เอ่ยชื่อ “จอร์จ โซรอส” นามนี้ หลายคนทั่วโลก รวมถึงไทยเรา ส่วนใหญ่มองเขาในภาพลักษณ์เชิงลบอื้อฉาวกระฉ่อนโลกคนหนึ่ง ถึงขั้นมองเป็น พ่อมด หมอผี ในทางเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน จากการที่เข้าไปไล่ทุบ ไล่ถอง ค่าเงิน ผ่านกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ในหลายๆ ประเทศ แม้กระทั่ง “ค่าเงินบาท” ของไทยเราเอง จนเป็นหนึ่งในที่มาสาเหตุของ “ต้มยำกุ้ง” ชื่อ “วิกฤติเศรษฐกิจ” เขย่าขวัญสั่นประสาทกันไปทั่ง จนเขาได้รับสมญานามว่า เป็น “พ่อมดทางการเงิน” ดังที่ใครๆ คุ้นหู ติดปาก กันเป็นอย่างดี แต่ ณ ปัจจุบัน ผู้ได้รับฉายาว่าเป็น “พ่อมดทางการเงิน” ที่ว่า ก็หวนมาพลิกบทบาทจากด้านเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน มาสนับสนุนด้าน “สันติภาพ” คือ ความสงบสุข ให้บังเกิดบนโลกใบนี้ ภายหลังจากเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นายโซรอส ได้สถาปนา “กองทุน” หรือ “มูลนิธิ” เพื่อสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยขึ้น มีชื่อเรียกว่า “โอเพน เดโมเครซี เฟาน์เดชันส์ (Open Democracy Foundations)” และองค์กรมูลนิธิเพื่อการเปิดกว้างทางสังคม ชื่อว่า “โอเพน โซไซตี เฟาน์เดชันส์ (Open Society Foundations)” ไปก่อนหน้า ล่าสุด เขาได้จับไม้ ร่วมมือกับ “นายชาลส์ ค็อค” นักธุรกิจเจ้าของกิจการ ที่อาจกล่าวได้ว่า เป็นอาณาจักรอุตสาหกรรมด้านน้ำมัน ปศุสัตว์ และปุ๋ย ของสหรัฐฯ โดยกลุ่มบริษัทของเขาถูกยกให้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศเลยทีเดียว นั่นคือ “ค็อค อินดัสตรีส์ (Koch Industries)” ร่วมกันก่อตั้ง กลุ่มทำงานในลักษณะ “คลังสมอง” หรือ “ธิงค์แทงค์” ถังความคิด ในการศึกษาวิจัย และให้แนวทางการสร้างสันติภาพโลกให้บังเกิดขึ้น นายชาลส์ ค็อค โดยกลุ่มทำงานข้างต้นมีชื่อว่า “ควินซี อินสติติว ฟอร์ เรสพอนซิเบิล สเตตคราฟต์ (Quincy Institute for Responsible Statecraft)” หรือถ้าแปลเป็นไทยก็อาจได้ความว่า “สถาบันควินซีเพื่อศิลปการปกครองประเทศอย่างมีความรับผิดชอบ” ทั้งนี้ สถาบันดังกล่าว ก็เรียกกันสั้นๆ ว่า “สถาบันควินซี (Quincy Institute)” เบื้องต้น ทั้งนายโซรอส มหาเศรษฐีอันดับที่ 60 และนายค็อค มหาเศรษฐีอันดับที่ 11 ของโลกตามการจัดอันดับของ “ฟอร์บส์” ได้บริจาคเพื่อสถาปนาสถาบัน ด้วยจำนวนเงินคนละ 5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นปฐมก่อน หลังจากนั้น ได้มีกลุ่มผู้บริจาครายอื่นๆ เข้าร่วมสมทบอีก 8 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มเติมในเวลาต่อมา สถานที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ ก็อยู่ที่ “กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.” เมืองหลวงของสหรัฐฯ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคน แสดงทรรศนะว่า ไม่ผิดอะไรกับท้าทายรัฐบาลวอชิงตัน ทางการสหรัฐฯ เพราะอยู่ในนครกรุงไกรเดียวกับ “ทำเนียบขาว” คือ “วอชิงตัน ดี.ซี.” เลยทีเดียว สัญลักษณ์ของ “สถาบันควินซี อินสติติว ฟอร์ เรสพอนซิเบิล สเตตคราฟต์” ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินการของสถาบันแห่งนี้ ต้องบอกว่า “สวนทาง” กับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยในการดำเนินการของ “สถาบันควินซี” ซึ่งได้รับการจากนายโซรอส ที่มีแนวคิดแบบซ้าย และนายค็อค ที่มีแนวคิดแบขวานั้น ก็จะเป็นการระดมสมองของบรรดานักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งหลาย ในการศึกษาวิจัย เพื่อ “ต่อต้านสงคราม” (Anti War) ซึ่งเบื้องต้น ก็มุ่งพุ่งไปที่สหรัฐฯ ก่อน คือ สนับสนุนส่งเสริมเพื่อนโยบายใหม่ด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ ในอันที่จะไม่ทำสงครามในต่างแดนอีกต่อไป ทั้งนี้ ทาง “สถาบันควินซี” ได้ตั้งเป้าหมายไว้ด้วยว่า อย่างน้อยที่สุด ก็จะให้สัมฤทธิ์ผลในช่วง 25 ปีสุดท้ายคริสต์ศตวรรษนี้ ที่แนวทางการต่อต้านสงครามจะบรรลุผล คือ ถูกบรรจุไว้ในนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ในอันที่จะส่งผลให้โลกบังเกิดสันติภาพขึ้น ภายหลังจากที่สหรัฐฯ ได้มีส่วนสำคัญต่อการทำสงครามในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก เช่น ที่อิรัก อัฟกานิสถาน ซีเรีย และที่ลิเบีย ซึ่งกำลังทำสงครามกลางเมือง ณ เวลานี้ เป็นอาทิ กองทัพสหรัฐฯ เข้าไปปฏิบัติภารกิจสงครามในประเทศต่างๆ เช่น อิรัก เป็นต้น ที่มาที่ไปของสถาบันก็สังเกตได้จาก “ชื่อ” คือ “ควินซี” ก็มาจากนาม “ประธานาธิบดีคนที่ 6 ของสหรัฐอเมริกา” คือ “นายจอห์น ควินซี แอดัมส์” ซึ่งดำรงตำแหน่งในระหว่างปี พ.ศ. 2368 (ค.ศ. 1825) ถึง พ.ศ. 2372 (ค.ศ. 1829) โดยประธานาธิบดีผู้เป็นบุตรของประธานาธิบดี “จอห์น แอดัมส์” หนึ่งในผู้ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็น “บิดาของสหรัฐอเมริกา” รายนี้ ก็มีนโยบายด้านการต่างประเทศ ในอันที่จะช่วยจรรโลงสร้างสรรค์สันติภาพโลกให้บังเกิดขึ้นในเวลานั้น ภายใต้วาทกรรมที่ว่า “สหรัฐอเมริกา จะไม่ไปแสวงหาอาณานิคมในต่างแดนด้วยการทำลายล้างประดุจดังพวกปีศาจ” สวนทางแตกต่างจากบรรดามหาอำนาจโลก ในเวลานั้นที่กำลังคลั่งไล่ล่าอาณานิคมในต่างแดนอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง “จอห์น ควินซี แอดัมส์” ประธานาธิบดีคนที่ 6 ของสหรัฐอเมริกา