ส่งออกหดตัวสูง 5 เดือนติดลบ 5% คาดทั้งปีติดลบ 1.6% ไทยพาณิชย์ปรับตัวเลขจีดีพีเหลือ 3.1% จากเดิม 3.3% ระบุสงครามการค้ามีโอกาสประทุต่อ ฉุดการลงทุนทั่วโลกสะดุด ห่วงบาทแข็งเชื่อ ธปท.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.75 ในปี 62 มั่นใจหากจัดตั้งรัฐบาลสัปดาห์นี้จะช่วยดึงความเชื่อมั่นนักลงทุน นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)เปิดเผยว่า ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจลดลงเหลือร้อยละ 3.1 จากเดิมที่คาดขยายตัวร้อยละ 3.3 หลักๆมาจากการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง จากผลกระทบทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ทำให้ส่งออกรอบ 5 เดือนที่ผ่านมาติดลบร้อยละ 5 ทำให้ปีนี้อีไอซีปรับตัวเลขมูลค่าส่งออกติดลบร้อยละ 1.6 จากเดิมที่คาดขยายตัวร้อยละ 0.6 . ทั้งนี้เป็นมาจากผลกระทบสงครามการค้า ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศต่างๆให้ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะจีน ทำให้คาดว่าปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะปรับลดลง ทำให้ปรับตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้ เหลือ 40.1ล้านคน ซึ่งขยายตัว 4.8% จากเทียบกับการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ผ่านมาที่ขยายตัวระดับ 8-9% อย่างไรก็ตามด้านการลงทุนในประเทศมีการชะลอตัว เนื่องจากการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อการส่งออก รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนที่เกี่ยวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับจากผลกระทบจากมาตรการกำกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ หรือแอลทีวี ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนใหม่ และขออนุญาตก่อสร้างลดลงแล้ว นอกจากนี้หากดูการใช้จ่ายในประเทศ พบว่าการบริโภคเอกชนยังมีการชะลอตัว ทั้งจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และราคาสินค้าเกษตรที่ซบเซา เช่นเดียวกันการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว และคาดว่าอาจหดตัวต่อในระยะถัดไปได้ ดังนั้นคาดว่า การลงทุนภาครัฐน่าจะเป็นส่วนหนุนภาพเศรษฐกิจให้เติบโตได้ เพราะคาดการลงทุนภาครัฐปีนี้ขยายตัวที่ระดับร้อยละ 7 จากการลงทุนต่อเนื่องในโครงสร้างพื้นฐาน คาดว่าในช่วงปลายปีอาจเห็นภาครัฐ ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นออกมา เพื่อประคองเศรษฐกิจให้เติบโตในครึ่งปีหลังได้ โดยครึ่งปีหลังมีความไม่แน่นอนอยู่เยอะมาก เพราะโดยเฉพาะสงครามการค้าที่มีความไม่แน่นอนสูง เพราะข้อเรียกร้องระหว่างกันเยอะมาก ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ถือเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนสูง โดยโอกาสที่อาจเห็นมีหลายแนวทาง ทั้งการเจรจาต่อเนื่องที่อาจเห็นต่อไปหรือการยุติข้อเจรจามีความเป็นไปได้ถึง 25% เพราะสหรัฐฯไม่ต้องการให้เรื่องนี้กระทบไปถึงปีหน้าที่จะมีการเลือกตั้งในสหรัฐฯ "มีโอกาสที่ 2ฝ่ายจะประณีประนอมเกิดขึ้น อาจตกลงกันได้บางประเด็น แต่ยังมีหลายด้านที่ยังแข่งขันกันต่อไป ระยะยาวยังคงเจรจากันต่อไป ขณะเดียวกันมีโอกาสประทุขึ้นมาอีกครั้ง ดังนั้นความไม่แน่อนยังอยู่ในระดับสูง" ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีเฉลี่ย 5% หากย้อนไป 5 ปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินแข็งค่าขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 13 ยอมรับว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกเป็นอย่างมาก ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยมาจากไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อจีดีพี ถือว่าสูงมาก ที่ผ่านมาค่าเงินบาทถูกมองเป็นสกุลเงินที่มีความปลอดภัยในการลงทุน จึงมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนต่อเนื่อง ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คงจะดำเนินนโยบายการเงินด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ ร้อยละ 1.75 ในปี 2562 แต่ ธปท.ต้องดูแลเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้าย รวมถึงการสนับสนุนให้นำเงินไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างของค่าเงินบาท ขณะที่สถานการณ์การเมืองที่ยังไม่แน่นอนสูงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่เชื่อว่าภายในสัปดาห์นี้จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสร็จทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หากมีการประกาศนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ชัดเจนออกมาว่าจะสามารถดำเนินนโยบายที่ต่อเนื่อง “โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะเน้นกระตุ้นระยะสั้นและการช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปีนี้ที่จะใช้ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มองว่าเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้ต้องมีเม็ดเงินอย่างน้อย 20,000 ล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ” ขณะที่ความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ล่าช้าไปประมาณ 3 เดือน มองว่า อาจจะทำให้มีผลกระทบต่อเม็ดเงินการลงทุนใหม่ๆที่จะเข้ามา แต่เชื่อว่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้นเท่านั้นเพราะรัฐบาลยังสามารถใช้กรอบวงเงินเดิมจากงบประมาณปีปัจจุบัน เพื่อใช้ในการลงทุนและเบิกจ่ายได้ต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 1 ปีหน้า