กรมฝนหลวงฯ ระดม 11 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ ช่วยพื้นที่เกษตรภาคอีสาน เสี่ยงเสียหายจำนวนมาก หลังเผชิญปัญหาฝนทิ้งช่วง เมื่อวันที่ 2 ก.ค.62 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ในขณะนี้ประเทศไทยในหลายๆพื้นที่ได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่นและอิทธิพลลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้มีฝนตกในพื้นที่ปริมาณเล็กน้อย โดยเฉพาะในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือพื้นที่การเกษตรเริ่มประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงเป็นจำนวนมาก ได้แก่ การปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรอาศัยน้ำฝนเป็นหลักจึงจำเป็นต้องอาศัยน้ำฝนธรรมชาติส่วนหนึ่งและการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาในช่วงสภาวะฝนทิ้งช่วงดังกล่าวได้โดยผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ (1 ก.ค.62) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 6 หน่วย จาก 11 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตร พื้นที่ประสบภัยแล้ง และพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคบางส่วนของ จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครสวรรค์ ลพบุรี สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา รวมถึงเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนสิรินธร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยได้ออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง ยังคงมีจำนวน 5 จังหวัด (21 อำเภอ 89 ตำบล 750 หมู่บ้าน) ประกอบด้วย จ.เชียงราย ศรีสะเกษ มหาสารคาม ตราด และชลบุรี ขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 22 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 172 แห่ง ส่วนพื้นที่ประกาศเสี่ยง ฝนตกหนักถึงหนักมากจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่บริเวณ ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ในส่วนของแผนที่ปริมาณความชื้นในดินของกรมทรัพยากรน้ำ จะเห็นได้ว่าบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ มีความชื้นในดินน้อยกว่าพื้นที่ภาคอื่นๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน มีปริมาณค่าความชื้นในดิน อยู่ระหว่าง 0-20 เปอร์เซ็น ส่งผลให้พื้นที่ภาคเหนือประสบปัญหาเรื่องของภัยแล้งมากกว่าภาคอื่นๆ ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ มีปริมาณค่าความชื้นในดิน อยู่ระหว่าง 40-60 เปอร์เซ็น อย่างไรก็ตาม ความต้องการน้ำของพื้นที่การเกษตรและการเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่มีความต้องการไม่เหมือนกัน ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงต้องเร่งดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อที่จะช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกพื้นที่