เตือนเข้าพรรษางด-เลิกอย่าหักดิบป้องอาการถอนพิษ แนะปรึกษาหมอ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติเผยผลสำรวจพฤติกรรมดื่มสุราของประชากร พ.ศ.2560 พบอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรอบปีที่แล้ว 15.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 28.4 โดยดื่มสม่ำเสมอ 6.98 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 12.5 ดื่มนานๆ ครั้ง 8.91 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 15.9 ในกลุ่มอายุ 25-44 ปี มีอัตราดื่มสูงสุด ร้อยละ 36 อายุ 20-24 ปี ดื่มร้อยละ 33.5 อายุ 45-49 ปี ดื่มร้อยละ 31.1 ผู้สูงวัย อายุ 60 ปีขึ้นไป ดื่มร้อยละ 15.2 และเยาวชน อายุ 15-19 ปี ดื่มต่ำสุด 13.6 อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผู้ติดสุราจะเสี่ยงโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า 2.1-4.8 เท่า โรคจิต 6 เท่า ลักษณะอาการถอนพิษสุรา คือ ผู้ที่ติดหรือดื่มหนักมากหรือดื่มติดต่อกันหลายวัน เมื่องดหรือหยุดดื่มจะเกิดอาการขาดสุรา หากเกิดระดับไม่รุนแรงมักเกิดขึ้นใน 2-3 ชั่วโมงหลังหยุดดื่ม จะเริ่มวิตกกังวล กระวนกระวาย เบื่ออาหาร มือสั่น ใจสั่น อาการจะเริ่มหายไปใน 48 ชั่วโมง ส่วนอาการขาดสุรารุนแรง มักเกิดหลังงดหรือหยุดดื่ม 12-48 ชั่วโมง เริ่มสับสนอย่างมาก มือสั่น ตัวสั่น นอกจากนี้ ยังมีไม่น้อยมีอาการถอนพิษสุรารุนแรง ในวันที่ 3-4 ของการงดดื่ม ทำให้เพ้อ สับสน หูแว่ว ประสาทหลอน หวาดระแวง หลงผิด หรือชักได้ ทั้งนี้ แนะนำผู้ที่ตั้งใจจะงดเหล้าช่วงเข้าพรรษานี้ ควรจะค่อยๆ ลดปริมาณดื่มลงเรื่อยๆ ก่อนที่จะงด โดยเริ่มลดตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันเข้าพรรษา 17 ก.ค. ก็จะเลิกหรือหยุดดื่มได้อย่างที่ตั้งใจ ป้องกันไม่ให้เกิดอาการถอนพิษรุนแรง แต่หากต้องการงดหรือหยุดดื่มทันทีก็สามารถทำได้ ซึ่งต้องไปพบแพทย์ก่อนวันที่จะเริ่มงด โดยแพทย์จะให้ยารับประทาน เพื่อลดเกิดอาการถอนพิษสุรารุนแรง โดยโทรปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323