นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุข้อความว่า...
สวัสดีวันพุธที่ 10 ก.ค. 62 ครับ สองสัปดาห์ก่อนนี้ มีข่าวเรื่องการแย่งชิงตำแหน่ง รมว.กระทรวงพลังงาน ในกลุ่มสส.และผู้บริหารพรรค พปชร. มีการวิจารณ์ในสื่อและวงการต่างๆ เหมือนแต่ละคนจะมาหาประโยชน์ส่วนตัวจากงานของกระทรวงพลังงาน และสามารถหาประโยชน์ได้มากและง่าย เกิดความหมายและคำถามว่า กระทรวงพลังงาน ภาคพลังงานของไทยไร้ระบบที่จะรักษาผลประโยชน์ของชาติ ของประชาชน จนใครๆที่มามีอำนาจ ก็จะบงการได้อย่างง่ายดาย อย่างนั้นหรือ ในฐานะที่ผมเคยเป็น รมว.กระทรวงพลังงาน ขอเรียนว่าระบบกลไกต่างๆ ของภาคพลังงานของไทย ได้มีการสร้างกันขึ้นมาหลายสิบปี จนเป็นภาคเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมากที่สุดภาคหนึ่งของเศรษฐกิจไทย เป็นที่ยกย่องว่าเป็นหนึ่งใน ASEAN ดูได้จากรางวัลการประกวดความสามารถของกิจการพลังงาน ASEAN โดยไทยได้รางวัลมากที่สุดทุกปี และเป็นที่ยกย่อง ยอมรับในนานาสากลด้วย เป็นความจริง ที่มีกรณีที่มีผู้มีอำนาจบางคนสร้างประโยชน์ให้ตนเองในบางโอกาสในอดีตและอาจมีอีกในอนาคต แต่ขอเรียนว่าจะทำได้ยาก ถ้าจะทำต้องมีเจตนา และมีความสามารถพิเศษ แต่ถ้าจะทำดี ซึ่งก็คงมีคนอยากทำดี จะทำได้ง่ายกว่า ภาคพลังงานไทย มีระบบ มีกลไกอะไรที่สร้างเสริม ความแข็งแรง ที่เป็นฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย ภาคพลังงานมีสองส่วน คือไฟฟ้า และเชื้อเพลิง ซึ่งก็คือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ในวิชาเศรษฐศาสตร์พลังงาน ไม่ว่าชาติใดก็มีเป้าหมายเรื่องพลังงานเหมือนกัน คือจะต้องมี 3A Available - มีไฟฟ้า มีเชื้อเพลิงให้ประชาชนใช้ทุกที่ ทุกเวลา Affordable - ราคาที่ทุกคนในประเทศสามารถซื้อหาได้ Acceptable - ระบบผลิตและจำหน่ายเป็นที่ยอมรับได้ ในการสร้าง A ทั้งสาม แต่ละประเทศจะดำเนินการไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้นมีพลังงานเหลือใช้ (Surplus) หรือไม่พอใช้ (Deficit) ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพลังงานไม่พอใช้ ทั้งเชื้อเพลิง และไฟฟ้า เพราะฉะนั้นจึงต้องสร้างภาคพลังงานให้เหมาะกับไทย ในการสร้างภาคพลังงาน เรามีบุคคลที่สมควรยกย่องอยู่หลายท่าน เริ่มตั้งแต่ ศจ.บุญรอด บิณฑสันต์ อดีตอาจารย์วิศว. จุฬา ฯ และเป็นอธิการบดีด้วย ท่านเป็นผู้เริ่มสร้าง Concept ของการพัฒนาภาคพลังงาน และมีคุณเกษม จาติกวณิช อดีตผู้ว่ากฟผ. ที่สร้างวัฒนธรรมองค์กรของ กฟผ.จนเป็นเสาหลักของการผลิตและส่งไฟฟ้า มี ดร.ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ ที่เริ่มสร้างปตท. มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ พลเอกเปรม จนปตท.เป็นบริษัทน้ำมันชั้นนำของโลก กระทรวงพลังงานรับผิดชอบทั้งไฟฟ้าและเชื้อเพลิง ในส่วนของเชื้อเพลิง เนื่องจากไทยต้องใช้น้ำมันนำเข้าวันละกว่า 1 ล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติวันละประมาณ 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต ราคาซื้อจึงต้องอิงกับราคาตลาดโลก ซึ่งก็อิงกับราคาประกาศที่ Saudi Arabia ราคาขายปลีกก็อ้างอิงจากราคาโรงกลั่นที่สิงคโปร์ ถ้าจะกำหนดให้ราคาต่ำกว่านั้น รัฐบาลก็ต้องอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งก็มาจากประชาชนทั้งประเทศ จึงไม่เป็นธรรม ราคาตลาดจ่ายโดยผู้ใช้เชื้อเพลิง ใครใช้ใครจ่ายเหมาะสมกว่า การจัดหาเชื้อเพลิงโดยปตท. เปิดเผย โปร่งใส เพราะเป็นบริษัทมหาชน ทำอะไรไม่ถูกต้องธรรมาภิบาล ผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่ รายเล็ก เล่นงานตาย มีผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบันต่างชาติมากด้วย พวกนี้มีระบบตรวจสอบเข้มยิ่งกว่ารัฐบาลไทยเสียอีก ราคาขายปลีก จะรวมภาษีและค่าต่างๆ ขึ้นอยู่กับนโยบาย ตอนผมรับผิดชอบ น้ำมันเบนซินและดีเซลจะต้องเสียภาษีสรรพสามิตเหมือนกัน LPG ก็ควรต้องเสีย เพราะมีการเอา LPG ที่จริงเป็นก๊าซหุงต้มไปใช้ในรถยนต์ เพราะเคยราคาถูกกว่าน้ำมันมาก เพราะไม่เสียภาษีสรรพสามิต แถมได้รับการอุดหนุนด้วย ตอนผมอยู่ก็ได้ปรับราคาให้เป็นธรรมแล้ว อีกนโยบายหนึ่งก็คือ เสถียรภาพของราคา โดยการใช้ การเก็บ การจ่ายเงินเข้าหรือออกจากกองทุน ซึ่งบางระยะติดลบ บางระยะก็ติดบวก ตอนผมเข้าไปเป็นรมว. กองทุนติดลบอยู่ประมาณสองหมื่นล้าน พอดีราคาน้ำมันลด มีการเพิ่มเงินเข้ากองทุน ภายในหนึ่งปี กองทุนกลายเป็นบวกเกือบสี่หมื่นล้าน และมีนโยบายส่งเสริมการใช้เอทานอล ที่ทำจากพืช ทั้งมันสำปะหลังและน้ำตาล โดยทำให้ราคาต่ำกว่าน้ำมันที่ไม่ได้ผสม คือเก็บภาษีน้อยกว่า ที่ต้นทุนเอทานอลแพงเพราะค่าเชื้อเพลิงต่ำ เพราะเป็น Carbon ใหม่ ค่าความร้อน ความแรงจึงไม่เท่าน้ำมันและก๊าธรรมชาติ เพราะเป็น Carbon เก่าสะสมมาเป็นเวลาหลายพันหลายหมื่นปี เวลามีการปรับเปลี่ยนราคา ปตท.และบางจาก จะเป็นผู้นำในการประกาศราคาขายปลีก โดยน้ำมันเจ้าอื่นก็จะปรับเปลี่ยนราคาตาม การสำรวจ การให้สัมปทานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ก็จะมีการวิจารณ์กันว่าจะมีการแสวงหาประโยชน์ ขอเรียนว่าประเทศไทยไม่มีหรือมีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติน้อยจริง ๆ ดูได้จากการที่เราแทบจะไม่มีบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของโลกอยู่ในประเทศไทยเลย มี Chevron ซึ่งก็คงจะเป็นบริษัทสุดท้าย เมื่ออายุสัมปทานเขาหมด สรุปคือ ภาคเชื้อเพลิงของไทยเข้มแข็งดีแล้ว ใครจะมาทำให้เสียได้ยาก ที่สำคัญคือเคยมีขบวนการจะตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ คงจะมาแทนปตท. อันนี้เสียหายแน่ ท่านประชาชนต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ไม่ให้มีใคร หรือคณะบุคคลใดมาสร้างขึ้นมา ส่วนเรื่องไฟฟ้า เรามีนโยบายให้เอกชนมาร่วมผลิตนานแล้ว โดยมีกฟผ.เป็นหลัก กฟผ.เองก็ไปตั้งบริษัทไฟฟ้าเอกชน เช่น บริษัทราชบุรี และ EGCO มีการให้เอกชนสร้างโรงไฟฟ้า เริ่มจากนิคมอุตสาหกรรม สมัยท่านนายกเปรม เพราะกฟผ.ตอนนั้นผลิตไม่ได้มากพอ และนิคมก็ต้องใช้ทั้งไฟฟ้าและไอน้ำ โรงไฟฟ้าเลยผลิตทั้งสองอย่าง เรียกว่า Co-gen ต่อมาก็มีการอนุญาตให้เอกชนผลิตมากขึ้น ทั้งการใช้เชื้อเพลิงปกติ และที่เป็น Renewable เป็นโครงการ IPP และ SIPP แล้วแต่ขนาดของกำลังการผลิต การจะอนุญาตให้เอกชนผลิตไฟฟ้า ไทยก็มีระบบ ตั้งแต่การกำหนดแผนการผลิตไฟฟ้าระยะยาว โดยกก.นโยบายพลังงานแห่งชาติ – กพช. – ใบอนุญาตการผลิต มีกรรมการกำกับกิจการพลังงาน – กกพ. ซึ่งเป็นองค์กรกึ่งอิสระ คือเป็น Regulator ตั้งขึ้นสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ ปี 2550 โดยผู้ริเริ่มคือดร.ปิยะสวัสดิ์ อัมรานันท์ ตามหลักการที่ว่างานกำกับ ควรแยกกับงานนโยบายและงานบริการซึ่งจะอยู่ที่กระทรวงพลังงาน โดยกกพ.ก็กำกับราคาที่เอกชนจะขาย ให้ภาครัฐที่เป็นผู้ซื้อไฟฟ้า ซึ่งราคานี้จะต่างกัน จากแหล่งผลิตที่ต่างกัน กกพ.จะนำมาเฉลี่ยโดยการถ่วงน้ำหนักและออกมาเป็นค่าไฟฟ้า ที่คนไทยทั้งประเทศใช้ราคาเดียวกัน ค่าไฟที่ถูกสุด คือจากถ่านหินที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ราคาไม่ถึงหกสลึงต่อหน่วย ไฟฟ้าจากลาวแพงขึ้นหน่อย ตามมาด้วยก๊าซธรรมชาติ พวก Renewable ต่าง ๆจะแพงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Solar รุ่นแรก ที่รัฐบาลบวกเงินแถมให้ เพราะตอนนั้นต้นทุน Solar แพง ตอนหลังต้นทุนถูกลง ใครได้ใบอนุญาตทำ Solar แรกๆ ก็จะได้ประโยชน์มาก ที่ทำอย่างนี้เพราะสังคมเรียกร้องให้ผลิตไฟฟ้าจาก Renewable เมื่อระบบที่มี Regulator เป็นแบบนี้ ใครจะหาประโยชน์ส่วนตัวจากการให้ใบอนุญาต ถึงยังอาจจะทำได้แต่ก็ไม่ง่าย ก.พลังงานยังมีอีกกองทุนหนึ่ง เรียกว่ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน ที่กระทรวงบริหารอยู่ กองทุนนี้มีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมจากน้ำมัน เคยเก็บลิตรละสลึง ปีที่แล้วลดลงมาเหลือลิตรละสิบสตางค์ ส่วนมากรายได้แต่ละปีก็ประมาณ 9,000 ล้านบาท รายจ่ายใช้ไปช่วยหน่วยงานต่าง ๆ อนุรักษ์พลังงาน เช่นเปลี่ยนระบบเครื่องปรับอากาศ เปลี่ยนหลอดไฟเป็น LED จัดพลังงานทดแทนให้ชุมชนต่าง ๆ งบประมาณเคยเป็นประมาณ 7,000 ล้านบาท ตอนหลังเพิ่มอีกจากโครงการไทยนิยม โดยใช้เงินสะสม การอนุมัติโครงการก็มีระบบ มีกรรมการ มีรอง นรม.เป็นประธาน กระทรวงพลังงานจะทำเองไม่ได้ ใครจะหาเสียงโดยเอาโครงการต่าง ๆ มาขอเงินก็ยังอาจทำได้ แต่ก็ไม่ง่ายเช่นกัน สรุปคือระบบการบริหารจัดการภาคพลังงานไทยจัดไว้ดี มี Regulator คือ กกพ. แยกกับงานนโยบายและบริการ มีกรรมการต่าง ๆ ทำงาน ที่กระทรวงพลังงานก็มีกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน – กบง. ที่จะตัดสินใจทำอะไร เสนออะไร ก็มีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมประชุม ร่วมตัดสินใจ และยังต้องไปถึงระดับรัฐบาลคือ กพช. จึงน่าจะทำให้พวกเราประชาชนชาวไทย มีความเชื่อมั่นในภาคพลังงานพอสมควร แต่ก็ยังต้องคอยเฝ้าระวัง คอยร้องเรียนเมื่อเห็นเหตุการณ์ใด ที่ส่อไปในทางการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว ไม่ว่าจะโดยนักการเมืองหรือข้าราชการ หรือผู้บริหารรัฐวิสาหกิจก็ตาม สวัสดีครับ
ขอบคุณภาพ : Facebook ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี