นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ส่วนใหญ่ปัญหาในการจัดการศัตรูพืชของเกษตรกรจะพึ่งพาสารเคมีเป็นหลัก การควบคุมศัตรูพืช อาศัยประสบการณ์และความเคยชิน ขาดความรู้ด้านวิชาการเป็นอย่างมาก ทำให้การผลิตพืชขาดทั้งปริมาณ คุณภาพ และระบบนิเวศถูกทำลาย กรมส่งเสริมการเกษตร จึงวางเป้าหมายให้จัดตั้ง ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) เน้นการพัฒนาเกษตรกรและชุมชน ให้สามารถจัดการศัตรูพืชได้ด้วยตนเองอย่างครบวงจร ทั้งนี้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ชุมชนและหน่วยงานราชการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเพื่อทำให้เกษตรกร ชุมชน มีความเข้มแข็งในอาชีพเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ลดการพึ่งพาสารเคมี ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรใช้ ศจช.เป็นกลไกและเครือข่ายของการจัดการศัตรูพืช เป็นศูนย์เครือข่ายของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) ปัจจุบัน ศจช.มีทั้งหมด 1,764 แห่ง อำเภอละ 2 แห่งทั่วประเทศ โดยปัจจุบันศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนใช้เทคนิคการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร คือการเรียนรู้ควบคู่กับการปฏิบัติจริง เพื่อให้เกษตรกรจัดการศัตรูพืชได้ด้วยตนเองอย่างครบวงจรและยั่งยืน โดยให้เกษตรกร ชุมชน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการระบาดศัตรูพืชแก่เกษตรกร และเป็นจุดในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการระบาดของศัตรูพืช รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของเกษตรกรในการถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีด้านการจัดการ ศัตรูพืชอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อช่วยแก้ปัญหาการระบาดของศัตรูพืช และลดการใช้สารเคมี ในระยะยาว นายทวีพงศ์ สุวรรณโร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กล่าวว่า ปัจจุบันตั้งเป้าให้ ศจช.ทุกแห่งจัดทำแปลงเรียนรู้การจัดการศัตรูพืชอย่างเหมาะสมตามสภาพพื้นที่ รวมถึงการจัดระดับชั้นของ ศจช.เพื่อวางแผนพัฒนาและปรับปรุงให้เหมาะสม ตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ต่อไป สำหรับ ศจช.ตำบลบางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่แสดงให้เห็นถึงการวิเคราะห์และการทำงานร่วมกันของชุมชนที่ร่วมกันวางแผน ป้องกัน จัดการปัญหาที่เกิดขึ้น เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกมะพร้าวและมันสำปะหลังและมีการอบรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการป้องกัน กำจัดศัตรูมะพร้าวแก่สมาชิกและเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมการระบาดไม่ให้ขยายออกไป ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรอำเภอศรีราชา สำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรี และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชลบุรี เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ และติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวเช่น การผลิตขยายแตนเบียนบราคอน การตัดทางใบลงมาเผาทำลาย ซึ่งวิธีการดังกล่าวสามารถลดการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวลงได้อย่างชัดเจน ทำให้สมาชิกเห็นความสำคัญในการดำเนินงานและเข้ามาร่วมวางแผนกันอย่างต่อเนื่อง