คต.เผยมูลค่าการใช้สิทธิ์ FTA และ GSP 4 เดือนปี 62 มีมูลค่า 2.42 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% อาเซียนนำใช้สิทธิ์สูงสุด คาดตั้งแต่ 1 ก.ค.62 เริ่มใช้ Form D แบบซื้อขายผ่านนายหน้า จะช่วยให้ไทยเพิ่มยอดการใช้สิทธิ์ส่งออกไปยังอาเซียนอื่นและ CLMV ได้เพิ่มขึ้น ส่วนการใช้สิทธิ GSP มีมูลค่า 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 22.15% สหรัฐฯ ครองอันดับหนึ่ง นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วง 4 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่ารวม 24,274.56 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่ร้อยละ 80.27 เพิ่มขึ้น 5% โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 22,546.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.88% และภายใต้ GSP มูลค่า 1,727.77 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.15% สำหรับการใช้สิทธิ์ภายใต้ FTA จำนวน 12 ฉบับ โดย FTA อาเซียน-ฮ่องกง เป็นฉบับล่าสุดที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2562 ที่มีมูลค่า 22,546.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.88% นั้น คิดเป็นร้อยละ 79.79 ของมูลค่าการส่งออกภายใต้ FTA ไปยังประเทศคู่ภาคีความตกลง โดยตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อาเซียน (มูลค่า 8,272.23 ล้านเหรียญสหรัฐ) 2) จีน (มูลค่า 6,224.76 ล้านเหรียญสหรัฐ) 3) ออสเตรเลีย (มูลค่า 2,669.72 ล้านเหรียญสหรัฐ) 4) ญี่ปุ่น (มูลค่า 2,578.61 ล้านเหรียญสหรัฐ) และ 5) อินเดีย (มูลค่า 1,535.61 ล้านเหรียญสหรัฐ) นอกจากนี้เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ พบว่าตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ เปรู เพิ่มขึ้น 35.36% รองลงมาคือ จีน  เพิ่ม 16.07% และอินเดีย เพิ่ม 8.77% สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-ชิลี (ร้อยละ 109.12) 2) อาเซียน-จีน (ร้อยละ 99.01) 3) ไทย-เปรู (ร้อยละ 97.31) 4) ไทย-ญี่ปุ่น (ร้อยละ 93.70) และ 5) อาเซียน-เกาหลี (ร้อยละ 87.01) และรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียนสด น้ำตาลจากอ้อย และผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุดสดหรือแห้ง อย่างไรก็ตาม กรมฯ คาดว่าการส่งออกไปยังอาเซียนและ CLMV จะมีการใช้สิทธิประโยชน์ฯ เพิ่มมากขึ้นอีก หลังจากจะเริ่มใช้ Form D ที่ใช้หลักการซื้อขายผ่านนายหน้า 2 รูปแบบควบคู่กัน คือ Third Country Invoicing ร่วมกับ Back-to-Back ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป โดยหลักการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำเข้าสินค้าที่ใช้ Form D แบบ Third Country Invoicing ที่แนบ invoice ของพ่อค้าคนกลางประกอบการใช้สิทธิฯ ควบคู่กับมาขอ Form D แบบ Back to Back เพื่อกระจายสินค้าขายต่อไปยังประเทศอาเซียนอื่นๆ โดยเฉพาะการขายต่อไปยังประเทศกลุ่ม CLMV ได้ ซึ่งจะเอื้อต่อระบบการค้าปัจจุบันที่มีการซื้อขายผ่านนายหน้า และช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการไทยที่มีเครือข่ายทางการค้าและมีศักยภาพด้านโลจิสติกส์ให้มีแต้มต่อเพื่อแข่งขันได้ด้วยต้นทุนที่ถูกลงจากการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังจะทำให้ไทยสามารถพัฒนาเป็นฮับกระจายสินค้าในภูมิภาคอาเซียนได้ด้วย  ทั้งนี้ในส่วนของการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP จำนวน 4 ระบบ ประกอบด้วย สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ (ญี่ปุ่นตัดสิทธิการให้ GSP แก่ไทยตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2562) มีมูลค่า 1,727.77 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.15% มีอัตราการใช้สิทธิ ร้อยละ 87 ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP โดยสหรัฐฯ ยังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือ ร้อยละ 92 ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด มีมูลค่า1,591.58 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.21% มีอัตราการใช้สิทธิร้อยละ 106.63 ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 1,492.64 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง รถจักรยานยนต์ และแว่นตาที่ไม่ใช่กันแดด ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศระงับสิทธิ GSP กับอินเดีย โดยได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2562 ที่ผ่านมา เนื่องจากอินเดียไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการเปิดตลาดอย่างถูกต้องเหมาะสม และมีการออกมาตรการกีดกันทางการค้าที่ส่งผลเชิงลบต่อการค้าของสหรัฐฯ ดังนั้น เมื่ออินเดียถูกสหรัฐฯ ระงับสิทธิ GSP ผู้นำเข้าสหรัฐฯ อาจหันมาซื้อสินค้าจากแหล่งอื่น จึงถือเป็นโอกาสอันดีของไทยที่จะผลิตสินค้าเพื่อส่งออกทดแทนสินค้าอินเดียในสหรัฐฯ โดยเฉพาะรายการที่ยังมีมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ไม่สูงมากนัก โดยกลุ่มสินค้าที่ไทยน่าจะมีโอกาสบุกตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ ของทำด้วยหิน กระเป๋าถือและของที่พกติดกระเป๋าทำด้วยหนัง เครื่องจักสาน คาร์บอนกัมมันต์ (ถ่านสำหรับกรองอากาศในเครื่องปรับอากาศ) และแผ่นทำด้วยโพลิเมอร์ของโพรพิลีน เนื่องจากอินเดียจะต้องเสียภาษีนำเข้าปกติที่ประมาณ 0.1-54.6% ส่งผลให้สินค้านำเข้าจากอินเดียมีต้นทุนสูงขึ้น โดยในปี 2561 อินเดียมีมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ไปสหรัฐฯ รวม 6,234.84 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ไปสหรัฐฯ 4,314.90 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้านการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 4 เดือนที่มีมูลค่า 24,274.56 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% คิดเป็นร้อยละ 29.96 ของเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ  ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสวนทางกับภาวะการส่งออกของไทยในช่วง 4 เดือนแรกที่ลดลง 1.86% โดยต้องจับตามองปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก เช่น ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง การแข็งค่าของเงินบาทที่ทำให้ประเทศคู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อสินค้าจากไทย อีกทั้งผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อาจจะส่งผลต่อเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในปี 2562 ที่กรมฯ ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 81,025 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% ได้ แต่กรมฯ จะไม่หยุดส่งเสริมและผลักดันการใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออก และจะเดินหน้าปรับปรุงระบบการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการจัดกิจกรรมสัมมนาเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงสิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้อัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ บรรลุได้ตามเป้าหมายที่วางไว้