นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุข้อความว่า ...
หุ้นสื่อ...จะไปอย่างไร และจะจบอย่างไร เรื่องการถือหุ้นสื่อของ ส.ส. ที่กำลังเป็นที่สนใจอยู่ในขณะนี้นั้น ในความเป็นจริงเป็นเรื่องกฎหมายมากกว่าเรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องกฎหมายที่ค่อนข้างซับซ้อนสำหรับคนที่ไม่มีความรู้กฎหมาย และยิ่งซับซ้อนมากขึ้นเมื่อคนที่รู้กฎหมายบางคนใช้ความซับซ้อนนี้สร้างความสับสนและความเข้าใจผิดๆ ให้เป็นความวุ่นวายทางการเมือง เริ่มจากการที่มีผู้สมัคร ส.ส. สองคนถูกตรวจสอบเรื่องการถือหุ้นสื่อในระหว่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา และมีผู้สมัคร ส.ส. อีกหนึ่งคน คือ นายธนาธร ที่ถูกกล่าวหาร้องเรียนในเรื่องเดียวกันแต่เป็นเวลาภายหลังการประกาศผลเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 แล้ว และมีอีกกรณีที่ ส.ส.ฝ่ายค้านยื่นเรื่องไปที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจำนวนหนึ่งขาดคุณสมบัติเพราะถือหุ้นสื่อ ทำไมทั้งสามกรณีจึงปฏิบัติต่างกัน สำหรับกรณีแรก ผู้สมัครทั้งสองคนถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งสั่งให้ถอนรายชื่อออกจากบัญชีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพราะมีคุณสมบัติต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้ง และเป็นการตรวจพบก่อนวันเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2560 มาตรา 42 และมาตรา 61 ที่กำหนดว่า “มาตรา 42 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (1) ................ (2) ................ (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2560 มาตรา 61 กำหนดว่า “มาตรา 61 ก่อนวันเลือกตั้ง หากคณะกรรมการเห็นว่าผู้สมัครของพรรคการเมืองใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคําร้องต่อศาลฎีกาให้ถอนชื่อผู้นั้นออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัคร ..............” จากหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2560 มาตรา 42 และมาตรา 61 ข้างต้น จึงทำให้กรณีของผู้สมัคร ส.ส. สองคนแรกที่ถูกกล่าวหาร้องเรียนก่อนวันเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ต้องไปสู่ศาลฎีกาซึ่งก็คือศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งนั้นเอง กรณีนี้จึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตามที่กฎหมายระบุไว้ ส่วนกรณีของนายธนาธรนั้นถูกกล่าวหาร้องเรียนในเดือนพฤษภาคม 2562 หลังวันประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 และนายธนาธรเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งด้วย กรณีของนายธนาธรจึงต้องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2560 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่า “มาตรา 54 กรณีที่พบเหตุตามมาตรา 53 ภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง และผู้นั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย...” ทั้งนี้ เหตุตามมาตรา 53 ก็คือกรณีพบว่ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ที่เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 42 ภายหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้วนั่นเองการปฏิบัติในกรณีนี้จึงชอบด้วยกระบวนการตามกฎหมายแล้ว ส่วนกรณีของ ส.ส. 41 คนที่ถูก ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้านจำนวน 66 คนยื่นเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรว่าความเป็น ส.ส. สิ้นสุดลงเพราะถือหุ้นสื่อนั้น ไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพราะเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่งที่กำหนดว่า “มาตรา 82 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา จํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๐๑ (๓) ............แล้วแต่กรณี และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคําร้อง ส่งคําร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่” กรณีนี้จึงชอบด้วยกระบวนการตามกฎหมายแล้วเช่นกัน แล้วยังไงต่อ ประเด็นปัญหาแรก คือ คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งในเรื่องการถือหุ้นสื่อของ ส.ส. นี้ เป็นที่สุดยุติเด็ดชาดแล้วหรือไม่ ประเด็นนี้ต้องเข้าใจก่อนว่ารัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายแม่บทของกฎหมายทุกฉบับ รัฐธรรมนูญจึงเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์การห้ามถือหุ้นสื่อนี้ไว้ในมาตรา 98 และมาตรา 101 (3) แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2560 จะนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเรื่องการห้ามถือหุ้นสื่อไปบัญญัติไว้เป็นบทบัญญัติของกฎหมายนั้นด้วย แต่การตีความบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวในเรื่องเดียวกันกับเรื่องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือที่มีบทบัญญัติกำหนดให้อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญด้วย ก็จะอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อประเด็นที่เป็นปัญหาไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ต้องยึดถือตามคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ เพราะคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญอยู่เหนือศาลอื่นรวมทั้งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมผูกพันทุกองค์กรตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่ ที่ว่า “คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ” ดังนั้น แม้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งจะเคยมีคำพิพากษาว่าการที่ผู้สมัคร ส.ส. สองคนถือหุ้นอยู่ในบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิว่ามีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อหรือสิ่งพิมพ์ก็เป็นผู้ขาดสุณสมบัติในการเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แล้ว โดยไม่ต้องไปพิจารณาดูว่าบริษัทนั้นทำธุรกิจหรือทำกิจการด้านสื่อ สิ่งพิมพ์ หรือสื่อมวลชน จริงหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นคำพิพากษาที่เป็นที่สุดหรือเป็นที่ยุติเด็ดขาด หากแต่ต้องรอฟังคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ต่อไป ประเด็นปัญหาที่สอง คือ เหตุใดปัญหาประเด็นเดียวกันในเรื่องการถือหุ้นสื่อนี้จึงสามารถขึ้นสู่ศาลที่แตกต่างกันได้ถึงสองศาล ประเด็นนี้ ต้องเข้าใจว่าหลักเกณฑ์ที่เป็นข้อห้ามการถือหุ้นสื่อนั้นเป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดเริ่มต้นไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 98 และมาตรา 101 (3) ซึ่งถูกนำไปกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2560 ในภายหลังด้วย ประกอบกับบทบัญญัติของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2560 มาตรา 54 และมาตรา 61 กำหนดให้เรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญได้แล้วแต่กรณีดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นการพิจารณาหรือการตีความหลักเกณฑ์เรื่องการถือหุ้นสื่อนี้จึงเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญด้วย แต่อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องเดียวกันนี้ย่อมอยู่เหนือคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งดังที่ได้กล่าวมาแล้วเช่นกัน ประเด็นปัญหาที่สาม คือ เหตุใดกรณีนายธนาธรศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. และเหตุใดในกรณีของ ส.ส. 32 คน ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. เหมือนกรณีของนายธนาธร ประเด็นนี้ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง กำหนดว่า “เมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัย....” จากหลักเกณฑ์ในมาตรา 82 วรรคสองนี้จะเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจสั่งให้ ส.ส. ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อเมื่อปรากฏ “เหตุอันควรสงสัย” ว่า ส.ส. ผู้ถูกร้องมีเหตุตามที่ถูกร้องนั้น ดังนั้น หากไม่ปรากฎ “เหตุอันควรสงสัย” ดังกล่าวแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจสั่งให้ ส.ส. ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ กรณีของนายธนาธรนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ตรวจสอบพยานหลักฐานและสอบสวนนายธนาธรแล้วปรากฎเหตุที่ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่านายธนาธรเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายจริง คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงส่งเรื่องนายธนาธรพร้อมสำนวนการสอบสวนและพยานหลักฐานต่างๆ ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามบทบัญญัติพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2560 มาตรา 54 จึงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นได้จากคำร้องและสำนวนการสอบสวนและพยานหลักฐานของคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ว่ามี “เหตุอันควรสงสัย” ว่านายธนาธรมีพฤติการณ์ตามที่ถูกร้องจริง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ได้ ส่วนกรณีของ 32 ส.ส. ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณาวินิจฉัยนั้น ยังไม่ปรากฎการสอบสวนและพยานหลักฐานที่ผ่านการตรวจสอบและสอบสวนจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเช่นคณะกรรมการการเลือกตั้งมาก่อน เป็นแต่เพียงการรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานเบื้องต้นประกอบคำกล่าวหาร้องเรียน และเป็นการดำเนินการโดย ส.ส. 66 คนของพรรคฝ่ายค้านเอง ที่ต้องถือว่าเป็นข้อมูลและพยานหลักฐานของผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับ ส.ส. 32 คนที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วย จึงต้องพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและพยานหลักฐานต่อไปว่าถูกต้องจริงเท็จอย่างไร ในเบื้องต้นนี้จึงยังไม่มีเหตุเพียงพอที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมี “เหตุอันควรสงสัย” ว่า ส.ส. 32 คนที่ถูกร้องนั้นมีพฤติการณ์ตามที่ถูก ส.ส. 66 คน ของพรรคฝ่ายค้านร้องนั้นจริงหรือไม่ กรณีจึงต่างกับกรณีของนายธนาธร และเมื่อยังไม่มี “เหตุอันควรสงสัย” ว่า ส.ส. 32 คนที่ถูกร้องนั้นมีพฤติการณ์ตามที่ถูก ส.ส. 66 คน ของพรรคฝ่ายค้านร้องจริงหรือไม่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึง “ไม่มีอำนาจ” ที่จะมีคำสั่งให้ ส.ส. 32 คนนั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้นเอง เรื่องก็มีเพียงเท่านี้เองครับ