กรมประมง เผยไทยหลุดพ้น แหล่งฟอกปลา IUU ของโลก สั่งทุกด่านคุมเข้มนำเข้าสัตว์น้ำ มั่นใจผลักดันให้การประมงไทยสู่ประมงโลกมุ่งสู่ความยั่งยืน เมื่อวันที่ 6 ก.ค.62 นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่าจากปริมาณการนำเข้าสัตว์น้ำของประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณความต้องการวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตส่งออก และความต้องการในการบริโภคในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นและยังมีการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำโดยไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดกระแสการร้องเรียนจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย ถึงความเดือนร้อนของผู้ประกอบการไทยที่มีต้นทุนในการผลิตที่สูงกว่าวัตถุดิบที่นำเข้า มีการร้องเรียนของผู้บริโภคถึงความปลอดภัยของสัตว์น้ำที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศว่ามีความปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรการที่กำหนดหรือไม่ ทั้งนี้ภายใต้นโยบาย IUU Free THAILAND และ Food Safety ของประเทศไทยที่ได้มีการประกาศและแสดงเจตนารมย์ไว้ เพื่อให้การประมงไทยทั้งจากการจับจากธรรมชาติและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมุ่งสู่ความยั่งยืนซึ่งเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกแล้ว หลักสำคัญอีกประการหนึ่งคือการสร้างความเป็นธรรมและโปร่งใสทางธุรกิจ ซึ่งจะคุ้มครองผู้ประกอบการในการแข่งขันทางธุรกิจ และผู้บริโภคที่มีสินค้าที่บริโภคได้อย่างปลอดภัยในราคาที่เป็นธรรม ช่วงที่ผ่านมาได้เพิ่มประสิทธิภาพระบบการนำเข้าสัตว์น้ำของไทย โดยเริ่มจากสัตว์น้ำที่มีการนำเข้ามาในประเทศไทยทางเรือ โดยใช้ “เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ” เนื่องจากสามารถบรรทุกได้ในปริมาณมากและมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการขนส่งประเภทอื่น ทำให้มีการขนถ่ายในช่องทางนี้เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทูน่า” ซึ่งประเทศไทยเป็น “ตลาดนำเข้าทูน่า” ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายใต้มาตรการ PSMA กรมประมงได้มีการตรวจสอบสัตว์น้ำที่มากับเรือขนถ่ายทุกลำว่ามีการขนสัตว์น้ำจาก เรือจับลำใด มีการทำประมงในช่วงไหน แหล่งใด ทำการประมงผิดกฎหมายหรือไม่ โดยมีการประสานงานกับรัฐเจ้าของธง รัฐชายฝั่ง หรือ RFMO อย่างใกล้ชิด เพื่อขอ “หลักฐาน” ที่จะสามารถยืนยันความถูกต้องของสัตว์น้ำเหล่านั้น อาทิเช่น ข้อกฎหมาย พิกัดสัญญาน VMS/AIS ใบอนุญาตการจับสัตว์น้ำ ตลอดจนกรมประมงยังได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นกับองค์กรต่างๆ ที่เฝ้าจับตามการประมง IUU ในน่านน้ำต่างๆ เช่น FFA ที่ดำเนินการอยู่ในมหาสมุทรแปซิกฟิก หรือ Fish-I- Afarica ที่ดูแลในพื้นที่บริเวณชายฝั่งแอฟริกา เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสัตว์น้ำที่เข้าสู่ประเทศไทยเป็นสัตว์น้ำที่ปลอดจากการทำประมง IUU “ผลการดำเนินงานประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการจับเรือประมงต่างชาติที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นเรือ IUU ถึง 5 ลำ และมีการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าประมงที่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนพอที่จะให้เชื่อมั่นได้ว่าไม่ได้มาจากการทำประมง IUU ไปแล้วประมาณ 400 ตัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ได้รับการยอมรับว่าประเทศไทยมีการปฎิบัติตามพันธกรณี ภายใต้ PSMA ที่ได้มีการลงนามให้สัตยาบันไว้ และทำให้ประเทศไทยหลุดจากข้อกล่าวหาว่าเป็น “แหล่งฟอกปลา IUU ของโลก” ซึ่งส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง”อธิบดีกรมประมง กล่าว จากความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการที่ช่วยควบคุมเรือประมง หรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ทั้งประเทศมาเลเชีย เวียดนาม พม่า ที่จะเข้ามาเทียบท่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีทางการควบคุมการทำประมงและส่งผลต่อการเจรจาความร่วมมืออื่นๆ ต่อไปในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามหากยังคงมีการลักลอบและเรายังคงไม่สามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยจะถูกเพื่อนบ้านประนามได้ว่า “สนับสนุนการประมง IUU” สิ่งเหล่านี้คงเป็นประเด็นที่ต้องฝากให้ทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องช่วยกันเฝ้าระวัง มาตรการ PSMA ที่มีผลบังคับใช้ทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2560 ทำให้กลไกในการต่อต้าน IUU มีประสิทธิภาพมากขึ้น กระแสการนำสัตว์น้ำ IUU ไปในช่องทางอื่นเริ่มมีขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีการนำสัตว์น้ำ IUU ไปขึ้นท่าเทียบเรือในประเทศที่มาตรการ PSMA ยังไม่มีประสิทธิภาพ และนำสัตว์น้ำขนถ่ายขึ้นตู้คอนเทนเนอร์และส่งออกทางเรือบรรทุกสินค้า ทำให้ประเทศต่างๆ เริ่มจับตามองสินค้าประมงที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์น้ำที่มาจากประเทศที่ไม่ได้รับความเชื่อถือ ส่งผลให้ประเทศที่นำเข้าสินค้าจากประเทศเหล่านี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษ ประเทศไทยก็ถูกเพ่งเล็งเช่นเดียวกันจากประวัติการทำการประมงในช่วงที่ผ่านมา จากสภาพการณ์ดังกล่าวกรมประมงได้นำหลักการของ PSMA เข้ามาใช้ในการตรวจสอบสินค้าที่มาในลักษณะตู้คอนเทนเนอร์ด้วย โดยได้มีการตรวจสอบไปยังรัฐเจ้าของท่าที่มีการนำสัตว์น้ำขึ้นท่า รัฐชายฝั่ง และรัฐเจ้าของธงเรือจับ เพื่อขอหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าสัตว์น้ำนั้นไม่ได้มาจากการทำประมง IUU เช่นดียวกับมาตรการ PSMA และการแจ้งพิกัดการนำเข้าทางพิธีศุลกากร เป็นสิ่งหนึ่งที่กรมประมงให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นสิ่งที่จะก่อให้การแข่งขันที่เป็นธรรมในประเทศ ผลจากดำเนินการในช่วงที่ผ่านมากรมประมงได้มีการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำไปทั้งสิ้น 58 ตู้ น้ำหนักประมาณ 1,160 ตัน และมีดำเนินคดีและการริบสัตว์น้ำที่นำเข้าไปทั้งสิ้น 3 ตู้ จำนวน 60 ตัน นอกจากนี้ สัตว์น้ำที่มาจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำยังถูกควบคุมเป็นพิเศษ ภายใต้มาตรการควบคุมการระบาดของโรคสัตว์น้ำ กรมประมงให้ความเข้มงวดกับการควบคุมสัตว์น้ำที่นำเข้าภายใต้ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ เพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์น้ำที่นำเข้ามาไม่ได้เป็นพาหะของโรคที่จะส่งผลต่อการเพาะเลี้ยงของประเทศไทย ซึ่งช่วงที่ผ่านมากรมประมงมีการตรวจพบโรคทำให้มีการยึดและทำลายสัตว์น้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาสวยงามที่มีราคาแพง เช่น ปลาคราฟ ซึ่งในปี พ.ศ.2562 มีการจับทำลาย 12,000 ตัว คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5 แสนบาท และมีการสั่งให้ผู้นำเข้าทำลายโดยใช้ความร้อน จำนวน 9 ตู้ น้ำหนักประมาณ 180 ตัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค กรมประมงได้จัดทำระบบการติดตามเฝ้าระวัง โดยสุ่มตรวจสินค้าสัตว์น้ำที่นำเข้าทุกชนิดว่าจะสารตกค้างที่มีปริมาณเกินกว่ามาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนดหรือไม่ ซึ่งมีการตรวจสอบสารตกค้าง 5 ชนิด ดังนี้ คอลแรมแฟนิคอล กลุ่มไนโตรฟูแรน มาลาไคท์กรีน และลูโคมาลาไคท์กรีน ตะกั่ว และปรอท โดยหากพบว่ามีแนวโน้มที่จะเกินเกณฑ์ที่กำหนดจะเริ่มใช้มาตรการควบคุมอย่างเคร่งครัดตามความจำเป็น เช่น ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า “ปลาช่อนมีชีวิต” ที่นำเข้าพบว่ามีสารตกค้างกลุ่มไนโตรฟูแรน มาลาไคท์กรีน และลูโคมาลาไคท์กรีน เกินเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด กองควบคุมการค้าสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต กรมประมง ได้ชะลอการนำเข้าเป็นการชั่วคราว และแจ้งให้ผู้ประกอบการนำเข้าต้องมีแสดงหนังสือรับรองสุขอนามัยหรือรายงานผลการทดสอบประกอบการนำเข้า แต่อย่างไรก็ตามถึงมีเอกสารดังกล่าว กรมประมงยังคงมีการสุ่มตรวจและถ้าพบว่ามีปริมาณสารตกค้างเกินเกณฑ์ที่กำหนด เอกสารรับรองดังกล่าวจะหมดความน่าเชื่อถือลงไป และหากผู้ประกอบการจะนำเข้าต้องมีการอายัดสินค้าไว้จนกว่าจะมีผลการตรวจสอบว่าสินค้ารุ่นนั้นมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคจึงจะสามารถนำออกจำหน่ายได้ แต่หากยังคงมีพบสารตกค้างอยู่ กรมประมงจะแจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสั่งดำเนินการทำลายต่อไป "ภายใต้มาตรการต่างๆ ที่กล่าวมาจะช่วยให้การประมงของไทยและของโลกมุ่งไปสู่ความยั่งยืนและเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนที่ทำอย่างถูกต้อง เพราะเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าการทำประมง IUU เกินกว่าทรัพยากร ไร้การรายงานและควบคุมก่อให้เกิดการล่มสลายของการประมง ตลอดจนสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศถึงความปลอดภัยในการบริโภคที่ได้รับและการมีส่วนช่วยในการผลักดันให้การประมงของโลกมุ่งไปสู่ความยั่งยืนและเป็นสมบัติของลูกหลานในอนาคต"นายอดิศร กล่าว