GGC ขับเคลื่อน “นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์” สานต่อนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) กุญแจสำคัญสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานชีวภาพ (Biofuel) และ Bio Hub แห่งแรกของประเทศ ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อมเดินหน้าสู่ความยั่งยืน นายวิทูร ซื่อวัฒนากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมบรรยาย ในงานเสวนา InnoBioPlast 2019: Circular Economy Opportunities for Bioplastics เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 โดยบรรยายถึงโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์(Nakhonsawan Biocomplex) ซึ่งเป็นโครงการตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ​(Bioeconomy) ของภาครัฐ ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวภาพและนโยบายลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ Single Use Plastic โดยที่ผ่านมา GGC เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมจากปาล์มน้ำมัน รวมทั้งเป็น Green Flagship ของกลุ่ม GC นอกจากนี้ GGC ยังเป็นรายแรกของประเทศไทยที่ประกาศการลงทุนก่อสร้าง Biocomplex วันนี้(4ก.ค.62) GGC พร้อมในการดำเนินโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็น Biocomplex แบบครบวงจรที่ใช้วัตถุดิบจากอ้อย โดยแบ่งโครงการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างโรงหีบอ้อย มีกำลังการผลิต 24,000 ตันต่อวัน โครงการก่อสร้างโรงผลิตเอทานอล มีกำลังการผลิต 600,000 ลิตรต่อวัน (หรือราว 186 ล้านลิตรต่อปี) และโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ มีกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 475 ตันต่อชั่วโมง คาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาสที่ 1/2564 และระยะที่ 2 คาดว่าจะลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาสที่ 1/2566 โดยการลงทุนนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์คำนึงถึงหลักการด้านความยั่งยืนใน 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มิติเศรษฐกิจ นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์จะเป็นกุญแจสำคัญของ GGC ในการเปิดประตูไปสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานชีวภาพ (Biofuel) เนื่องจากสามารถผลิตได้ทั้งเมทิลเอสเทอร์จากผลปาล์มน้ำมัน และเอทานอลจากอ้อย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็น Bio Hub แห่งแรกของประเทศไทย และมีแผนงานการลงุทนต่อยอดอุตสาหกรรมชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ ก่อให้เกิดการลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ มิติสังคม ในกระบวนการตั้งแต่การก่อสร้างไปจนถึงการดำเนินการก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นการกระจายรายได้ให้แก่ชุมชน อีกทั้งยังสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำเกษตรสมัยใหม่ (Modern Farming) ซึ่งจะช่วยลดตุ้นทุน เพิ่มผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรในท้องที่อีกด้วย มิติสิ่งแวดล้อม มีการบูรณาการ (Integrated) ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือ มีทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ มีการนำน้ำอ้อยมาใช้ในกระบวนการผลิตโดยตรง ใช้เทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงาน อีกทั้งใช้เทคโนโลยีใหม่ในการบำบัด น้ำเสีย โดยนำน้ำเสียไปผ่านกระบวนการเผาไหม้เพื่อผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ ทำให้ไม่มีการปล่อยน้ำเสียจากกระบวนการผลิต โดยนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์เป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่ใช้เทคโนโลยีนี้ สำหรับงาน InnoBioPlast 2019: Circular Economy Opportunities for Bioplastics จัดขึ้นโดยสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ กับผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสถาบัน