สอน.จับมือ ธ.ก.ส.-โรงงานน้ำตาล 57 โรงงานทั่วประเทศเอ็มโอยูเดินหน้าโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลิตอ้อยครบวงจรวงเงิน 6 พันล้านบาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปีเพิ่มคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2562 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 3 ฝ่ายระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) โรงงานน้ำตาล และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ภายใต้โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรปี 2562-2564วงเงิน 6,000 ล้านบาทในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เพื่อแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้หมดไปภายในปี พ.ศ.2565 ที่ห้องประชุม ชั้น 1 อาคารสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า การทำบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และโรงงานน้ำตาลจำนวน 57 โรงงาน ร่วมกันดำเนินงานภายใต้โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.62 ที่เห็นชอบให้ขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปี 2562-2564 โดยคิดดอกเบี้ยกับเกษตรกรรายบุคคลหรือกลุ่มเกษตรกรในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี เพื่อสนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคลและวิสาหกิจชุมชน วงเงินกู้ปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาทจาก ธ.ก.ส. โดยให้โรงงานน้ำตาลเป็นผู้ค้ำประกัน และรัฐบาลช่วยรับภาระชดเชยดอกเบี้ยส่วนเกินให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้ซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ปรับพื้นที่ปลูกอ้อย และพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำใน ไร่อ้อย ตามแนวทางการส่งเสริมการทำเกษตรสมัยใหม่ใช้เครื่องจักรกล และเป็นหนึ่งในมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้หมดไปภายในปี พ.ศ.2565 โดย สอน.จะดำเนินการติดตาม กำกับ และประสานการดำเนินงานตามแนวทางปฏิบัติที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)กำหนด อีกทั้ง สอน.,ธ.ก.ส.และโรงงานน้ำตาล จะร่วมกันประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจการดำเนินงานตามโครงการให้ชาวไร่อ้อยและสถาบันชาวไร่อ้อยรับทราบหลักเกณฑ์เงื่อนไขโครงการ เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับประโยชน์จากการลงทุนอย่างคุ้มค่าตลอดโครงการ ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ นำไปซื้อรถตัดอ้อย,รถคีบอ้อย,รถตัดอ้อยแร๊พเตอร์,เครื่องสางใบอ้อย,เครื่องอัดใบอ้อย และเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในไร่อ้อย รวมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่อท้ายแทรกเตอร์อื่นๆที่ใช้ในการปลูกและบำรุงรักษาอ้อยด้วย ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิตอ้อย ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน อีกทั้งสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ในระยะยาว ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย และเพิ่มขีดความสามารถให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยสามารถแข่งขันได้ทั้งในตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน โดยเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อได้ที่ ธ.ก.ส.สาขาใกล้บ้านท่าน หรือโรงงานน้ำตาลที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยเป็นคู่สัญญาส่งอ้อยได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป