ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกโครงการ “เข้าถึง เข้าใจ ชนบทไทย” มีบุคลากรคึกคักออกศึกษาปัญหาชนบทถึงครัวเรือน หวังสร้างความเข้าใจเชิงลึกเพื่อกำหนดนโยบายได้ตรงความต้องการของประเทศ นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมนักเศรษฐศาสตร์ 37 ราย เป็นกลุ่มแรกตามโครงการ “เข้าถึง เข้าใจ ชนบทไทย” ที่ได้เข้าเยี่ยมพื้นที่ปิดทองหลังพระฯ แก่นมะกรูด อุทัยธานีเรียนรู้การประยุกต์แนวพระราชดำริเพื่อพัฒนาท้องถิ่น โครงการดังกล่าว เกิดจากการประเมินตนเองของธนาคารแห่งประเทศไทยที่พบว่า แม้ ธปท.จะได้รับความเชื่อถืออย่างมาก แต่ยังมีอีกหลายด้านซึ่งหากมีการพัฒนา จะทำให้การทำงานของ ธปท.เพิ่มประประโยชน์แก่ประชาชนอย่างมาก "เราเห็นว่าเรายังไม่ติดดินพอ หมายถึงยังไม่เข้าใจวิธีคิดและเงื่อนไขชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของคนส่วนใหญ่ของประเทศดีพอ ดังนั้นถ้าเราเข้าใจมากขึ้น ก็จะสามารถพัฒนานโยบายที่ตรงกับโจทย์และสามารถสื่อสารกับประชาชนได้ดีขึ้น” เมื่อเกิดโครงการดังกล่าวขึ้นมา ธปท. พบว่าผู้บริหารและเจ้าหน้าที่มีความสนใจเข้าร่วมอย่างมาก โดยในครั้งแรกนี้ได้เลือกศึกษาพื้นที่ตำบลแก่นมะกรูด เพื่อเรียนรู้จากประชาชน องค์การบริหารส่วนจังหวัด เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ และเจ้าหน้าที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ “เราเข้าใจมากขึ้นถึงข้อเท็จจริงเชิงโครงสร้างในพื้น ที่ซึ่งเป็นเงื่อนไขนำมาสู่ปัญหาหนี้ครัวเรือน การเข้าไม่ถึงบริการด้านการเงิน และการไม่มีความรู้ทางการเงินเพียงพอแก่การประกอบอาชีพและครองชีพ ได้เรียนรู้ตัวอย่างการพัฒนาแบบองค์รวมที่มูลนิธิฯ ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการช่วยให้ชาวบ้านแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยตนเอง เลยไปถึงเรื่องการขาดแคลนน้ำ และการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ส่งผลกระทบกับป่า และปัญหาหนี้ครัวเรือน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้พนักงานในสายงานต่างๆ นำไปใช้ในการกำหนดนโยบายในอนาคต” ด้าน นายกันตภณ ศรีชาติ ผู้ตรวจสอบอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่างานของ ธปท. เป็นการมองภาพกว้าง มองด้านมหภาคเป็นหลัก แต่การได้มามองปัญหาที่อยู่ในชนบทจริงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น ช่วยเพิ่มความเข้าใจและจะนำไปสู่การคิดและวางแผนได้ดีขึ้น ขณะที่ ดร.เมธินี เหมริด รองผู้อำนวยการกลุ่มงานด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท. กล่าวว่าในการดูแลด้านนโยบายสถาบันการเงินจะพบว่าธนาคารต่าง ๆมีนโยบายกระตุ้นการกู้ ดังนั้นการที่ ธปท.มาเรียนรู้ความจริงในชนบทจะทำให้มีมิติการมองภาพที่ชัดขึ้น มองบทบาทของตัวเองในการผลักดันนโยบาย มีแนวคิดให้สถาบันการเงินมองให้ยาวขึ้นมากกว่าผลตอบแทน มองในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น ในการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว นอกจากจะรับฟังปัญหาและแนวทางการพัฒนาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว คณะ ธปท. ยังแยกย้ายไปหาประชาชนตามบ้านต่าง ๆอย่างทั่วถึงเพื่อรับฟังเรื่องราวจากชาวบ้านในทุกมุม