วันนี้ (26 มิ.ย. 62) บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด เผย “ผลการสำรวจซองเปล่าบุหรี่ (Empty Pack Survey)”  ซึ่งทำการสำรวจสัดส่วนบุหรี่ที่ไม่เสียภาษีจากซองเปล่าบุหรี่ที่ถูกทิ้งแล้ว 10,000 ซอง โดยสุ่มเก็บตามท้องถนนและสถานที่ทิ้งขยะสาธารณะใน 36 จังหวัด ทั่วประเทศไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 พบซองบุหรี่ไม่เสียภาษี (ไม่มีแสตมป์สรรพสามิตไทย) เหลือเพียง 5.2% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่พบบุหรี่ผิดกฎหมายราว 6.6% เนื่องจากราคาบุหรี่ปรับตัวสูงขึ้นจากการปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิต โดยฟิลลิป มอร์ริสขอแสดงความชื่นชมและยินดีกับภาครัฐบาล และหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ร่วมมือกันดำเนินงานตามมาตรการปราบปรามเชิงรุกให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม นายพงศธร อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ให้ความเห็นว่า “ถือเป็นความสำเร็จของกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการปราบปราม ทำให้สัดส่วนบุหรี่ไม่เสียภาษีเฉลี่ยทั่วประเทศลดลง ซึ่งประเมินแล้วว่า ช่วยลดการสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีของภาครัฐได้มากถึง 2 พันล้านบาท แต่สถานการณ์ในจังหวัดที่พบบุหรี่ไม่เสียภาษีมากที่สุดและเป็นที่น่าจับตามอง คือ 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ที่พบบุหรี่ ไม่เสียภาษีสัดส่วนสูงถึง 73.4% ตามมาด้วย สตูล 72.7% และพัทลุง 36%” นายพงศธรเสริมว่า “ร้อยละ 70 ของซองบุหรี่เปล่าที่ไม่เสียภาษีที่พบในการสำรวจนั้น ไม่ปรากฏฉลากที่ระบุว่าผลิตมาเพื่อจำหน่ายในประเทศใด หรือเพื่อจำหน่ายในร้านค้าปลอดอากรแต่อย่างใด จึงทำให้ไม่สามารถระบุที่มาของบุหรี่ดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามซองบุหรี่ที่ไม่เสียภาษีส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อที่เป็นที่รู้จักดีในตลาดชายแดนภาคใต้ และจากที่ได้พูดคุยกับร้านค้าปลีกรายเล็กๆ ในพื้นที่ซึ่งจำหน่ายบุหรี่ถูกกฎหมาย ก็ได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกับผลการสำรวจ ดังนั้น เรามองว่าหากมีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจเพื่อปราบปรามการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง คล้ายกับในประเทศออสเตรเลีย ก็น่าจะสามารถบรรเทาปัญหาลงได้” ขณะเดียวกัน นายพงศธรได้แสดงความกังวลต่อการจำหน่ายยาสูบแบบให้ความร้อนแต่ไม่เผาไหม้ (Heat-Not-Burn) ของ ฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ (พีเอ็มไอ) ผ่านช่องทางออนไลน์และเว็บไซต์ที่เพิ่มมากขึ้นว่า “ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อนฯ ดังกล่าวของพีเอ็มไอมีจำหน่ายอย่างถูกกฎหมาย ในกว่า 47 ประเทศทั่วโลกสำหรับผู้สูบบุหรี่ที่เป็นผู้ใหญ่และอาจยังคงสูบบุหรี่ต่อไป ผลิตภัณฑ์นี้อาจถูกจัดรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกับบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งประเทศไทยได้ห้ามนำเข้ามาตั้งแต่ปี 2557 แต่ด้วยความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ทางพีเอ็มไอจึงเฝ้าติดตามตลาดออนไลน์และเว็บไซต์ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้กับผู้บริโภคชาวไทยอย่างผิดกฎหมาย โดยในกรณีที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทางออนไลน์ (เช่นการใช้เครื่องหมายการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต) จะมีการส่งร้องเรียนไปยังเจ้าของแพลตฟอร์มให้ลบออกโดยทันที”