ความตอนที่แล้วได้กล่าวถึงเรื่องคนหัวเก่าคนหัวใหม่ไว้เป็นเบื้องต้นพอสมควร มาว่าต่อด้วยเรื่องเลือกตั้งท้องถิ่น ที่เป็นเรื่อง “คนในอยากออกคนนอกอยากเข้า” หมายถึง คนใหม่ ๆ ที่กระสันอยากเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ ในขณะที่คนเก่า ๆ ที่อยู่เดิมอาจเฉย ๆ หรือไม่กระตือรือร้น ประมาณว่า จะเอาอย่างไรก็ได้ หรือรับได้หมดในทุกสถานการณ์ แต่คนเก่าบางคนเริ่มหวั่นไหวต่อสิ่งใหม่ที่อาจเกิดขึ้น หรือที่กำลังจะมาถึง เช็คข่าววันเลือกตั้งท้องถิ่น ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ไม่นิ่งและสับสนปนเป ความไม่ค่อยมั่นใจในรัฐบาลผสม 19 พรรคที่เป็นรัฐบาลผสมที่มากพรรคที่สุด เพราะที่ผ่านมารัฐบาลผสมมากพรรคมีอายุเฉลี่ยที่ 1.5 ปี เท่านั้น ข่าวการเลือกตั้งท้องถิ่นจึงไม่แน่นอน เพราะรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญนัก เนื่องจากมีเรื่องอื่นสำคัญมากกว่า นอกจากนี้ในกระแสข่าวมีการโยนลูก โดย กกต. ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้เสนอความเห็นวันเลือกตั้ง ต่อ คสช. หรือ ครม. ตามข่าวคงอีกนาน คาดหมายว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นช่วงแรกเริ่มได้หลังเดือนตุลาคม 2562 ไป ช่วงที่สองเดือนธันวาคม 2562 หรือ มกราคม 2563 และช่วงที่สามเดือนมีนาคม 2563 เป็นช่วง ๆ ที่ต้องเว้นระยะเวลาเพื่อรอผลประกาศการเลือกตั้งในแต่ละช่วงไว้ด้วย ที่การเลือกตั้งจะเริ่มจาก (1) กทม. และ อบจ. (2) เทศบาล และ เมืองพัทยา (3) อบต. นี่เพียงแค่ข่าวที่ยังไม่แน่นอน แต่กระแสข่าวโดยเฉพาะ อบจ. เริ่มการไหวตัวลงพื้นที่หาเสียงกันแต่ไก่โห่แล้ว เลือกตั้งช้าๆ คนเก่ายิ่งชอบ ในกระแสความล่าช้าในการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น นัยว่ากลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นเดิมที่เป็นคนเดิมในพื้นที่ได้ผลประโยชน์เต็ม ๆ มาตลอดกว่าสี่ปีแล้ว โดยเฉพาะในอำนาจการบริหารการพัสดุจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธี “เฉพาะเจาะจง” วงเงินโครงการละ 5 แสนบาท ที่มากกว่าตกลงราคาเดิมเพียง 1 แสนบาท หรือ โครงการอีบิดดิ้งที่เกินกว่า 10 ล้านบาท ที่เป็นโครงการใหญ่ ๆ ที่ต้องใช้ความชำนาญและเครื่องจักรกลเฉพาะ เช่น งานลาดยาง งานสะพาน เพราะมีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายทั้งประเทศแบ่งงานกันทำ นอกจากนี้การได้รับมอบอำนาจให้ใช้จ่ายเงินสะสม (จ่ายขาด) ในอีกหลาย ๆ โครงการ แม้บางโครงการจะถูกทักท้วงว่ามีปัญหาทางเทคนิคที่ไม่ควรดำเนินการก็ยังได้รับการส่งเสริมให้ทำ เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและการช่วยเหลือเกษตรกรราคายางพาราที่ตกต่ำ คือ โครงการ “ถนนดินซีเมนต์ หรือ ถนนยางพาราดินซีเมนต์” (Para rubber soil cement or Para Modified rubber Latex Soil Cement Road) การยังคงให้ผู้บริหารท้องถิ่นคนเดิมปฏิบัติหน้าที่จึงเป็นทั้งผลประโยชน์ต่อผู้บริหารชุดเดิมและต่อกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ เป็นความกลัวของนักการเมืองเดิมที่เกรงว่าหากมีการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือ “การปลดล็อกการเลือกตั้ง” เมื่อใดก็จะเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งใหม่ เพราะที่เป็นอยู่เดิมไม่ต้องนับวาระใด ๆ และได้รับอานิสงค์เต็ม ๆ จากการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องเสียงแรงไปลงสนามเลือกตั้งที่อาจพลาดท่าสอบตกได้ ที่ต่างจากยุคของนายกรัฐมนตรีคนก่อน ๆ ที่มีการปรับบัญชีเงินเดือนสวัสดิการให้ข้าราชการ คนราชการท้องถิ่นจึงพลอยได้อานิสงค์จากการขึ้นเงินเดือน หรือการให้ตำแหน่งเพิ่ม ขยายอัตราตำแหน่งสูงให้ หรือให้เงินเดือนปริญญาตรีหมื่นห้า เป็นต้น คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า ในสนามแข่งขันเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น เมื่อเสียงฉิ่งเชิดเริ่มบรรเลง เมื่อเขาเหล่านั้นได้ลงสนามแล้ว จะแพ้ไม่ได้ เป็นนัยว่าต้องมีการสูญเสีย ทั้งกำลังทรัพย์ และแรงกาย และยิ่งเมื่อเขาเข้ามาแล้ว เส้นทางไม่ราบรื่น ไม่เป็นตามคาดหวัง บรรดานักการเมืองเหล่านี้ ก็จะสถาปนา “ระบอบอุปถัมภ์ใหม่” ขึ้นมา เมื่อมีบทบาทมีอำนาจ จึงลืมเสียสิ้นซึ่งอุดมการณ์ความตั้งใจเดิมที่มี ทำให้บันไดประชาธิปไตย ประชาสังคม และเครือข่ายประชาธิปไตย จึงเกิดยาก เพราะอำนาจที่บอกว่าได้กระจายแล้วนั้น “มันกระจุก” อยู่ในบางที่ไม่ได้ลงไปสู่ประชาชนและประชาสังคม (Civil Society) แต่อย่างใด ประหนึ่งว่าเอาอำนาจไปให้ “ผู้ครอบงำ” เท่านั้น อำนาจไม่ได้เป็นของเวทีประชาสังคมที่ต้องเป็นผู้ใช้อำนาจที่แท้จริง ที่ผ่านมาประสบการณ์การเมืองท้องถิ่นได้สอนและให้บทเรียนแก่ชาวบ้านและข้าราชการส่วนท้องถิ่นในหลายอย่าง ผู้บริหารท้องถิ่นหลายคนเอาแบบอย่างเดิมของตนเองในครอบครัวมาใช้ที่สำนักงานท้องถิ่น (อปท.) เช่น เรื่องความสัมพันธ์นายจ้างกับลูกจ้าง นายกับบ่าว เจ้าหนี้กับลูกหนี้ ครูกับศิษย์ พ่อปกครองลูก หัวหน้าแก๊งกับลูกแก๊ง ฯลฯ หรืออาจหนักไปอีก คือ พ่อเล้า เจ้าพ่อ รวมถึงเกิดวัฒนธรรมทำตามกันไป ลอกแบบเอาอย่างตามกัน ลามไปทั่วจาก อปท. ในตำบล อำเภอ จังหวัด ไปทั่วประเทศ เพราะการสื่อสารสมาคมร่วมกันในระหว่าง อปท. ต่าง ๆ ที่หลากหลายและถี่ขึ้น รวมถึงบรรยากาศสมานฉันท์ ญาติมิตรสนุกสนานบันเทิงในองค์กร โดยเฉพาะ อปท.เล็ก ๆ นัยว่าเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไปเลย ในอีกมุมกลับบรรยากาศเช่นนี้ได้เสริมสร้างความปรองดองแก่เจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี ไม่ต้องไปห่วงเรื่องผิดจริยธรรมบ้างที่อาจตามมา ในเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การผิดวินัยเล็กน้อย รวมเรื่องอบายมุขและจริยธรรมปกติอื่นใด เพราะสังคมพาไปทำให้ความผูกมิตรกลมกลืนใกล้ชิดกันระหว่างเจ้านายลูกน้องแนบแน่นขึ้น ที่ร่วมหอลงโลงด้วยกันจนเป็นพวกเดียวกันได้ ช่างเป็นบรรยากาศที่ชวนสนุกในการทำงานมาก มานานหลายปี แต่หากบรรยากาศเหล่านี้เปลี่ยนตรงข้าม หรือขาดบรรยากาศดังกล่าวลงไปบ้าง จนถึงขาดไปมากเมื่อใด บรรยากาศในการทำงานของเจ้าหน้าที่หาได้เป็นอย่างเดิมไม่ อาจเกิดสภาพการทำงานที่ติดขัด ระวังตัวแจ เหมือนอยู่ในสภาพ “ผู้คุมกับนักโทษ” จากบรรยากาศเดิมที่ “กระดี๊กระด๊า” กลับกลายเป็น “เกาเหลา” ที่คอยถูกจ้องจับผิดในการทำงานไป เป็นปัญหาในแต่ละท้องที่ที่ต่างกัน จะเรียกว่าเป็นจุดเด่นเฉพาะของท้องถิ่นก็ได้ ความผูกพันกันเป็นพวกร่วมหัวจมท้าย เป็นตัวตายตัวแทนกันได้ ที่ไม่ต้องไปพะวงเรื่องการจัดฮั้ว การล็อบบี้ผลประโยชน์(จัดให้)อย่างใดเลย ที่มองว่าปกติ ทั้งการจัดเต็ม จัดหนัก การสนองศรัทธาทั้งหลาย วิถีดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่นพวกเขาคิดอะไรกันอยู่ คนทั่วไปอาจสงสัยกันว่าในชุมชนบ้านนอกเล็ก ๆ หรือในชุมชนใหญ่ ที่เป็น อปท. ขนาดใหญ่ชาวบ้านคิดเหมือนกันไหม หมายความว่า ความกระตือรือร้น และวิถีชีวิตในการดำรงชีวิตแตกต่างกันหรือไม่ คำตอบก็คือ แตกต่างกันแน่นอน เพราะคนบ้านนอก ชนบท สังคมเล็กกว่า ทำให้เกิดกลุ่มคนที่จะมาทำงานรับใช้สังคมแตกต่างจาก “สังคมเมือง” เพราะสังคมบ้านนอกเล็กๆ อยู่กันแบบฉันท์พี่น้อง คนอายุน้อยจะไปทำงานนอกบ้าน ไปเรียนหนังสือในเมือง หรือไปทำงานต่างจังหวัด แล้วส่งเงินให้พ่อแม่ที่อยู่ทางบ้าน คนหนุ่มสาวเหล่านี้จะกลับบ้านอีกครั้งเมื่อแก่ตัว หรือไปมีครอบครัวอยู่ต่างท้องที่ก็มี ส่วนในเมืองใหญ่ที่ไม่มีการใช้ชีวิตแบบบ้านนอก คนทั่วไปจะไม่สนิทแนบแน่นเป็นเหมือนพี่เหมือนน้องกัน แม้บ้านอยู่ชิดติดกันก็ไม่สนิทชิดเชื้อกัน เพราะต่างดิ้นรนหากินกันแบบต่างคนต่างอยู่ ไม่เกื้อกูลสนิทกันเหมือนสังคมชนบทบ้านนอก เมื่อสูงวัยขึ้น ก็ยิ่งห่างเหินกันมากขึ้น เพราะความไม่รู้จักกัน เป็นปัญหาสังคมว่า “ผู้สูงอายุในเขตเมืองจะถูกทอดทิ้ง” มากกว่าสังคมชนบท ในมุมมองนี้ จะพบว่า ผู้ที่จะอาสามาทำงานให้ท้องถิ่นได้ในชุมชนเขตชนบท กับชุมชนแตกต่างกัน กล่าวคือ นักการเมืองในชนบทจะเป็นพวกคนที่เป็นพ่อค้า ผู้รับเหมาในพื้นที่ หรือคนกว้างขวางในพื้นที่ที่รู้จักคนในพื้นที่ดี ซึ่งส่วนใหญ่มิใช่คนหนุ่มสาวในวัยทำงาน เพราะไปทำงานท้องที่อื่น ส่วนนักการเมืองในเขตเมืองส่วนใหญ่จะมิใช่นักธุรกิจ หรือคนทำงานเอกชน แต่เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ทำงานอย่างอื่นแล้ว เช่น ข้าราชการเกษียณ หรือ ผู้เกษียณจากเอกชน เพราะกลุ่มนักธุรกิจหรือกลุ่มคนทำงานส่วนใหญ่จะไปทำงานบริษัทเอกชนที่มีประโยชน์ตอบแทนที่ดีกว่า และจะทำงานไปจนเกษียณอายุ จึงไม่สามารถอาสามาทำงานให้ท้องถิ่นได้ นี่เป็นความแตกต่าง เป็นประเด็นว่า ในการทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของชุมชนในเขตเมืองกับเขตชนบทย่อมแตกต่างกัน ด้วยประสบการณ์การรับรู้ของผู้บริหารท้องถิ่นที่แตกต่างกัน คนรุ่นใหม่ขออาสาลงสนามเลือกตั้งท้องถิ่น มีกระแสข่าวว่าคนรุ่นใหม่อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและบริหารท้องถิ่น โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ หรือ “เมืองใหญ่” ที่มีการแฝงด้วย “อำนาจของระบบราชการ” มากมาย ซึ่งบางพรรคได้ประกาศข่าวสื่อสารมวลชนแล้วว่า เพื่อต้องการลบภาพว่า การเมืองท้องถิ่นมิใช่การเมืองของผู้มีอิทธิพลหรือหัวคะแนนแบบเก่าๆ นั่นแสดงว่างวดหน้า “สนามท้องถิ่นต้องเปลี่ยน” นักการเมืองท้องถิ่นเจ้าเก่าในพื้นที่ที่ถือว่าเป็น “คนใน” ที่เหนียวแน่นด้วยเครือข่ายและเครือญาติพี่น้อง กำลังถูกท้าทายจากคนรุ่นใหม่ที่เป็น “คนนอก” เป็นที่วิตกว่าคนเก่าในพื้นที่เหมือนกำลังจะมีใครมาเขย่าเก้าอี้จนสั่นไหว เพราะสไตล์การพัฒนาและการบริหารแบบเดิม ๆ ที่ผ่านมามันซ้ำซากช้าเป็นเรือเกลือ ทำเอาบรรดาเจ้าสนามท้องถิ่นออกอาการหนักอกหนักใจกันมาก ด้วยอาการตัดพ้อว่าคนใหม่จะเข้ามาสร้างปัญหาให้ท้องถิ่น และต้องเตรียมปรับแผนป้องกันแชมป์ไว้ด้วย นัยว่าเป็นความหวาดกลัวของกลุ่มคนอำนาจเดิม แม้ว่า ท้องถิ่นยังเป็นที่หมายที่นักการเมืองระดับชาติยังหวงพื้นที่อยู่ แต่ก็ห่วงเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการโครงการตามงบประมาณมากกว่า เช่นข่าวที่ผ่านมางบประมาณด้านการศึกษาเป็นค่าก่อสร้าง-ปรับปรุง ซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบและสิ่งก่อสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมที่ประสบอุบัติภัย งบก่อสร้างสนามฟุตซอล มีการเจาะจงส่งงบประมาณลงไปในพื้นที่จังหวัดที่กลุ่มการเมืองต้องการ เป็นต้น ฉะนั้น การมีนักการเมืองรุ่นใหม่ หน้าใหม่อาสาเข้ามาลงสนาม นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองของท้องถิ่นก็เป็นได้ รอยต่อของอำนาจที่ย้อนแย้งผิดเพี้ยน ประเทศไทยออกกฎหมายมามากจนจำแทบไม่ได้ ยิ่งในช่วงของการปฏิรูปประเทศ รัฐบาล คสช. มีการตรากฎหมายออกมาถึงกว่า 500 ฉบับ ตลอดช่วง 5 ปี ที่ว่ากันว่าไม่ได้ยึดโยงภาคประชาชน ในกฎหมายเก่าที่มีอยู่เดิมนั้นมีทั้งที่ใช้ได้ใช้ไม่ได้ ทั้งบังคับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ทั้งเลือกใช้บ้าง ทั้งที่แอบใช้บ้าง (ไม่ค่อยได้ใช้) ราวกับว่าออกระเบียบกฎหมายมาตามความอยากมีอำนาจของหน่วยงาน และสุดท้ายได้มีการตรากฎหมาย “พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562” เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 77 ด้วยหวังว่าการตรากฎหมายใหม่จะรอบคอบรัดกุมไม่สร้างภาระเกินจำเป็นแก่ประชาชน เพราะมีกระบวนการประเมินผลและการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น แต่อย่าลืมว่า “เวทีท้องถิ่น” นั้น การสร้างความเข้าใจ การสร้างความร่วมมือ จะดีกว่าใช้อำนาจกฎหมายมาบังคับ ในวาระการดำรงตำแหน่งสำคัญของ “หัวหน้าฝ่ายประจำ” โดยเฉพาะปลัด อปท. มีผู้เสนอว่าควรจะอยู่ได้ไม่เกิน 4 ปี ให้ย้ายหรือเปลี่ยนสังกัดคือเวียนกันไป ไม่ว่า อบต.หรือเทศบาล เพราะการอยู่นานอาจเกิดปัญหาต่าง ๆ อาทิ อิทธิพล ทับซ้อนผลประโยชน์ การบริหารรวบอำนาจ เกิดความแตกแยกในสำนักงาน สร้างความอึดอัดให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ นี่ยังไม่รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการอื่นของ อปท. ด้วย ซึ่งแนวโน้มก็ควรจำกัดวาระที่ 4 ปี เช่นกันด้วย ในระบบการสั่งงาน ตามงานแบบขอไปทีที่ไร้ชีวิตจิตใจ การทวงถามติดตามตามงานแบบไม่มีการวางแผน นึกจะทำก็ทำ ไม่มีแบบนโยบายสั่งงานชัดเจน ในโครงการสำคัญ ๆ ของท้องถิ่นหลายโครงการ ไม่ว่า โครงการขยะ โครงการน้ำเสีย โครงการไอทีเอ หรือ โครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA : Integrity Transparency Assessment) เพราะที่ผ่านมา อปท. ประสบปัญหา การสั่งการ (บงการ) จากส่วนกลางแทบทุกเรื่อง ขอเรียกว่า “การประเมินแบบแคปซูล” หรือ “แบบสำเร็จรูป” ที่ไม่มีมุมมองในมิติของท้องถิ่น (อปท.) เป็น “วิชาการแบบสั่งการ” เพราะว่าในบริบทของท้องถิ่นนั้นมีความแตกต่างกันมาก ไม่เหมือนกัน การกำหนดเกณฑ์หรือมาตรฐานใดเป็นการทั่วไปไว้ ย่อมไม่สามารถนำไปใช้ได้กับท้องถิ่นทุกแห่งได้ การบริหารบุคคล และการพัสดุจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ควรใช้แบบเดียวกับส่วนกลางทั้งหมด ควรมีช่องทางแบบท้องถิ่นทำงานได้คล่องตัวด้วย ขุดคุ้ยมาทีละอย่างสองอย่าง ไปๆมาๆ ท้องถิ่นสำคัญจริงเกินกว่าที่คาด