นายแพทย์สรร สุนทรธนากุล อดีตนายกเทศมนตรีตำบลโพนพิสัย อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เปิดเผยภายหลังการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหลายๆ ภาคส่วน เรื่องการพัฒนาตำบลจุมพล อำเภอโพนพิสัย สู่การยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองโพนพิสัย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 ว่า
“ประเด็นการพัฒนาเขตเมืองโพนพิสัย เป็นสิ่งที่ตนและผู้บริหารท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้คิดไว้เมื่อ 9 ปีที่แล้ว โพนพิสัย เป็นเมืองที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในหลายๆ ด้าน เรื่องการยุบรวม องค์การบริหารส่วนตำบลจุมพล กับ เทศบาลตำบลโพนพิสัย เป็นเรื่องที่พูดคุยกันมานานแล้วซึ่งได้มีการเตรียมการและมีการพัฒนามาเป็นระดับ
ส่วนตัวแล้วผมในฐานะอดีตนายกเทศมนตรีตำบลโพนพิสัย และ นายสงกรานต์ ศรีตะบุตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจุมพล เราสามารถพูดคุยกันได้ รวมไปถึงคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ ได้นัดประชุมพูดคุยกันเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา โดย อบต.จุมพล มีทั้งหมด 26 หมู่บ้าน ประชากรราว 20,000 คน ทั้งนี้เพื่อที่จะพัฒนาตำบลจุมพลทั้งตำบลให้เป็นเทศบาลเมืองโพนพิสัย ซึ่งหมายถึงจะต้องมีประชากรภายในเขตเทศบาลเมือง จำนวน 10,000 คน ขึ้นไป และมีรายได้บริหารจัดการตัวเองได้ ซึ่งปัจจุบันก็มี พ.ร.บ. อบต. ใหม่ พ.ศ.2562 องค์การบริหารส่วนตำบล มีสมาชิก อบต.ได้หมู่บ้านละ 1 คน คือ จะลดลงกึ่งหนึ่ง จากเดิมมี 52 คน ก็จะเหลือแค่ 26 คน
เพราะฉะนั้นจังหวะนี้ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้พูดคุยกันในเรื่องนี้ เพราะถ้าเทศบาลเมืองเกิดขึ้นก็จะมีสมาชิก จำนวน 18 คน จากเดิมมี 52 เหลือ 18 ถือว่าสมาชิกลดลงเยอะ ตนเคยเสนอมาแล้วครั้งหนึ่งแต่ไม่สำเร็จ เพราะทางองค์การบริหารส่วนตำบลคิดว่าตำแหน่งหายไปเยอะ แต่ในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีเพราะตัวเลข จาก 26 คน และ 18 คนนั้นห่างกันไม่มาก ก็คิดว่าสมาชิก อบต. เองก็ได้รักษาการมานานแล้ว เพราะไม่มีการเลือกตั้งก็คงจะถึงจุดอิ่มตัวที่จะหันมาดูแลบ้านเมืองในโอกาสนี้
อีกทั้งรัฐบาลก็จะประกาศให้มีการเลือกตั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปี พ.ศ. 2563 ตนคิดว่าในช่วงนี้น่าจะเป็นการยกระดับการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอโพนพิสัย เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะถ้าคิดทำหลังเลือกตั้งก็คงจะยุ่งยากกว่าเดิม จึงมีการพูดคุยในระดับผู้บริหาร สมาชิก อบต. สมาชิกเทศบาล ผู้นำท้องถิ่น ปราชญ์ในพื้นที่ ข้าราชการบำนาญ ผู้หลักผู้ใหญ่ในอำเภอ ข้าราชการ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงนายอำเภอโพนพิสัย ซึ่งได้ตกผลึกกันเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่า ถ้าเราต้องการตั้งเขตเมืองโพนพิสัยให้เป็นเทศบาลเมืองจะเห็นด้วยหรือไม่ หรือเป็นในรูปแบบไหน
ซึ่งก็มีข้อเสนอแนะอยู่ 2 รูปแบบ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย คือ ถ้าจะเป็นเทศบาลเมืองประชากรต้องเกิน 10,000 คน เนื่องจากประชากรในเขตตำบลจุมพลมี จำนวน 20,000 คน หรือแบบที่ 2 คือ เทศบาลเมืองโพนพิสัยมีประชากร 11,000 คน ส่วน อบต.จุมพล มีประชากรราวๆ 8,000 - 9,000 คน แต่ก็จะมีข้อดี ข้อเสียทั้งสองอย่างก็คือ ข้อดีของการรวมหมดคือไม่มีการทิ้งประชาชนที่อยู่รอบนอก คือ 26 หมู่บ้านที่อยู่ชายขอบ เพื่อจะได้รับการพัฒนาไปพร้อมกันและประชาชนก็จะรู้สึกว่าตัวเองอยู่ภายในเขตเทศบาลเมือง ด้านงบประมาณในการบริหาร สวัสดิการของประชาชนก็จะดีขึ้น รายได้ในการสนับสนุนเทศบาลเมืองก็จะไปช่วยเหลือประชาชนเพิ่มมากขึ้นไม่มีการทิ้งกันถูกการพัฒนาไปด้วยกัน
โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภค คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น ส่วนข้อเสียไม่ได้เกิดกับประชาชน แต่เกิดกับคณะผู้บริหารคือจะมีคณะผู้บริหารชุดเดียว มีนายกฯ คนเดียว สมาชิกสภาฯ ลดลง แต่ถ้าแยกการบริหาร ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่มาร่วมกับเทศบาลเมือง ประชากรก็จะได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบก้าวกระโดด ส่วนที่อยู่รอบนอกก็จะไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรเพราะติดอยู่ในเรื่องของงบประมาณ เนื่องจากเป็น อบต.ใหญ่ แล้วถูกบีบให้ลดลง
ส่วนข้อสรุปในวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมาสรุปได้ว่า เสียงส่วนใหญ่ 95% เห็นด้วยในการพัฒนาอำเภอโพนพิสัยให้เป็นเทศบาลเมืองโพนพิสัย และอยากให้ทั้งสอง อปท. ควบรวมกันทั้งหมดไม่อยากให้ทิ้งกัน ทั้งนี้ทีมผู้บริหารก็มีความคิดเห็นร่วมกัน ด้วยความเสียสละไม่มองถึงตำแหน่ง มองถึงการพัฒนาบ้านเมืองก่อน เมื่อถึงเวลาได้เป็นเทศบาลเมืองโพนพิสัยแล้วใครที่จะเหมาะสมเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ใครจะเป็นสมาชิกสภาฯ ก็สุดแล้วแต่พี่น้องประชาชนจะเป็นคนเลือก ซึ่งตอนนั้นทุกคนพร้อมใจกันว่าถึงเวลานั้นค่อยว่ากันใหม่แต่ขอให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าให้ได้ ให้เป็นเทศบาลเมืองเสียก่อน
ด้านความคิดเห็นของประชาชนนั้นไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะอยากจะได้งบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น อยากได้สวัสดิการภาคประชาชนเพิ่มขึ้น ไม่อยากอยู่ข้างหลัง อยากได้บริการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ แต่ที่ผ่านมาติดขัดอยู่ที่ผู้นำ หรือผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาฯ และข้าราชการที่อาจจะคิดว่าถ้าควบรวมแล้วอาจจะมีผลกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งรอบนี้ความคิดดังกล่าวได้ลดลง และได้หันมามองประโยชน์ของบ้านเมืองเพิ่มมากขึ้น”.



















