หมายเหตุ : “เสรี สุวรรณภานนท์” สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์”สะท้อนสถานการณ์ทางการเมือง หลังการเลือกตั้ง ตลอดจนบทบาทและหน้าที่ของ “สมาชิกวุฒิสภา” จะมีความสำคัญเช่นใด -บรรยากาศทางการเมืองวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง ร้อนแรงทั้งในและนอกสภา มองว่ามาจากปัจจัยอะไร การเมืองไทยในวันนี้ต้องมองไปในอดีตที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 มีการตั้งองค์กรอิสระ ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขึ้นมา ทำให้มีการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เข้มข้นมากขึ้น การเมืองจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะกระบวนการตรวจสอบป้องกันไม่ให้นักการเมืองเข้ามาหาประโยชน์และทุจริตคอร์รัปชั่นทำยากขึ้น ดังนั้นนักการเมืองจึงหาวิธีการและมาตรการ ป้องกันตัวเอง ไม่ให้ถูกดำเนินคดี หรือให้พ้นจากคดี กระบวนการทางการเมืองจึงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงหลังมีองค์กรอิสระที่สามารถตรวจสอบนักการเมืองได้มากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากเพิ่มขึ้น นักการเมืองจึงปรับเปลี่ยนวิธีการด้วยวิธีการที่เข้ามาแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระ และเมื่อนักการเมืองถูกตรวจสอบก็จะเกิดการต่อสู้ นำประชาชนมาเป็นตัวประกัน โดยสร้างกระแสเรียกร้องให้ประชาชนเข้ามาสนับสนุนหรือเข้ามาปกป้องนักการเมือง จึงทำให้ประชาชนมีความเห็น สองฝ่ายทั้งสนับสนุนและไม่สนับสนุน ประชาชนแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย มีการต่อสู้กัน แบ่งข้างทางการเมืองและประชาชน ลามมาถึงปัจจุบันทำให้ข้อเรียกร้องต่างๆ ใช้กระบวนการทางการเมืองภาคประชาชนเข้ามาขับไล่นักการเมือง ทำให้บ้านเมืองหาความสงบสุขไม่ได้เลยและเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายไปทั้งประเทศ และยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันจึงเป็นภาพสะท้อนมาจากปัญหาทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมา ปัจจุบันจะเห็นว่าการต่อสู้ของนักการเมือง จะเอารัฐธรรมนูญมาเล่นงานซึ่งกันและกัน โดยนำกระบวนการตรวจสอบ และสร้างกระบวนการให้พ้นจากตำแหน่งกันด้วยการยื่นตรวจสอบบรรดาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. โดยเฉพาะในเรื่องคุณสมบัติเรื่องการถือหุ้นสื่อหรือความเป็นเจ้าของสื่อมวลชนว่ามีการขาดคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้หรือไม่ ขณะนี้ สมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ต่างถูกตรวจสอบ ในเรื่องของการเป็นเจ้าของสื่อมวลชน มีจำนวนหลายสิบคน จึงทำให้งานในสภาผู้แทนราษฎร ไม่เข้มแข็ง ไม่มั่นคง ขาดเสถียรภาพ ถือได้ว่าเป็นช่วงที่สภาผู้แทนราษฎรมีความอ่อนแอมากที่สุดก็ว่าได้ จะเห็นว่าเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเวลาได้ผ่านมาแล้ว 3 เดือนก็ยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลให้สำเร็จไปได้ และยังมีกระบวนการตรวจสอบกันสับสนวุ่นวาย จนทำให้ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ดังกล่าว โดยเฉพาะคนที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ซึ่งจะไปโทษรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ เพราะกระบวนการในทางรัฐธรรมนูญเพิ่งนำมาใช้ ซึ่งเห็นได้ว่าจะมีทั้งข้อดีข้อเสียบางประการ ที่ผ่านมาการร่างรัฐธรรมนูญเมื่อไม่ไว้วางใจกันก็นำเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามนำมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ และเมื่อนำมาใส่ไว้มากๆก็กลายเป็นความขัดแย้ง มีการหยิบยก และมีการต่อสู้ในทางการเมือง จึงทำให้เกิดปัญหา ซึ่งในรัฐธรรมนูญเองต้องยอมรับว่า ไม่ใช่ดีที่สุด แต่รัฐธรรมนูญจะมีลักษณะใดนั้น ผู้ร่างก็จะเป็นผู้กำหนด คุณสมบัติ องค์ประกอบ หรือกระบวนการหรือวิธีการเข้าสู่ตำแหน่ง โดยการกำหนดในรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ในบางเรื่องและในแต่ละช่วงเวลา แต่ละยุคสมัย จึงทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญในแต่ละช่วงเวลามีลักษณะและข้อมูลที่ไม่ตรงกัน แต่ครั้งนี้คนเขียนรัฐธรรมนูญไม่ไว้ใจนักการเมือง หรือยังไม่ไว้ใจ ส.ส. รัฐธรรมนูญ จึงได้กำหนดให้มี ส.ว.จำนวน 250 คนเกิดขึ้น และมีส่วนร่วมอันสำคัญในการที่จะให้มีนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็จะเหมาะสมแก่ช่วงนี้ ตามกาลเวลาที่เห็นควร -ส.ว.กลายเป็นชนวนหนึ่งที่สร้างความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อถูกดึงมาเป็นเงื่อนไขในการโจมตีรัฐบาล และคสช.คิดว่าจะบานปลายหรือไม่ คนโจมตีก็ต้องหาประเด็นมา เพราะไม่ว่าจะมีส.ว. หรือไม่ ในทางการเมืองแล้ว ฝ่ายตรงกันข้ามก็จะวิธีการโจมตีหรือสร้างม็อบ สร้างความไม่น่าเชื่อถือให้กับประชาชน จึงก็ต้องหยิบยกเรื่องอื่นมาโจมตี และขึ้นอยู่กับประเด็นที่จะนำดำเนินการเรียกร้องความสนใจทางการเมือง เพราะ สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน เป็นความต้องการของคนเขียนรัฐธรรมนูญ ที่ผูกติดอยู่กับคนที่มีอำนาจในทางการเมืองในแต่ช่วงเวลาทุกชุดทุกสมัย ที่ต้องการวางรูปแบบการเข้าสู่อำนาจ การใช้อำนาจ หรือควบคุมกำหนดมาตรการ โดยมีเป้าหมายสำคัญก็เพื่อให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย วิธีนี้ จึงกลายเป็นเงื่อนไขที่ถูกหยิบยกมาโจมตีว่ากล่าวกัน จนเป็นปัญหาของการใช้อำนาจ ซึ่งหากถามว่าผิดหรือไม่ ก็ไม่ผิดเพราะต้องการที่จะแก้ไขปัญหาบ้านเมืองในรูปแบบนี้ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คงต้องค่อยๆทำความเข้าใจกัน - เป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ที่เป็นรัฐบาลผสมหรือไม่ เริ่มก็วุ่นวายต่อรองกันเรื่องตำแหน่ง ก็เป็นห่วงเสถียรภาพของรัฐบาลอยู่บ้าง ทั้งนี้ในทางการเมืองแล้ว การที่รัฐบาลมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. ที่มีคะแนนเสียงต่างกันไม่มาก หรือมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ในสภาที่คะแนนเสียงใกล้เคียงกัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพทางการเมือง และในการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ความเปราะบางมาก เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลมีหลายพรรคจำนวนมาก แต่มีคะแนนเสียงระหว่างเสียงสนับสนุนที่ใกล้เคียงกัน จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่อาจใช้ความรู้ความสามารถได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเต็มกำลัง หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นรัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพ ทำให้นายกฯไม่สามารถใช้ภาวะความเป็นผู้นำได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพไปด้วย แต่ก็จะสามารถอยู่กันไปเรื่อย ๆ แต่หากการอยู่ร่วมกัน มีความสามารถในการไม่ให้เกิดปัญหาขัดแย้งในพรรคการเมืองฝ่ายเดียวกัน รัฐบาลก็มีความสามารถในการบริหารประเทศได้ต่อไป ด้วยการตกลงกัน จัดสรรอำนาจให้แก่กัน กำหนดผลประโยชน์แบ่งสรรกันไป ก็จะทำให้ ส.ส.และ ส.ว. อยู่กันได้แบบหลวม ๆ ซึ่งในเมื่อตำแหน่งมีน้อย คนที่ไม่ได้เป็นมีอีกจำนวนมาก ก็จะเกิดข้อเรียกร้อง ข้อต่อรอง มีอิทธิฤทธิ์จะร่วมหรือไม่ร่วม ถือเป็นความบอบบางในเสถียรภาพของรัฐบาลในขณะนี้ ก็น่าเป็นห่วง จะไม่เดินต่อไปก็ไม่ได้ ก็คงต้องเดินต่อไป แต่ก็ต้องอยู่ด้วยความเข้าใจหรือ หรืออยู่กันอย่างใกล้ชิด มิฉะนั้นจะก็จะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกจะอยู่ต่อไปก็อยู่ยาก แต่ก็ต้องอยู่ จะอยู่ไม่ได้ถึงขนาดยุบสภาก็ยุบไม่ได้เพราะเลือกตั้งแล้วก็จะเกิดความวุ่นวายอีก และในอนาคตก็ไม่รู้ว่าคะแนนเสียงจะเป็นอย่างไร ก็จะกลายเป็นความไม่ชัดเจน ดังนั้นการยุบสภาต้องใช้ในกระบวนการสุดท้ายที่ไม่มีทางออกจริงๆ หรือเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องพยายามเดินต่อไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะฉะนั้นแต่ละพรรคที่มารวมตัวกัน หรือส่งใครมาเป็นรัฐมนตรีทุกคนต้องเข้าใจว่าความบอบบางที่จะทำให้รัฐบาล อยู่ไม่ได้ หากรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวิธีทางการรักษาผลประโยชน์ให้กับบ้านเมือง และประชาชน รัฐบาลก็สามารถอยู่ได้ด้วยความเรียบร้อย ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือ ในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ จะไม่มีความรู้ความสามารถที่จะทำงานในกระทรวงนั้นจริงก็จะทำให้เกิดปัญหา เพราะฉะนั้นรัฐบาลอยู่ได้หรือไม่ได้ไม่ใช่เพราะเสียงปริ่มน้ำอย่างเดียว แต่สิ่งที่จะทำให้รัฐบาลอยู่ได้คือ ความตั้งใจทำงานให้มีประสิทธิภาพ มีผลงาน ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่มีประโยชน์ส่วนตน พวกพ้อง ไม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ผิดจริยธรรม ถ้าไม่ทำสิ่งเหล่านี้รัฐบาลเดินต่อไปได้ถึงแม้เสียงจะใกล้เคียงกันมาก แต่เมื่อใดก็ตามที่กระบวนการที่ไม่ถูกต้อง ลุแก่อำนาจไม่รักษาผลประโยชน์โดยรวม คิดถึงแต่ผลประโยชน์ตัวเอง ขาดจริยธรรม สิ่งเหล่านี้จะทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ ผมเข้าใจการต่อสู้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งมีการลงทุนลงแรง เพราะฉะนั้นเข้ามาแล้วก็หวังว่าจะทำหน้าที่สร้างความดี ทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง และประชาชน ไม่แสวงหากำไรหรือไม่ทุจริตคอร์รัปชั่นก็จะทำให้รัฐบาลนั้นสามารถอยู่ได้อย่างมั่นคงยั่งยืน ซึ่งประวัติศาสตร์มีชัดเจนที่รัฐบาลอยู่ไม่ได้ เพราะไม่ปรองดอง ขัดแย้ง เกิดความวุ่นวาย ทะเลาะกันเอง แก่งแย่งกัน ทุจริตคอร์รัปชั่นจนประชาชนอยู่ไม่ได้ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถอยู่ต่อไป สิ่งเหล่านี้ทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ -บทบาทของส.ว.ในห้วงบรรยากาศทางการเมืองที่กำลังเข้มข้น และมีแนวโน้มจะเข้มข้นขึ้นจะเป็นอย่างไร บทบาทของ ส.ว.ก็ต้องรู้หน้าที่ของตัวเองไม่ควรไปแทรกแซงฝ่ายบริหาร อย่าลงมือไปสั่งงานเสียเอง ทำงานตนเองตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญและตามกฎหมายบัญญัติไว้ เนื่องจาก ในเรื่องดังกล่าวงานสำคัญของ ส.ว. เนื่องจากไม่ใช่หน้าที่ของตน แต่ ส.ว.คงมีทำหน้าที่ศึกษา และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รับทราบสภาพปัญหา พร้อมเสนอแนะและวิธีการแก้ปัญหาให้กับรัฐบาล นอกจากนี้ส.ว.ชุดนี้จะต้องเข้ามาติดตามตรวจสอบทำงานของรัฐบาล และจะต้องทำหน้าที่อันสำคัญตามรัฐธรรมนูญ ในการติดตาม ตรวจสอบ และแนะนำอันเป็นไปตามการดำเนินการปฏิรูปประเทศที่ทำและระยะเวลาได้ล่วงพ้นมานานเป็นเวลาประมาณ 5 ปี ซึ่งบ้านเมืองจะต้องเดินต่อไปข้างหน้าก็จะเป็นภารกิจ สำคัญของการทำหน้าที่ของ ส.ว .รวมทั้งมีหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แต่อย่าไปลงมือสั่งงานเสียเอง เพราะไม่ใช่หน้าที่ของส.ว.ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ