“บิ๊กตู่" สั่ง "กฤษฏา" เร่งกรมฝนหลวงฯ ทำฝนช่วยเกษตรกรพื้นที่เกษตรเสี่ยงเสียหาย เติมน้ำ 149 เขื่อน น้ำวิกฤติต่ำกว่า 30% เผชิญภัยแล้งจากฝนปีนี้ตกน้อยกว่าปกติ เมื่อวันที่ 11 ก.ค.62 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ในขณะนี้หลายพื้นที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรและประชาชนจึงได้สั่งการมายัง นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ มอบหมายให้กรมฝนหลวงฯ ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและเร่งช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยปัจจุบัน มีการตั้งหน่วยฝนหลวง 11 หน่วยทั่วประเทศ เพื่อการปฏิบัติการอย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงทำฝนให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่ที่ต้องการฝน ทั้งนี้ ในการขึ้นปฏิบัติการได้ยึดหลักการทำฝนตามตำราฝนหลวงพระราชทาน เพื่อดัดแปรสภาพอากาศให้ฝนตกในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งต้องใช้ข้อมูลประกอบการขึ้นปฏิบัติการจากค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติการฝนหลวงต้องมีมากกว่า 60% ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศที่เหมาะสมต้องมีค่าน้อยกว่า -2.0 และค่าความเร็วลมที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติการฝนหลวงต้องน้อยกว่า 36 กม./ชม. ในส่วนผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ ขึ้นทำฝน 8 หน่วย ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่บางส่วนของ จ.เชียงใหม่ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี กาญจนบุรี หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญและพัทลุง เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพลตอนล่าง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนอุบลรัตน์และอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน รวมถึงเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งล่าสุดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้งมีจำนวน 3 จังหวัด (7 อำเภอ 32 ตำบล 225 หมู่บ้าน) ประกอบด้วย จ.ตาก ศรีสะเกษและมหาสารคาม โดยจ.ชลบุรี ได้มีการประกาศยกเลิกเขาพื้นที่ภัยแล้งแล้ว ขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำที่เก็บกัก เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 15 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 133 แห่ง เพิ่มขึ้นมา 1 แห่ง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนการคาดการณ์พื้นที่ประกาศเสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมากจากกรมอุตุนิยมวิทยาวันนี้ ไม่มีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก ด้านแผนที่ปริมาณความชื้นในดินของกรมทรัพยากรน้ำ พบว่าบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ มีความชื้นในดินน้อยกว่าพื้นที่ภาคอื่นๆ มีปริมาณ ค่าความชื้นในดินอยู่ระหว่าง 0-20% และในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน มีค่าปริมาณค่าความชื้นในดินอยู่ระหว่าง 20-40% ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ มีปริมาณ ค่าความชื้นในดินอยู่ระหว่าง 40-60% ซึ่งกรมฝนหลวงและ การบินเกษตร จะเร่งดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อที่จะช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยหน่วยปฏิบัติการฯ จ.ตาก ขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณ อ.เมือง บ้านตาก จ.ตาก อ.เมือง บ้านด่านลานหอย ศรีสำโรง คีรีมาศ จ.สุโขทัย และ อ.อมก๋อย ฮอด ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ทางด้านหน่วยปฏิบัติการฯ จ.พิษณุโลก วางแผนขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณ จ.กำแพงเพชรและจ.พิจิตร พื้นที่ภาคกลาง หน่วยปฏิบัติการฯ จ.กาญจนบุรี ขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณ อ.ห้วยกระเจา เลาขวัญ พนมทวน ท่ามะกา หนองปรือ จ.กาญจนบุรี อ.อู่ทอง ด่านช้าง สามชุก หนองหญ้าไซ ดอนเจดีย์ เดิมบางนางบวช เมือง จ.สุพรรณบุรี อ.ลานสัก สว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเทียน อ่างเก็บน้ำห้วยท่าเดื่อ อ่างเก็บน้ำกระเสียว ด้านหน่วยปฏิบัติการฯ จ.ลพบุรี ในช่วงเช้าไม่สามารถขึ้นบินปฏิบัติการได้ เนื่องจากสนามบินติดภารกิจในการใช้พื้นที่ หากเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว ทางหน่วยปฏิบัติการฯ พร้อมขึ้นบินปฏิบัติการทันที พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ขอนแก่น มีแผนขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณ จ.ขอนแก่นตอนล่าง และ อ.ท่าลี่ เมือง จ.เลย หน่วยปฏิบัติการฯ จ.นครราชสีมา ขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคบริเวณ อ.บัวใหญ่ บัวลาย ประทาย จ.นครราชสีมา ด้านหน่วยปฏิบัติการฯ จ.อุบลราชธานี บินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณ จ.อุบลราชธานี และ จ.ศรีสะเกษ ส่วนหน่วยปฏิบัติการฯ จ.สุรินทร์ ขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณ อ.ปทุมรัตต์ เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม อ.ชุมพลบุรี ท่าตูม จ.สุรินทร์ และ อ.คูเมือง แคนดง สตึก จ.บุรีรัมย์