รู้ผลกันไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับ การเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติของประเทศกรีซ ซึ่งมีขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ผลปรากฏว่า บรรดาพลพรรคของ “ประชาธิปไตยใหม่” หรือ “นิวเดโมเครซี (New Democracy Party)” ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน คว้าชัยได้รับคะแนนเสียงจากผลโหวตของประชาชีชาว “เทพนิยาย” อันเป็นนิกเนมของประเทศกรีซ ไปด้วยจำนวนร้อยละ 39.85 เหนือกว่า พรรค “ซีริซา” หรือ “พันธมิตรซ้ายสุดขั้ว (Syriza : Coalition of The Radical Left) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ที่ได้คะแนนเสียงคิดเป็นร้อยละ 31.53 จากคะแนนเลือกตั้งที่ออกมา ก็ทำให้บรรดาผู้สมัครของพรรคประชาธิปไตยใหม่ สามารถตบเท้าเข้าสู่ “สภาเฮลเลนนิก” หรือ “รัฐสภา” ตามการเรียกขานสภาของประเทศทั่วไป ไปด้วยจำนวนที่นั่งของ ส.ส. 158 ที่นั่ง เกินกึ่งหนึ่งจากจำนวนทั้งสิ้น 300 ที่นั่ง ทั้งนี้ ที่นั่ง ส.ส. ชุดใหม่ที่ได้มาของพรรคประชาธิปไตยใหม่ ฝ่ายค้าน ก็ต้องบอกว่า มากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ที่ได้จำนวน 75 ที่นั่ง หรือเพิ่มขึ้นมาถึง 83 ที่นั่ง ประชาชนชาวกรีซกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปไตยใหม่ มาร่วมตัวที่สำนักงานใหญ่ ในกรุงเอเธนส์ ก่อนโบกธงสัญลักษณ์ของทางพรรคฯ หลังทราบผลการเลือกตั้ง ขณะที่ “ซีริซา” พรรครัฐบาล เหลือที่นั่ง ส.ส.ในสภาเฮลเลนนิก จำนวน 86 ที่นั่ง ลดลงจากการเลือกตั้งหนที่แล้ว จำนวน 59 ที่นั่ง ก็บ่งบอกได้ว่า พรรคซีริซา ถลาลงไปเป็น “ฝ่ายค้าน” แทนที่ “พรรคประชาธิปไตยใหม่” ในอีกไม่กี่อึดใจต่อไปนี้อย่างแน่นอน นายอเล็กซิส ซิปราส หัวหน้าพรรคซีริซา ผู้กำลังจะกลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของกรีซ หลังพรรคของเขาพ่ายแพ้เลือกตั้ง พร้อมๆ กับ “นายอเล็กซิส ซิปราส” หัวหน้าพรรคซีริซา ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ก็มีอันต้องเตรียมเป็นผู้นำฝ่ายค้าน มิอาจนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลในกรุงเอเธนส์ ได้อีกสมัย ต้องปล่อยให้ “นายกีเรียกอส มิตโซทากิส” หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ คว้าเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศกรีซ ไปนั่งแทน บรรดานักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะว่า ผลเลือกตั้งที่ออกมายังชี้ด้วยว่า พรรคการเมืองที่มีแนวคิดแบบ “ขวากลาง (Centre - Right)” คือ อนุรักษ์นิยม หวนกลับมาปกครองแดนเทพนิยายอีกคำรบ หลังถูกสยบไปชั่วคราวจากผลการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ที่พรรคการเมืองแนวคิด แบบ “ฝ่ายซ้าย” คือ “ซีริซา” เป็นฝ่ายคว้าชัย เหตุปัจจัยที่ทำให้เทพนิยาย เกิดกลับกลาย เป็น “ฟ้าเปลี่ยนสี” ที่พรรคประชาธิปไตย หวนทวงคืนกลับมาผงาดในเวทีการเมืองของกรีซกันอีกครั้งนั้น ก็มาจากสาเหตุหลายประการด้วยกัน โดยสาเหตุที่ว่า บรรดานักวิเคราะห์ล้วนบอกตรงกันเป็นเสียงเดียวว่า เป็นความผิดพลาดของนายซิปราส หลังขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ตลอดช่วง 4 ปีก่อนด้วย ที่ไปรับปากให้คำมั่นสัญญาเป็นประการต่างๆ ที่มากเกินไป และคำมั่นสัญญาในบางข้อ ก็ยากที่จะทำตามได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่จะยุติการดำเนิน “นโยบายปรับลดงบประมาณรายจ่าย” หรือ “มาตรการรัดเข็มขัด” หลังเป็นรัฐบาลแล้ว เป็นอาทิ ที่ปรากฏว่า เมื่อมาบริหารประเทศจริงๆ ก็ไม่สามารถทำได้ตามที่ให้คำมั่นสัญญา เพราะกรีซ ยังต้องดำเนินตามที่เหล่าเจ้าหนี้ ซึ่งกรีซ มีกลุ่มเจ้าหนี้รายใหญ่ แบบ 3 ประสาน คือ สหภาพยุโรป ธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ จัด “ยาแรง” ดำเนินมาตรการที่เข้มงวด เช่น การควบคุมงบประมาณรายจ่ายของกรีซ ในการช่วยเหลือด้านการเงินแก่กรีซ ที่ประสบกับภาวะหนี้เน่า จนกลายเป็นต้นตอของวิกฤตหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศยูโรโซน แต่เหตุปัจจัยที่เปรียบเสมือนจุดแตกหัก อันทำให้พรรคซีริซาของนายกรัฐมนตรีซิปราน พ่ายแพ้เลือกตั้งครั้งนี้อย่างไม่เป็นท่า ก็คือ การไม่สามารถแก้ไขปัญหาการว่างงานของผู้คนในประเทศได้ แม้ว่าตลอดระยะเวลาของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งว่า ตนเองมีผลงานในการแก้ไขปัญหาการว่างงาน จนทำให้มีคนตกงานน้อยลง ทว่า แท้จริงแล้ว ประชาชนจำนวนไม่น้อยยังคงไม่มีงานทำ คือ อัตราการว่างงานยังคงสูงอยู่ ประชาชนชาวกรีซ ต่อแถวรอลงทะเบียนว่างงาน และขอสมัครงานในสถานประกอบการอาชีพต่างๆ นอกจากนี้ ยังมี “ฟางเส้นสุดท้าย” คือ ความล้มเหลวในการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจ ที่นอกจากไม่ได้ทำให้ดีขึ้นแล้ว เศรษฐกิจของกรีซ ก็ยังดิ่งเหวหายนะหนักกว่าเก่า ส่งผลให้เป็นเหตุปัจจจัยที่ให้นายซิปราส พ่ายแพ้เลือกตั้ง ในที่สุด ว่ากันในส่วนของว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ นายมิตโซทากิส ก็เตรียมที่จะประกอบพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่ง พร้อมๆ กันนี้ เขาก็ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะเริ่มแก้ไขสะสางวิกฤติเศรษฐกิจของกรีซเป็นลำดับแรก ด้วยมาตรการต่างๆ อาทิ การลดภาษีให้แก่ภาคเอกชนที่จะมาลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนกับภาครัฐ การระดมเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ รวมถึงการเจรจากับบรรดดาเจ้าหนี้ เพื่อให้ไฟเขียวเรื่องการลงทุนในกรีซให้เพิ่มขึ้น หลังจากที่ซบเซาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งก็ต้องติดตามผลงานบริหารประเทศของว่าที่นายกฯ ใหม่ของกรีซนับจากนี้ ถืว่า มีความสำคัญ ในฐานะต้นกำเนิดของวิกฤติหนี้เน่ายูโรโซนจนสะท้านไปทั้งภูมิภาค และสะเทือนไปทั่วโลกกันมาแล้ว วิกฤติหนี้สาธารณะของกรีซ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปทั่วโลก นอกเหนือจากภูมิภาคยุโรป