ปตท.ดูงานสมาร์ทซิตี้-โครงสร้างพื้นฐานเมือง ASPERN SEESTADT ออสเตรีย ผลักดัน”วังจันทร์ วัลเลย์”ต้นแบบสมาร์ทซิตี้ประเทศไทย รองรับการเปลี่ยนแแปลงของวิถีชีวิตในยุคดิจิทัล เตรียมขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆ นางหงษ์ศรี เจริญวราวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เปิดเผยระหว่างการนำสื่อมวลชนศึกษาดูงานการจัดการเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) และโครงสร้างพื้นฐาน ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ว่าการมาศึกษาดูงานสมาร์ทซิตี้ที่เมือง ASPERN SEESTADT ห่างจากกรุงเวียนนา 15 กิโลเมตร เพื่อดูวิธีการจัดการและแนวทางการดำเนินงาน เพื่อนำมาปรับใช้กับเมืองไทย โดยการสร้างเมืองอัจฉริยะของออสเตรียสร้างมาแล้ว 10 กว่าปี เน้นทั้งพื้นที่สีเขียว การใช้พลังงานอย่างประหยัดคุ้มค่า การสร้างคุณภาพชีวิตให้ประชากรที่อยู่อาศัยในเมืองASPERN ปัจจุบันมีประชากรอาศัยอยู่ 5,000 ครัวเรือน แต่ในอนาคตจะเพิ่มเป็น 30,000 ครัวเรือน โดยในพื้นที่แห่งนี้ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งโรงพยาบาล ระบบขนส่งในการเชื่อมต่อไปในกรุงเวียนนา และอื่นๆ ทั้งนี้ในเมือง ASPERN พบว่า การทำให้ประชาชน และส่วนงานอื่นๆ มีส่วนร่วมในการสร้างเมืองอัจฉริยะแห่งนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งประเทศออสเตรีย ได้พัฒนาหลายๆพื้นที่ให้เป็นสมาร์ท ซิตี้ รองรับการเปลี่ยนแแปลงของวิถีชีวิตในยุคดิจิทัล เช่นเดียวกับเมืองไทยต้องพัฒนาสมาร์ท ซิตี้เป็นต้นแบบ เพื่อนำไปสร้างสมาร์ท ซิตี้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย สำหรับรัฐบาลได้เลือกวังจันทร์ วัลเลย์ ที่ จ.ระยอง ดำเนินการโดย ปตท.เป็นต้นแบบในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ภายใต้โครงการพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EECi)และเมื่อการพัฒนาวังจันทร์ วัลเลย์ เสร็จสมบูรณ์ สามารถนำไปเป็นต้นแบบการพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆของประเทศไทย อย่างไรก็ตามสมาร์ทซิตี้ แต่ละภาคนั้นไม่เหมือนกัน เพราะขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละพื้นที่ด้วย “ปตท.ได้พัฒนาพื้นที่วังจันทร์ วัลเลย์ จ.ระยอง มาหลายปีแล้ว เริ่มจากการปลูกป่าสร้างพื้นที่สีเขียว การสร้างโรงเรียนกำเนิดวิทย์ และขณะนี้ ปตท.กำลังจะขยายพื้นที่การพัฒนาวังจันทร์ วัลเลย์ ที่มีอยู่ 3,500 ไร่ ให้รองรับการเป็นสมาร์ทซิตี้ โดยใช้เงินประมาณ3,000 ล้านบาท ลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบน้ำ ไฟฟ้า และระบบขนส่ง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเติบโต การเข้ามาใช้พื้นที่ของวังจันทร์ วัลเลย์ ในอีก 10 ปีข้างหน้า คาดจะลงทุนระบบสาธาณูปโภคขั้นพื้นฐานแล้วเสร็จในปี2563” นางหงษ์ศรี กล่าวต่อว่า ภายในต้นเดือนก.ค.นี้ ปตท.เตรียมลงนามให้เช่าใช้พื้นที่กับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)เพื่อทำโซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์รูฟลอยน้ำ กำลังผลิตรวม 2 เมกะวัตต์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่แห่งขาติ(สวทช.)จะเช่าพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวมาจัดสรรให้กับกลุ่ม Synchrotron ที่มีความต้องการพื้นที่ 200 ไร่ รวมถึง ปตท.มีความร่วมมือด้านต่างๆกับกลุ่มจีอี จากสหรัฐ ฯ คาดหวังว่า จีอี จะเข้ามาตั้ง global research center ในพื้นที่ EECi และยังได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท หัวเว่ย จำกัด เพื่อจะนำเทคโนโลยีมาใช้และจะทำแผนงานร่วมกันในรูป Innovation Campus ของหัวเว่ย มาพัฒนาในพื้นที่ EECi เป็นต้น สำหรับการสร้างพื้นที่อยู่อาศัย หรือคอมมูนิตี้ โซน(Community Zone)ปตท.มีทั้งหมดประมาณ 100 ไร่ ขณะนี้ได้เตรียมเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเช่าใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อพัฒนาเป็นโรงเรียนนานาชาติ โรงแรม และห้างสรรพสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาอยู่อาศัย โดยในไตรมาส 3 ของปีนี้จะเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาพัฒนาสร้างโรงเรียนนานาชาติก่อน เนื่องจากเป็นความของต้องการพนักงานที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ EECi ภายใต้เงื่อนไขสัญญา 30 ปี และหลังจากนั้นจะทยอยการพัฒนาในส่วนอื่นๆจนครบพร้อมเปิดให้บริการในปี 2565