คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย ตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาว จะเห็นได้ว่า ในแต่ละวันข่าวคราวที่ออกมาล้วนเต็มไปด้วยเรื่องปริศนาดราม่า แบบไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะโพสต์เรื่องราวอะไรบ้างลงบนทวิตเตอร์? โดยเมื่อวันเสาร์ที่แล้วขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังประชุมกลุ่มจี 20 อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ปรากฏว่าเขาได้โพสต์ลงบนทวิตเตอร์ว่า “บางทีข้าพเจ้าจะเดินทางไปพบกับประธานาธิบดีคิม จองอึน ณ เขตปลอดทหารระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เพื่อต้องการจะจับมือและกล่าวสวัสดี” และอีกแค่เพียงสามสิบสองชั่วโมงต่อมา ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ได้เดินทางไปจับมือกับประธานาธิบดีคิม จองอึน ณ เขตปลอดทหารระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ จริงดังที่เขากล่าว โดยเขาได้เดินเข้าไปในเขตเกาหลีเหนือยี่สิบก้าว และในโอกาสเดียวกันนั้นประธานาธิบดีทรัมป์ก็ยังได้กล่าวเชื้อเชิญให้ประธานาธิบดีคิมเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกา!!! หากจะวิเคราะห์เรื่องราวทางการทูตระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับประธานาธิบดีคิม ในครั้งนี้แล้วการที่เขาทั้งสองได้มาพบปะกันนั้น เปรียบเสมือนการทูตส่วนตัว (Personal Diplomacy) ที่เขาทั้งสองตัดสินใจที่กระทำกันเอง อย่างไรก็ตามถือได้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สร้างประวัติศาสตร์ที่เขาคือ “ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนแรกในช่วง 66 ปีที่ผ่านมา ที่เดินก้าวเท้าเหยียบย่างเข้าไปบนแผ่นดินของประเทศเกาหลีเหนือ ซึ่งนับได้ว่า การกระทำในครั้งนี้อุกอาจผาดโผนตามแบบฉบับสไตล์ทรัมป์ ทรัมป์” อีกทั้งการพบปะครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในฉากประวัติศาสตร์ที่ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ และ ประธานาธิบดีแห่งเกาหลีเหนือ ได้พบปะกันในเขตดินแดนของประเทศเกาหลีเหนือ โดยเมื่อสองปีก่อนผู้นำของสองประเทศนี้ ต่างมุ่งสาดโคลนโจมตีแสดงท่าทีที่ก้าวร้าวอย่างรุนแรงต่อกัน จนนานาประเทศพากันคิดไปว่า “อาจจะเกิดวิกฤติจนกลายเป็นสงครามโลกขึ้นอีกครั้งหนึ่ง” และถึงแม้ว่าการเดินทางของประธานาธิบดีทรัมป์เข้าไปพบปะกับประธานาธิบดีคิม จองอึนในครั้งนี้ ถือเป็นการเสี่ยงต่อความมั่นคงปลอดภัยของเขาอย่างมากก็ตาม แต่นับได้ว่าเป็นชัยชนะทางด้านการเมืองเ ป็นการเปิดโอกาสอันดีในระดับเวทีโลก และเขาอาจจะอยู่ในข่ายที่จะได้รับการพิจารณาได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ก็มีความเป็นไปได้ และในขณะนี้คือช่วงฤดูแห่งการแข่งขันหาเสียง เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อไป ประธานาธิบดีทรัมป์ก็อาจจะฉกฉวยความสำเร็จในครั้งนี้นำไปประกาศโฆษณาโอ้อวดว่า “ข้าพเจ้าคือประธานาธิบดีสหรัฐฯคนแรกที่กล้าหาญชาญชัยกระทำเช่นนี้ อย่างที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯคนอื่นๆไม่สามารถทำได้” และหากประธานาธิบดีคิม จองอึน ตัดสินใจที่จะเดินทางไปเยือนยังทำเนียบขาวจริงๆ แน่นอนว่าจะต้องกลายเป็นข่าวใหญ่พาดหัวตัวโต และเป็นโอกาสที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะประชาสัมพันธ์ตนเองต่ออีกคำรบหนึ่ง ทั้งๆที่ขณะนี้เกาหลีเหนือก็ยังคงมีอาวุธนิวเคลียร์เอาไว้ในครอบครองก็ตาม!!! อย่างไรก็ตามยังมีข่าวเล็ดลอดผ่านหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้รายงานว่า “ผู้ให้คำปรึกษาใกล้ชิดของประธานาธิบดีทรัมป์ให้คำแนะนำต่อเขาว่า ยินดีที่ให้เกาหลีเหนือคงไว้ซึ่งอาวุธแสนยานุภาพอันร้ายแรง ที่สามารถจะยิงขีปนาวุธในวิถีระยะไกลจนถึงกรุงวอชิงตันได้ แต่จะห้ามมิให้เกาหลีเหนือพัฒนาอาวุธที่ร้ายแรงใหม่ๆออกมา” แต่กระนั้นก็ตามหากวิกฤติการเมืองเกิดขึ้นระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯในอีก 17 เดือนข้างหน้า ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ย่อมจะถูกตำหนิได้ เพราะสิ่งที่ประธานาธิบดีคิม จองอึน ดำริเอาไว้ก็คือ “ข้าพเจ้ามีความต้องการให้สหรัฐฯยุติการแซงชั่น มีความต้องการความช่วยเหลือจากสหรัฐฯทางด้านเศรษฐกิจ และมีความต้องการให้สหรัฐฯยอมรับในการที่เกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง” อนึ่งความคิดเห็นของคนอเมริกันเกี่ยวกับเกาหลีเหนือเริ่มเปลี่ยนไป โดยเมื่อเดือนมิถุนายนปีกลายหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์เดินทางไปพบปะกับประธานาธิบดีคิมที่สิงคโปร์ คนอเมริกันเห็นชอบด้วยถึง 55% จากที่เคยมีเพียง 42% คราวนี้ลองหันมาวิเคราะห์ว่า เพราะเหตุใดและทำไมประธานาธิบดีทรัมป์จึงมีท่าทีโอนอ่อนผ่อนตามประนีประนอมต่อประธานาธิบดีคิมแห่งเกาหลีเหนือ แต่กลับขึงขันต่อต้านต่ออิหร่านแบบสุดสุด ประการแรก: ในสายตาของประธานาธิบดีทรัมป์อาจจะมองว่า ประธานาธิบดีคิมเป็นผู้ที่มีความมั่นใจและมีความเด็ดขาด โดยเดนนี รอดแมน ดารานักบาสเกตบอลของสหรัฐฯที่สนิทสนมกับประธานาธิบดีคิมและประธานาธิบดีทรัมป์ อาจจะเป็นสื่อที่ดีให้อีกทางหนึ่ง ประการที่สอง: โดยภาพรวมแล้วดูเหมือนว่าประธานาธิบดีทรัมป์มีอคติกับอิหร่านทางด้านศาสนา ดั่งจะเห็นจากตอนที่ประธานาธิบดีเข้าสู่ทำเนียบขาว เขาได้ออกมาตรการพิเศษห้ามให้ชาวมุสลิมเจ็ดประเทศเข้าประเทศสหรัฐฯ ประการที่สาม: ประธานาธิบดีทรัมป์อาจจะต้องการดิสเครดิตผลงานของประธานาธิบดีโอบามาที่เคยได้ตกลงกับอิหร่านเอาไว้ในโครงการพัฒนานิวเคลียร์เมื่อปี 2015 โดยได้รับความร่วมมือกับอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน รัสเซียและเยอรมัน ทั้งนี้การใช้นโยบายแซงชั่นของสหรัฐอเมริกาครั้งใหม่กับอิหร่าน สหรัฐฯกลับแสดงท่าทีฉายเดี่ยวเพียงประเทศเดียว โดยสหรัฐฯตั้งเงื่อนไขใหม่เอาไว้ถึง 10 ข้อ ดังเช่น ต้องการให้อิหร่านยุติโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยตั้งเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่ขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency inspectors) เข้าไปตรวจสอบเมื่อใดและที่ไหนก็ได้ ถอนทหารทั้งหมดจากซีเรีย ให้ซีเรียยุติสนับสนุนฮิซบอลลาห์ ซึ่งเป็นองค์กรและพรรคการเมืองของชาวมุสลิมนิกายซีอะฮ์ในเลบานอน ซึ่งมีกองทัพของตนเอง โดยทั้งนี้เป็นเงื่อนไขที่อิหร่านคงจะรับไม่ได้ อย่างไรก็ตามเงื่อนไขที่สหรัฐฯตั้งเอาไว้ในครั้งนี้ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย และเยอรมัน ออกมาแสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าข้อตกลงที่ทำเอาไว้เมื่อปี 2015 นั้นได้ผลดีอยู่แล้ว!!! ประการที่สี่: สหรัฐฯต้องการปกป้องความมั่นคงปลอดภัยทั้งอิสราเอลและซาอุดิอารเบีย หากว่าอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ และประการสุดท้าย: ประธานาธิบดีทรัมป์มองว่าผู้นำของอิหร่านเป็นฝ่ายก้าวร้าวแสนจะแตกต่างจากประธานาธิบดีคิม กล่าวโดยสรุปในภาพรวมแล้วดูเหมือนว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้นโยบายสองมาตรฐานระหว่างเกาหลีเหนือกับอิหร่าน ซึ่งไม่แน่ว่าเขาอาจจะทุ่มสุดตัวไม่หวั่นแม้ภัยอันตราย ก็เพราะต้องการจะใช้ความสำเร็จกลบเกลื่อนข่าวด้านลบของเขาเกี่ยวกับเรื่องการได้มาซึ่งตำแหน่งประธานาธิบดี ที่ขณะนี้สภาคองเกรสกำลังเร่งตรวจสอบอยู่ และในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้ อัยการพิเศษโรเบิร์ต มุลเลอร์ ก็จะขึ้นให้การต่อสภาคองเกรสสองคณะ ที่จะต้องกลายเป็นข่าวใหญ่ประจำปีอีกด้วยละครับ