กรมโรงงานอุตสาหกรรมเผยยอดขออนุญาตประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการโรงงานครึ่งแรกของปี 62 มูลค่าสูงถึง 1.95 แสนล้านบาท ระบุปิโตรเลียมเพิ่มกว่า 2,369%-เครื่องใช้ไฟฟ้าพุ่ง 84% มั่นใจครึ่งปีหลังนักลงทุนคึกคักอานิสงส์ได้รัฐบาลใหม่ นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)เปิดเผยว่า ยอดการขออนุญาตประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการโรงงานในครึ่งแรกของปี 62 (ม.ค.-มิ.ย.) มีจำนวน 2,064 โรงงาน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.06% มีการจ้างงาน 92,262 คน ลดลง 5.45% แต่มูลค่าลงทุนอยู่ที่ 195,688.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.85% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมมีมูลค่าลงทุนมากที่สุด 38,530.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,369.9% รองลงมาเป็นกลุ่มอาหาร มูลค่าลงทุน 28,894.95 ล้านบาท ลดลง 15.76%, กลุ่มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 19,570.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84.43%, การผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 12,109.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น45.25% และกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 12,170.47 ล้านบาท ลดลง 6.95% ทั้งนี้หากพิจารณาเฉพาะการขออนุญาตประกอบกิจการใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปีพบว่าเป็นจำนวนโรงงาน 1,659 โรงงาน มีการจ้างคนแรง 45,733 คน และมีเงินลงทุน 106,000.87 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมอาหารลงทุนสูงสุด 19,301.07 ล้านบาท รองลงมาเป็น ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม 16,789.08 ล้านบาท และการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 14,213.40 ล้านบาท ส่วนการขยายกิจการ มี 405 โรงงาน มีการจ้างคนงาน 46,537 คน และ เงินลงทุน 89,687.89 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมมีมูลค่าขยายกิจการสูงสุด 21,741.05 ล้านบาท รองลงมาเป็น อุตสาหกรรมอาหาร 9,593.88 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์พลาสติก 7,883.34 ล้านบาท “การจ้างงานที่พบว่าปรับตัวลดลงส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการหันมาพัฒนาศักยภาพแรงงาน และส่วนหนึ่งมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนแรงงานตามการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ประเทศไทยเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยอุตสาหกรรมที่ขออนุญาตประกอบกิจการและขยายกิจการโรงงานในครึ่งแรกของปี และมีการจ้างแรงงานมากสุด คือ อุตสาหกรรมอาหารมีการจ้างงาน 19,495 คน ลดลง 36.20% รองลงมาเป็นการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 11,218 คน เพิ่มขึ้น 103.34%, อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายยกเว้นรองเท้า จ้างงาน 8,029 คนเพิ่มขึ้น 164.11%,ผลิตภัณฑ์ยานพาหนะและอุปกรณ์รวมถึงการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 7,542 คน เพิ่มขึ้น 60.91% และผลิตภัณฑ์พลาสติก จ้างงาน7,604 คน ลดลง 34.50% เป็นต้น” สำหรับแนวโน้มครึ่งหลังของปี 62(ก.ค.-ธ.ค.)คาดว่าการลงทุนในการขออนุญาตประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการจะมีความคึกคักมากกว่าครึ่งแรกของปี62 แน่นอน เนื่องจากได้อานิสงส์จากสถานการณ์ทางการเมืองภายหลังเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มีความชัดเจนมากขึ้นทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุน อย่างไรก็ตามปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน แม้ว่าจะมีท่าทีผ่อนคลายลง แต่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สร้างความกังวลใจแก่นักลงทุน รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน