ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น หน้ากากในมุมศิลปะและวัฒนธรรมนั้นน่าสนใจ อย่างที่นิทรรศการ “ต่าง คล้าย ใช่เลย หน้ากากอาเซียน บวกสาม” จัดแสดงอยู่ที่ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ชั้น 3 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนินในขณะนี้ ให้ความรู้หน้ากากของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน อีกจีน เกาหลีและญี่ปุ่น โดยตัวนิทรรศการปูพื้นฐานให้ผู้ชมเห็นว่า วัฒนธรรมหน้ากากนั้นเป็นศิลปะที่แพร่หลายกันอยู่ทั่วโลกมาหลายพันปี หน้ากากของแต่ละประเทศจะแสดงเอกลักษณ์บ่งบอกความเป็นชาติ และมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปตามบทบาทหน้าที่ ทั้งเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ใช้งานในการศึกสงคราม กระทั่งพิธีกรรมการฝังศพ “หน้ากาก” คือเครื่องปิดบังใบหน้าทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อป้องกันสิ่งต่างๆ วิธีใช้ขึ้นอยู่กับรูปแบบและลักษณะประเภทของหน้ากาก โดยสร้างขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ เช่น โลหะ ทอง หยก หิน ไม้ กระดาษ เป็นต้น หน้ากากยังมีความหมาย รวมไปถึงการเขียนบนใบหน้าเพื่อการอำพราง อีกทั้งหน้ากากยังใช้เพื่อเป็นการแสดงและความบันเทิง หรือประกอบกิจในภาระหน้าที่ต่างๆ บทบาทหน้ากากในแถบเอเชียลงมาถึงแถวกลุ่มประเทศอาเซียน แผ่นดินที่มีการไหลเวียนถ่ายเทวัฒนธรรมซึ่งกันและกันมาแต่โบราณ บ้างก็เคยเป็นอาณาเขตเดียวกัน แล้วแยกเป็นแผ่นดินของตนดั่งในปัจจุบัน จึงทำให้วัฒนธรรมหน้ากากมีความคล้ายคลึง หรือแม้กระทั่งเหมือนกันจนบางครั้งแยกไม่ออก ในทางกลับกันหากด้วยการแสดงออกทางด้านศิลปะของความเป็นชาติตนให้โดดเด่น บางประเทศจึงได้คิดค้นประดิษฐ์หน้ากากให้มีความแตกต่างโดดเด่นและไม่เหมือนใคร รวมถึงการได้รับอิทธิพลการถูกปกครองจากผู้ล่าอนานิคมมาช้านาน จนอาจทำให้วัฒนธรรมของชาตินั้นถูกถ่ายโอนบ่มเพาะไปโดยปริยาย เมื่อเดินเข้าไปในโซนนิทรรศการ แต่ละมุมเล่าเรื่องหน้ากาก ภาพและวีดิโอฉายประกอบของแต่ละประเทศ ในที่นี้หยิบเอามาเป็นตัวอย่าง 2 หน้ากาก พร้อมภาพประกอบของศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน เล่าแบบกระชับพื้นที่ เช่น นิทรรศการหน้ากากอินโดนีเซีย หน้ากากอินโดนีเซีย “โทเป็ง” (Topeng แปลว่า หน้ากาก) เล่ามนต์สเน่ห์หน้ากากของชาวอินโดนีเซีย โดยเฉพาะชาวบาหลีจะถือว่าโทเป็งเป็นหน้ากากแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ในการแสดงประกอบพิธี ผู้แสดงจะสวมหน้ากากโทเป็งแล้วร่ายรำโดยไม่มีบทพูดเจรจา เนื้อเรื่องที่แสดงมักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทพนิยายหรือตัวตนของตัวละครตอนใดตอนหนึ่ง นอกจากหน้ากากโทเป็งแล้ว มีหน้ากากสวมใส่แสดงระบำบาร็อง (Barong Dance) สื่อถึงการต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมะกับอธรรม บาร็อง (Barong) คือตัวแทนความดี เป็นคนครึ่งสัตว์ ส่วนรังดา (Rangda) เป็นพ่อมดหมอฝีฝ่ายอธรรม ผู้แสดงจะสวมชุดเครื่องแต่งกายและสวมหน้ากาก เต้นร่ายรำต่อสู้ไปตามเรื่องราวแห่งความดีความชั่ว หลุดจากมุมหน้ากากอาเซียน (กัมพูชา ลาว ไทย ฯลฯ) มามุมหน้ากากหมู่เกาะเอเซียอย่างญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นเองมีประวัติการใช้หน้ากากมายาวนาน จุดประสงค์หลากหลาย ไม่ว่าจะใช้กับพิธีกรรมทางศาสนา พิธีกรรมตามความเชื่อของท้องถิ่น รักษาคนป่วย หรือพิธีกรรมการเผาศพ นิทรรศการหน้ากากญี่ปุ่น หน้ากากญี่ปุ่นนั้นจะมีลักษณะประเภท ความหมาย และความเป็นมาที่แตกต่างกันออกไป บางส่วนมีพัฒนาการมาจากความเชื่อที่สืบต่อกันมา อันได้แก่ความเชื่อในสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ เช่น หน้ากาก Onryo-Kei หน้ากากวิญญาณ ที่สื่อถึงวิญญาณที่เต็มไปด้วยความโกรธแค้นที่เข้ามาสร้างความเดือนร้อนให้แก่ชาวบ้าน หน้ากากญี่ปุ่น หน้ากาก Kijin-Kei หน้ากากเทพเจ้าที่มีใบหน้าที่โหดร้าย เพื่อเป็นการขับไล่วิญญาณ ร้ายซึ่งเป็นพิธีการขับไล่ภูตผีปีศาจจนกลายเป็นธรรมเนียมสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นหน้ากากชนิดนี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการปกป้องของชาวญี่ปุ่น หน้ากาก Kyogen แกะสลักจากไม้เลียนแบบหน้าคนและสัตว์ ที่มีความหมายและอารมณ์ที่แตกต่างกัน หน้ากากชนิดนี้ถูกนำมาใช้ในการแสดง Noh หรือละครใน อันเป็นนาฎศิลป์ชั้นสูง เพื่อความบันเทิงตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 โดยแต่เริ่มเดิมที Noh เป็นเพียงแค่การแสดง พื้นบ้านที่เกี่ยวกับ พิธีกรรม ทางศาสนา บูชาเทพเจ้า แต่ด้วย Noh ได้แสดงถวายต่อหน้าโชกุน และเป็นที่ประทับใจ จนกลายเป็นละครในราชสำนัก โดยการแสดง Noh จะใช้ผู้ชายสวมหน้ากากในการแสดงทั้งหมด ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของการแสดง และเป็นที่นิยมสืบทอดยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน มุมหน้ากากญี่ปุ่นยังนำเสนอ “คาบูกิ” (Kabuki) (มาจากคำว่า คาบูกุ (Kabuku) ที่แปลว่า “แปลก” หรือ “แตกต่างจากปกติ”) บอกเล่าศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น โดยนักแสดงจะแต่งหน้าด้วยสีสันที่สดใส ฉูดฉาด สวยงาม แสดงถึงเอกลักษณ์ของตัวละครแต่ละตัวแทนการใส่หน้ากาก เป็นการแสดงศาสตร์แห่งการแต่งหน้าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของญี่ปุ่นด้วย ที่ร่ายมาเป็นภาพรวมๆ เพื่อผู้สนใจจะได้แวะไปชมนิทรรศการหน้ากาก “ต่าง คล้าย ใช่เลย”