“ธปท.”เอาจริงหารือ “ลิบรา”ร่วมเฟซบุ๊ก พร้อมตั้งทีมศึกษาโดยเฉพาะ ป้องกันนำไปใช้ในช่องทางไม่สุจริต ย้ำต้องศึกษาให้รอบคอบก่อนเข้าลงทุน ชี้เสี่ยงสูง น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงิน และเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า ตามที่ในปี 2563 เฟซบุ๊กมีแผนจะเปิดให้บริการ Libra หรือเฟซบุ๊คคอยน์ ซึ่งเป็นระบบเงินเสมือนนั้น กระแส Libra ทำให้เกิดการตื่นตัวทุกภาคส่วนในประเทศ ทั้งในมุมของผู้ให้บริการ ภาคเอกชน ประชาชน รวมถึงหน่วยงานที่กำกับดูแล เพราะทางเฟซบุ๊กพยายามจะสร้างบริการที่จะช่วยลดต้นทุนในการโอนเงินหรือการชำระเงินข้ามประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยบริการที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจใช้เวลานานและมีต้นทุนสูง ดังนั้น Libra จะเข้ามาตอบโจทย์ในส่วนนี้ว่าทำให้ประสิทธิภาพการโอนเงิน การชำระเงินข้ามประเทศทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกมากขึ้น ลดต้นทุน และระยะเวลาลง จากที่เคยต้องผ่านตัวกลางหลายทอดจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งเขาพยายามจะแก้ไขในส่วนนี้ ทั้งนี้ในฐานะที่ ธปท.เป็นหน่วยงานกำกับดูแลไม่ได้นิ่งนอนใจกับกระแสดังกล่าว ล่าสุดได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อศึกษารายละเอียดของ Libra ให้เข้าใจถึงกลไกการทำงานของระบบนี้และติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด ล่าสุด ธปท.ได้รับการติดต่อจาก บริษัทเฟซบุ๊ก เพื่อเข้ามาหารือร่วมกันในรายละเอียดต่งๆร่วมกันในเร็วๆนี้ สำหรับที่ผ่านมาได้ศึกษาและติดตามพัฒนาการข่าวสารต่างๆ รวมถึงใน white paper ที่ออกมาด้วยอย่างละเอียด เพื่อทำความเข้าใจ model ที่ออกแบบมาเป็นอย่างไร ใช้การแบบไหน เราต้องเข้าใจกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูว่ามีจุดที่เราจะต้องเป็นห่วงในจุดไหนบ้าง พร้อมตั้งทีมขึ้นมาศึกษา เพราะเรื่องนี้ไม่ได้แค่เกี่ยวข้องกับการโอนเงิน ชำระเงิน แต่เกี่ยวข้องกับ FX ด้วย และเกี่ยวข้องกับบริบทของภาคสถาบันการเงินด้วย เราจะมีฝ่ายกฎหมายที่เข้ามาช่วยดูกฎเกณฑ์ต่างๆ “จากในเบื้องต้นที่ได้ศึกษาเรื่อง Libra ธปท.ให้ความสำคัญกับหลายมิติ ทั้งในแง่ของความปลอดภัยของระบบ ความเสถียรของระบบ ตลอดจนข้อกำหนดต่างๆที่อาจนำไปสู่การใช้ในช่องทางที่ไม่สุจริต ที่สำคัญคือการดูแลผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการหากประสบปัญหาจะมีช่องทางใดที่ลูกค้าสามารถติดต่อหรือร้องเรียนได้ เป็นต้น” โดยเรื่องนี้ยังต้องมีอีกหลายรายละเอียดที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม มองว่าคงไม่ใช่แค่ประเทศเราประเทศเดียว ต้องมีประเทศอื่นๆที่ Libra จะครอบคลุมหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้นกฎเกณฑ์การดูแล หรือเรื่องสภาพเศรษฐกิจ บริบทของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน จะสามารถทำให้ระบบนี้ให้บริการได้อย่างทั่วถึงทั่วโลกได้อย่างไร เป็นมิติที่เราต้องดูในรายละเอียดเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้มีข้อแนะนำไปยังประชาชน และภาคธุรกิจว่าไม่ควรเร่งด่วนตัดสินใจในการเข้าไปใช้บริการหรือเข้าไปลงทุน แต่ควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด และติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิดให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงหรือความเสียหายที่จะอาจเกิดขึ้นตามมาในอนาคต