ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับผู้บริหาร บมจ. ทีโอที และทีมงาน ลงพื้นที่ตรวจงานโครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อติดตามความคืบหน้าการวางสายใยแก้วนำแสงเพิ่มเติมสำหรับโรงเรียน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่อยู่ห่างไกลในจังหวัดภาคเหนือ จ.เชียงราย ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ มอบหมายให้ ทีโอที เป็นผู้ดำเนินงานโครงการฯ โดยขยายและปรับปรุงโครงข่ายเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยเคเบิลใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ไปยังโรงเรียนและโรงพยาบาลของรัฐที่ยังไม่มีการเข้าถึง สำหรับในการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้เยี่ยมชมการใช้งานจริงของนักเรียนและครู โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเทคนิคดุสิต เปิดการเรียนการสอนในระดับอนุบาล และประถมศึกษา นักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าลีซอ กับ อาขะ ฐานะยากจน อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดย 20% หรือราว 20 คน เป็นนักเรียนที่กินนอนในโรงเรียน เนื่องจากพ่อแม่ที่เป็นชาวเขาเร่ร่อนทำมาหากิน โดยทีโอที ลากสายใยแก้วนำแสงมาถึงโรงเรียนแล้ว ให้บริการด้วยความเร็ว 100 Mbps “ผมได้ให้ความเห็นเพิ่มกับโรงเรียนด้วยว่า เมื่อโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้เข้าถึงแล้ว ต่อไปขอให้โรงเรียนประยุกต์ใช้บริการอินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์ในการให้ความรู้ การเรียนการสอน แก่นักเรียน” ดร.พิเชฐ กล่าว ขณะเดียวกัน ได้มอบข้อเสนอแนะกับทีโอที ว่าควรมีการให้บริการคอนเทนต์ เพื่อใช้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อส่งเสริมกับโครงการที่มีอยู่ของโรงเรียน เช่น โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน, โครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา เพราะทีโอทีมีสถาบันที่เรียกกว่า TOT Academy หรือนำเทคโนโลยี Hi-Tech มาสอนนักเรียน เช่น หุ่นยนต์ ซึ่งสามารถทำงานร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า), โครงการฝึกอาชีพ เช่น เกษตรกรรุ่นใหม่ ขายของออนไลน์ มัคคุเทศก์ และโครงการส่งเสริมสหกรณ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมการใช้ประโยชน์ที่ รพ.สต.โป่งกลางน้ำ ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย โดย รพ.สต. แห่งนี้ให้บริการสาธารณสุขกับประชากรจำนวนราว 3,000 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 2 หมู่บ้าน โดยมีการให้บริการทางการแพทย์กับประชาชนทุกวัน ปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่เป็นอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ หวัด และระบบกล้ามเนื้อ อีกทั้งคนไข้บางส่วนเป็นกลุ่มเยาวชน เนื่องจากมีบุตรเมื่ออายุน้อย “การให้บริการอินเทอร์เน็ตสำหรับ รพ.สต.แห่งนี้ เมื่อก่อนใช้ดาวเทียมให้บริการ ซึ่งความเร็วช้า แต่ปัจจุบันใช้สาย Fiber Optic ของโครงการฯ ทำให้มีความเสถียรภาพและความเร็วสูงขึ้น 200/100 Mbps ให้บริการโดยทีโอที ซึ่ง รพ.สต. จะใช้บริการอินเทอร์เน็ตกับคอมพิวเตอร์ 4 เครื่อง เชื่อมต่อกับโรงพยาบาลแม่สลวย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย โดยมีการ Back Up ข้อมูลไปเก็บทุกอาทิตย์ และติดต่อสื่อสารกับโรงพยาบาลแม่ข่ายได้ทุกวัน หนุนเสริมประสิทธิภาพการตรวจรักษาทางไกล (Tele-Medicine)” ดร.พิเชฐ กล่าว ดร.พิเชฐ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามโครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตได้เห็นการใช้งานจริง และการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จากงบประมาณของกระทรวงฯ พบว่าทั้งนักเรียน ครู ตชด. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีความพึงพอใจที่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วดี ๆ ในการเรียนรู้ และปฏิบัติงาน