ทิศทางบรรยากาศหุ้นไทย (8-12ก.ค.2562) ยังมีความผันผวนให้เห็นเป็นระยะ โดยเฉพาะการกลับมาออ่อนค่าของค่าเงินบาทไทย ที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาสามารถยื่นทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ 30.52 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงหนุนจากสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอ อย่างไรก็ดีเงินบาททยอยกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงต่อมา ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนบางส่วนจากแรงซื้อคืนเพื่อปรับโพสิชันก่อนการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย"สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า ระหว่างวันที่ 8-12 ก.ค. 2562 ธ.กสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.50-30.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจในประเทศน่าจะอยู่ที่การจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ประกอบด้วย สัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ จากสุนทรพจน์ของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูงอื่นๆ ในระหว่างสัปดาห์ ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.ของจีน และทิศทางการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทยกลับมาปิดปลายสัปดาห์ที่ 1,731.23 จุด เพิ่มขึ้นเพียง 0.05% จากสัปดาห์ก่อน (แม้ว่าระหว่างสัปดาห์จะแตะระดับสูงสุดรอบ 9 เดือนครั้งใหม่ที่ 1,747.53 จุด) ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 70,177.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.55% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai เพิ่มขึ้น 0.25% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 364.48 จุด ขณะที่"บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด" มองว่า ระหว่างวันที่ 8-12 ก.ค. 2562 ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,715 และ 1,700 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,745 และ 1,765 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ สถานการทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงของประธานเฟดและเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.ของจีน ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย. ของญี่ปุ่น รวมถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. ของยูโรโซน เช่นเดียวกับ"วิจิตร อารยะพิศิษฐ"ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทย ระหว่างวันที่ 8-12 ก.ค. 2562ต้องติดตามเรื่องสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากในการประชุมจี 20 ของผู้นำทั้ง 2 ประเทศมีทิศทางบวก รวมถึงการแถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ของ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ว่าจะส่งสัญญาณนโยบายดอกเบี้ยอย่างไร รวมทั้งจับตาการเมืองในประเทศ หลังนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานคาดว่าผลประกอบการจะออกมาไม่ดีนัก ให้หลีกเลี่ยง โดยประเมินแนวรับสัปดาห์หน้าที่ 1,710 จุด แนวต้านที่ 1,750 จุด