“ซีไอเอ็มบีไทย”ปรับลด GDP ปี 62 เหลือโต 3.3% จากเดิม 3.7% พร้อมคาดปี 63 โต 3.2% หลังส่งออกรับผลกระทบสงครามการค้า ย้ำ ธปท.ไม่ปรับตัวไทยจะตกเป็นเหยื่อสงครามค่าเงิน หลังบาทแข็งโป๊กในรอบ 6 ปีกระทบผู้ส่งออก ประเทศเพื่อนบ้านขยับกันหมดแล้ว มั่นใจทนกระแสไม่ไหวลดดอกเบี้ยปลายปีนี้แน่นอน เผยขณะนี้ ธปท.อยู่บนทางสามแพ่ง ลำบากในการตัดสินใจ พร้อมแนะฟื้นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาตินำเงินลงทุนต่างประเทศ นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า ปัญหาค่าเงินบาทเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีสินทรัพย์ปลอดภัย และเงินสำรองระหว่างประเทศสูง รวมทั้งรายได้จากภาคท่องเที่ยวสูงเช่นเดียวกัน ทำให้เงินบาทแข็งค่าสูงสุดในรอบ 6 ปีหรือกว่า 6% เทียบกับช่วงต้นปี ซึ่งเป็นปัญหากับผู้ส่งออกโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ปรับตัวช้า การลงทุนก็เกิดไม่ได้ ทำให้กระทบอีกหลายส่วนทั้งภาคการผลิต การจ้างงานไม่เกิด รายได้ไม่มี การบริโภคในประเทศก็ไม่ขยับตาม จึงคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในเดือนธ.ค.62 และปรับอีก 1 ครั้งในปีหน้ามาอยู่ระดับ 1.25% จากปัจจุบัน 1.75% หลังจากเดือนก.ค.62 ปรับลดวงเงินออกพันธบัตรไปแล้ว เพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้า ทำให้บาทอ่อนค่าลง ทั้งนี้ถ้า ธปท.ไม่ปรับตัวจะทำให้ไทยเป็นเหยื่อสงครามค่าเงิน เพราะประเทศเพื่อนบ้านปรับตัวไปหมดแล้วโดยการลดดอกเบี้ยลง ซึ่งถ้าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังคงชะลอตัวอยู่ จะต้องมีมาตรการกระตุ้น ซึ่งตอนนี้มาตรการการคลังต้องใช้เวลา กว่ารัฐบาลชุดใหม่จะจัดตั้งเสร็จและแถลงนโยบายต่อสภาฯ ทำให้มาตรการการเงินจะต้องเข้ามามีส่วนสำคัญไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นสินเชื่อไปจนถึงการลดดอกเบี้ยนโยบาย มองว่าตอนนี้ ธปท.อยู่บนทางสามแพ่ง ซึ่งยอมรับมีความยากลำบากในการตัดสินใจว่าจะเลือกรักษาเสถียรภาพระบบการเงินที่หนี้ครัวเรือนก็ยังสูง หรือจะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต นอกจากนี้ ธปท.ควรกลับมาศึกษากองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่มีเพื่อนำไปลงทุนต่างประเทศ แต่ติดปัญหาคือจะทำให้โปร่งใสได้อย่างไรว่าเงินที่มีจะนำไปใช้ถูกต้องหรือเปล่า ขณะเดียวสิ่งที่รัฐบาลต้องทำอย่างเร่งด่วน คือการดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาให้ได้ และต้องออกนโยบายมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 นโยบายหลัก ทั้งนโยบายดูแลสินค้าภาคเกษตรและกำลังซื้อภาคเกษตร นโยบายค่าครองชีพและการลงทุนภาครัฐ โดยสำนักวิจัยฯได้ปรับเป้าเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 3.3% และมองปีหน้าขยายตัว 3.2% จากสงครามการค้าที่กระทบการส่งออกของไทย โดยคาดว่าการส่งออกครึ่งแรกของปีจะติดลบ 3% ส่วนทั้งปีคาดว่าส่งออกจะติดลบ 1.8% ซึ่งกระทบต่อผู้ส่งออก และจะกระทบกับการลงทุนเอกชนลังเลที่จะขยายกำลังการผลิต เนื่องจากกำลังการผลิตในระดับที่ต่ำทำให้นักลงทุนยังไม่ขยายการลงทุน กลายเป็นปัจจัยเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทยได้