมากนัก จึงต้องบริโภคสินค้าราคาถูกไร้คุณภาพ เช่น การผลิตและขายอาหารแบบการผลิตจำนวนมาก แต่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน พอเจ็บป่วยขึ้นมาก็ไม่มีปัญญาจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่แพงได้ ระบบกินตัวแบบนี้ในที่สุดก็จะเป็นอันตรายต่อประเทศชาติเองในที่สุด แต่นายทุนใหญ่ๆไม่ได้สนใจเพราะเขาพร้อมที่จะอพยพไปอยู่ที่ไหนก็ได้ แม้แต่นอกโลก อัตราการเกิดที่ลดลง จึงมีเหตุผลที่แท้จริงอยู่เบื้องหลัง นั่นคือ การบังคับให้ผู้หญิงเป็นทาสในระบบสืบพันธุ์ และเป็นเครื่องมือผลิตทาสแรงงานให้กับ “รัฐบรรษัท” ด้วยค่าแรงงานต่ำไร้อนาคต ถ้าจะอ้างเรื่องศีลธรรมก็ควรสร้างระบบที่กระจายความเอื้ออาทรต่อคนระดับล่าง อย่างน้อยให้เขาได้มีความเป็นอยู่สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์