อาเซียนเป็นพลังของความหลากหลายของผู้คน เชื้อชาติ วัฒนธรรม และทรัพยากร ผนึกมิตรภาพความสัมพันธ์ และการเชื่อมต่อนานาประเทศ มีมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก คาดกันว่าในอีกไม่นานเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนจะติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ในด้านการศึกษาซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างคน พัฒนาประเทศก็เชื่อมต่อกัน ในแต่ละปีจึงมีหนุ่มสาวนานาชาติเดินทางมาศึกษาต่อในประเทศไทยจำนวนมาก มาเปิดความฝัน กับ 4 หนุ่มสาว หลักสูตรปริญญาโทวิศวกรรมโยธา นานาชาติ ในรั้วคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ธนายุต วัฒนประเสริญกูล หรือ แคมป์ หนุ่มไทยจากชลบุรี วัย 25 ปี ผู้มีฝันที่จะเปลี่ยนสังคมด้วยนวัตกรรม เผยว่า “รู้สึกภูมิใจครับที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนและได้จัดประชุมผู้นำอาเซียนซัมมิท ต้อนรับ 10 ประเทศเมื่อเร็วๆนี้ ผมชอบคำพูดหนึ่งที่ว่า วิศวกรรมเปลี่ยนโลก อาเซียนวันนี้และอนาคตจะขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยี จากเดิมเราเดินทางด้วยรถทางถนนกับเครื่องบิน แต่เดี๋ยวนี้ระบบรางเข้ามาช่วยพัฒนาระบบขนส่งเมืองและระหว่างเมืองมากขึ้น ในอนาคตจะมีไฮเปอร์ลูปเป็นอีกทางเลือก ที่นี่ผมได้รับทุนการศึกษา 60 ปี ของรัชกาลที่ 9 ตลอดการศึกษาในหลักสูตรปริญญาโทวิศวกรรมโยธา นานาชาติที่คณะวิศวะมหิดล โดย 1 ปี เรียน Course Work แล้วจึงทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง นาโนฟิล์มเคลือบผิววัสดุที่ยืดหยุ่น ซึ่งผมได้ก้าวข้ามกฎเดิมๆที่ฟิล์มจะเคลือบอยู่บนผิวแข็งเท่านั้น เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและท้าทายมากครับ ชีวิตช่วงศึกษาที่คณะวิศวะมหิดล ผมรู้สึกอบอุ่นด้วยมิตรภาพจากเพื่อนนานาชาติ Eco-System ที่นี่ช่วยกระตุ้นให้เราคิดสร้างสรรค์และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ในอนาคตผมอยากเป็นวิศวกรออกแบบอาคารสูงที่เด่นด้วยดีไซน์ ใช้พลังงานสะอาดและวัสดุใหม่ๆ ที่ทำให้อาคารและเมืองน่าอยู่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ซัมดานี่ อาซาด หนุ่มวัย 25 ปี จากบังคลาเทศ ดินแดนริมอ่าวแบงกอลที่กำลังก้าวเป็นฮับผลิตอุปกรณ์แกดเจ็ทแห่งหนึ่งของโลก คุยกับเราว่า "ผมมุ่งมาเรียนที่ประเทศไทย เพราะได้ยินมาแต่เด็กจากคุณพ่อ ซึ่งเป็นวิศวกรอยู่ที่ เชฟรอน พูดถึงประเทศไทยว่าเป็นแดนแห่งรอยยิ้ม คนไทยมีน้ำใจอารี ผมเลือกมาเรียนวิศวกรรมโยธาที่วิศวะมหิดล เพราะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยและมีความเป็นสากล ถึงจะเป็นสังคมที่แตกต่างจากบ้านผมทั้งศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม แต่ถือเป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่ดีที่สุดของผมเลยครับ แวดล้อมด้วยอาจารย์ที่ดี เพื่อนคนไทยและหลายประเทศ ผมยังได้ไปร่วมงานประชุม-สัมมนาระดับนานาชาติ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักวิจัย ตื่นเต้นที่ได้เจอตัวจริงนักวิชาการชื่อดังที่ผมเคยอ่านผลงานของเขา อย่างเช่น ศาสตราจารย์ไลน่า (Leina), ศาสตราจารย์คาร์ลอส เกอเดส โซอาเรส (Carlos Guedes Soares) ความประทับใจอีกอย่าง คือได้ร่วมทีมทำวิจัย กับมหาวิทยาลัยในเครือ European Union เรื่อง "การประเมินอายุการใช้งานของโครงสร้างฐานรากเสาเดี่ยวนอกชายฝั่งเมื่อพิจารณาผลการกัดกร่อนร่วมกับความล้า'' แล้วนำผลงานไปเสนอในงานประชุมแผ่นดินไหวแห่งเอเซีย หรือ Asia Conference on Earthquake ) โดยได้รับความสนใจอย่างท่วมท้น และเป็นประโยชน์ต่อการทำฟาร์มพลังงานลมในชายฝั่งทะเล และแท่นสำรวจขุดเจาะก๊าซ-ปิโตรเลียมในเอเซียด้วย ประสบการณ์ที่ได้รับจากเมืองไทย ผมจะนำไปใช้พัฒนาสังคมและประเทศครับ” วาย เพียว ลิน หรือ สตีเฟน หนุ่มน้อยจากประเทศเพื่อนบ้านเมียนมา วัย 23 ปี ที่มาใช้ชีวิตในเมืองไทยตั้งแต่ปริญญาตรี คุยให้ฟังถึงการใช้ชีวิตและศึกษาในประเทศไทยว่า “ ผมมองว่าในอนาคตอาเซียนจะยิ่งเจริญก้าวไกล ด้วยความเข้าใจกันและกัน ผสมผสานความแตกต่างอย่างลงตัว ให้เป็นพลังสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ การมาศึกษาต่อป.โทที่วิศวะมหิดล ผมสนุกกับการทำโครงการที่สร้างสรรค์ร่วมกับเพื่อนๆ มีชาวไทย 3, ภูฐาน 1, เมียนมา 4, บังคลาเทศ 1 และเนปาล 1 ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน ผมทำวิจัยเรื่อง การคำนวณต้นทุนโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบทในประเทศไทย ที่นี่สอนให้ผมใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทางวิศวกรรมที่ก้าวหน้า อย่างเช่น เทคโนโลยี BIM หรือ Building Information Modeling ในการสร้างแบบจำลองวิศวกรรม ออกแบบ คำนวณโครงสร้างและทดสอบ คำนวณราคา การจัดซื้อ จนถึงวางแผนงานต่างๆ ช่วยประหยัดพลังงาน เวลาและมีประสิทธิภาพมาก การมาเรียนในไทยทำให้ผมเจอสิ่งใหม่ๆ ผมชอบไอเดียดีไซน์ของตึกมหานคร ที่คล้ายจิ๊กซอว์ ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวเข้ากับโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยพลัง ผมภูมิใจที่ได้รับเลือกเป็น Brand Ambassdor ของบัณฑิตวิทยาลัย ทำให้มีโอกาสช่วยเหลือด้านวิชาการ และกิจกรรมแก่รุ่นน้อง แม้จะจบการศึกษาแต่ยังมีคอนเนคชั่นจากเพื่อนๆในหลายประเทศฃน เพิ่มประสิทธิภาพขยายเน็ตเวิร์คข่าวสาร ความร่วมมือกันในธุรกิจการทำงานของผมในอนาคตด้วยครับ” สุภานี จริตไทย หรือ อิน นักศึกษาสาวไทยวัย 29 ปี ในบุคลิกสดใสและเปี่ยมพลัง มองว่า “วิศวกรยุคใหม่ต้องมี Life-Long Learning เรียนรู้ตลอดชีวิต และไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาทักษะความรู้ เพราะการสร้างนวัตกรรมต้องใช้พหุศาสตร์มาเปลี่ยนแปลงพัฒนาแทบทุกธุรกิจอุตสาหกรรม อินได้ร่วมทำวิจัยโครงการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าศาลายา ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก สวทช.เป็นเมืองในฝันที่จะนำความเจริญก้าวหน้า การคมนาคมขนส่งและสิ่งแวดล้อมที่ดีสู่ชุมชนศาลายา ในอนาคตอินอยากจะทำงานบริหารงานก่อสร้าง ซึ่งในบ้านเราและภูมิภาคอาเซียนยังเติบโตเร็วและมีโครงการก่อสร้างอีกมาก ทำอย่างไรจะดีไซน์อาคารให้เข้ากับลักษณะของพื้นที่ มั่นคง ประหยัดพลังงาน ทันสมัยและปลอดภัย สอดคล้องวิถีชีวิตชุมชนและมิติความยั่งยืน มหิดลเป็น Green University ที่ร่มรื่น ทันสมัย การศึกษาที่เปิดกว้าง ทำให้คนรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์และแก้ไขปัญหา ควบคู่กับการเสริมสร้างทักษะประสบการณ์ตรง ความรู้ไม่ได้มีเพียงในตำรา อย่างเช่น การดูงานระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน ไม่เพียงได้เรียนรู้ TBM หัวขุดเจาะทันสมัย แต่ว่ามีเรื่องน้ำใต้ดิน แรงต้านในพื้นดินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ที่สำคัญกระตุ้นให้เราเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมด้วย อนาคตอยากใช้พลังเล็กๆของเราและเพื่อนๆ ช่วยเหลือสังคมค่ะ อินเคยไปสอนหนังสือเด็กกำพร้าบ้านหทัยรัก คลองสามวา รู้สึกได้เลยว่าการศึกษาจะช่วยสร้างชีวิตและอนาคตที่ดีให้กับเด็กไทยและอาเซียนอีกมากค่ะ”