วันนี้ (27 มิถุนายน 2562) นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร คณะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่และเจ้าหน้าที่จากกรมการค้าภายใน และกรมประมง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์สินค้าประมง ณ ตลาดทะเลไทย จังหวัดสมุทรสาคร นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่มีข่าวว่ามาตรการแก้ไขปัญหา IUU (Illegal Unreported and Unregulated Fishing) ทำให้ต้นทุนราคาสินค้าของประมงไทยเพิ่มสูงขึ้นและมีการลักลอบนำสินค้าประมงจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาจำหน่าย ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าประมงในประเทศนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์การค้าที่ตลาดทะเลไทย จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นตลาดที่มีการขายส่งสินค้าประมงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศมีสินค้าทั้งที่เป็นของไทยและที่นำเข้า คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ยังไม่พบปัญหาการลักลอบนำเข้าดังกล่าว โดยผู้ค้าในตลาดทะเลไทย (แพปลา) มีระบบการซื้อขายที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องและแหล่งที่มาของสินค้าประมงก่อนจำหน่ายได้ โดยในการซื้อขายสินค้ากรมประมงจะมีหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (MCPD) ณ ท่าเทียบเรือ หนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำนำเข้า (IMD) ณ ด่านที่มีการนำเข้าสัตว์น้ำ ก่อนที่จะมากระจายต่อที่ตลาดทะเลไทย และผู้ประกอบการเองก็มีมาตรการควบคุมที่ใช้ในระหว่างขนถ่ายมาตลาดอีกด้วย เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าไม่มีสินค้าลักลอบสวมเข้ามา ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าไม่มีการนำสินค้าประมงลักลอบผิดกฎหมายมาจำหน่ายในตลาด และกระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการและเจ้าของสถานที่ให้ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับทางราชการ เพื่อไม่ให้มีสินค้าลักลอบเข้ามาจำหน่ายด้วย เพราะจะมีผลกระทบต่อชาวประมงที่ทำอย่างถูกกฎหมาย ส่วนปลาที่ขนส่งเข้าโรงงานโดยตรงก็มีระบบตรวจสอบควบคุมของกรมประมงอย่างรัดกุมกำกับอยู่ จากการสำรวจสินค้าในตลาดสดพบว่า ราคาสินค้าประมงโดยทั่วไป การเคลื่อนไหวของราคาสินค้ายังคงเป็นไปตามกลไกตลาดและฤดูกาล ราคาสินค้าปลาหมึกในปัจจุบันมี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 195 บาท/กก. สูงขึ้นจากปี 2560 ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 172 บาท/กก. หรือสูงขึ้น ร้อยละ 13 โดยราคาสินค้าขายปลีกในตลาดทะไลไทย พบว่า ราคาต่ำกว่าราคาขายปลีกตามตลาดทั่วไป เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งขายส่ง สำหรับสินค้าประมงจากประเทศเพื่อนบ้านที่ยังไม่ได้ดำเนินมาตรการแก้ปัญหา IUU เช่นเดียวกับประเทศไทยนั้น IUU มีความเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วน ทั้งเรือประมง แรงงาน ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตและแปรรูป รัฐบาลจะต้องหารือและรับฟังจากผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน สำหรับสินค้าประมงเพาะเลี้ยงที่มีการนำเข้ามาแข่งขันกับสินค้าประมงเพาะเลี้ยงของไทย เช่น ปลากะพง มีสาเหตุจาก ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่เป็นรายย่อย จึงมีต้นทุนการผลิตสูงกว่า และในกรณีของปลาสวายซึ่งต้องแข่งขันกับปลาดอลลี่จากเวียดนามซึ่งมีการแปรรูปสินค้าให้สะดวกต่อการบริโภค ดังนั้น เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาของไทยต้องปรับตัวเพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยรวมกลุ่มเป็นประมงแปลงใหญ่ รวมทั้ง มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้สะดวกกับผู้บริโภค เช่นเดียวกับสินค้านำเข้า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ลักลอบสินค้าประมงในภาพรวมขณะนี้ซึ่งเป็นช่วงปิดอ่าวไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากกรมประมงมีการกำกับดูแลการลักลอบนำเข้าอย่างเข้มงวดและกรมการค้าภายในติดตามสถานการณ์ด้านราคาอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว ในภาพรวม ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าประมงอันดับต้นๆ ของโลก การนำเข้าวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานถูกต้องตามหลักสากลที่ประเทศไทยผลิตได้ไม่เพียงพอหรือไม่มีในไทย จำเป็นต่ออุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อส่งออกของไทย การดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหา IUU จะเป็นสร้างความเชื่อมั่นทางการค้าเพิ่มขึ้นจากการทำประมงที่ถูกกฎหมาย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมประมงของไทยให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงในแต่ละปีประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 62,000 ล้านบาท