ไม่ทันไรก็ผ่านมากว่าหนึ่งสัปดาห์แล้วที่ "ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์" ของสหรัฐฯ เข้ามาบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ แทบไม่น่าเชื่อว่า แค่ช่วงเวลาไม่กี่วัน ประธานาธิบดีคนใหม่ไฟแรงได้สร้างความตกตะลึงไปแล้วทั่วโลก หลังเดินหน้าทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ก่อนหน้า แบบไม่รอช้าให้ใครต้องมาทวงถาม วันที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ได้กล่าวในสุนทรพจน์แรกในฐานะประธานาธิบดีหากใครยังได้ว่ามีประโยคทองว่า "America First" หรือ "อเมริกาต้องมาก่อน" ไฟแรงขนาดไหนหลังเข้ารับตำแหน่งแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ลงนามในคำสั่งที่จะนำไปสู่การยกเครื่องกฎหมายหลักประกันสุขภาพของชาวสหรัฐฯ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "โอบามาแคร์" ซึ่งผลหนึ่งในผลงานสุดภูมิใจของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามาในทันที โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการปรับลดภาระของภาครัฐ "ความมั่งคั่งของชนชั้นกลางถูกขโมยไปจากครอบครัวอเมริกัน และถูกกระจายไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จะมีเพียงแค่อเมริกาเท่านั้นที่เป็นที่หนึ่ง และผลประโยชน์ของอเมริกาจะมาก่อน ทุกการตัดสินใจด้านการค้า ด้านคนต่างด้าว ด้านการต่างประเทศ จะถูกตัดสินเพื่อผลประโยชน์ของแรงงานอเมริกันและครอบครัวชาวอเมริกัน" ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี นายทรัมป์กล่าวอยู่เสมอว่า สหรัฐฯ ถูกเอาเปรียบจากข้อตกลงการค้าต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรม เป็นที่มาของการทำลายเศรษฐกิจ ทำให้คนตกงาน ซึ่งเขาจะเปลี่ยนแปลงมันทันทีหากได้รับตำแหน่ง และวันนี้เขาก็ทำให้เห็นแล้ว เริ่มตั้งแต่การลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารถอนตัวออกจาก "ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก" (Trans-Pacific Partnership: TPP) ซึ่งประกอบไปด้วย 12 ประเทศ แม้สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มจะลงนามไปแล้ว โดยถือเป็นเครื่องมือสำคัญของอดีตประธานาธิบดีโอบามาในการดำเนินนโยบายหวนคืนสู่เอเชีย (Pivot to Asia) แต่ยังไม่ได้ผ่านการให้สัตยาบรรณซึ่งเป็นขั้นตอนภายในของสหรัฐฯ เนื่องด้วยสภาคองเกรสถูกควบคุมด้วยเสียงข้างมากของพรรครีพับลิกัน ข้อตกลงทีพีพีที่มี 12 ประเทศนั้น ถือเป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมร้อยละ 40 ของเศรษฐกิจโลก แต่เมื่อวันนี้ประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่งถอนตัวออกไป ประเทศที่เหลือในทีพีพีย่อมระส่ำระสายแน่นอน ในสมัยที่รัฐบาลประธานาธิบดีโอบามาเจรจาทีพีพีชักชวนชาติต่างๆ เข้าร่วมนั้น ชัดเจนว่าที่นั่งในทีพีพีไม่มีช่องว่างสำหรับจีน เพราะสหรัฐฯ ต้องการใช้ข้อตกลงนี้มาลดอิทฺธิพลของจีนที่กำลังผงาดขึ้นมาในภูมิภาค แต่วันนี้เกมเปลี่ยน โดย นายกรัฐมนตรีมัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ ของออสเตรเลีย แสดงท่าทีชัดเจนว่า ยินดีต้อนรับจีนอย่างยิ่งซึ่งรัฐบาลของเขากำลังหารืออย่างจริงจังกับหลายประเทศในทีพีพีอย่างญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ ที่จะหาทางกอบกู้ทีพีพีเอาไว้ให้ได้ แต่งานนี้ต้องไม่ลืมว่าจีนเองก็กำลังเดินหน้าข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่มี 10 ชาติอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่เรียกกันว่า Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ซึ่งในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ที่ผ่านมาของหว่า ชุนหยิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนก็ยังไม่มีสัญญาณใดว่าจีนสนใจจะเอาด้วยกับทีพีพี เพียงแต่บอกว่า จีนสนับสนุนการข้อตกลงการค้าที่เปิดกว้าง โปร่งใส และได้ประโยชน์ร่วมกันเท่านั้น ซึ่ง RCEP กำลังเดินหน้า และควรจะมีข้อสรุปได้ในเร็วนี้ อลัน ออซ์เลย์ จากองค์การการค้าโลก (WTO) มองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จีนจะกระโดดเข้ามาร่วมทีพีพี เมื่อดูจากปัจจัยหลายอย่างโดยเฉพาะปัญญาเศรษฐกิจภายในของจีนเอง ทางออกที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดสำหรับประเทศในทีพีพีตอนนี้ก็คือ การรอให้ฝุ่นตลบอบอวนบางลงก่อน แล้วดูว่าจะมีโอกาสเปลี่ยนทัศนคติของ (ผู้นำ) สหรัฐฯ ให้กลับมาบนเส้นทางทีพีพีได้หรือไม่ จัดการกับทีพีพีไปแล้ว "เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ" หรือ "นาฟตา" ซึ่งประกอบไปด้วย สหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่อง ที่ประธานาธิบดีทรัมป์มีความตั้งใจจะรื้อขึ้นมาหารือกันใหม่ และบอกว่าพร้อมจะถอนตัวจากนาฟตาทันทีหากไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ นาฟตาก็อาจจะจบไม่สวย เพราะทางเม็กซิโก โดยนายอิลเดฟอนโซ กัวจาร์โด รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเม็กซิโกก็ออกมาบอกชัดว่า มีเส้นแดงเหมือนกัน หากเจรจากันแล้วเม็กซิโกได้น้อยกว่าที่ได้อยู่ทุกวันนี้ ก็พร้อมออกจากข้อตกลงที่มีอายุยาวนานถึง 23 ปีนี้เช่นกัน เพราะก็คงไม่มีค่าที่จะอยู่ต่อไป แต่ทั้งนี้ ร้อยละ 80 ของการส่งออกของเม็กซิโกอยู่ที่ตลาดสหรัฐฯ ซึ่งชัดเจนว่าพึ่งพาเศรษฐกิจสหรัฐฯ "เราจะปกป้องเขตแดนของเรา จากการสร้างความเสียหายโดยต่างประเทศ ที่ผลิตสินค้าของเรา ขโมยผลประโยชน์ไปจากบริษัทอเมริกัน และทำลายการจ้างงานในสหรัฐฯ" อีกหนึ่งเรื่องที่ทุกคนจับตามองกันมากก็คือ นโยบายที่ประกาศไว้ว่าจะสร้างกำแพงกั้นระหว่างชายแดนสหรัฐฯ กับเม็กซิโกซึ่งยาวถึง 3.2 พันกิโลเมตร โดยที่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะให้เป็นฝ่าเยเพื่อนบ้านทางใต้รับผิดชอบ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่จะสกัดกั้นการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจากละตินอเมริกา ปรากฏว่าประธานาธิบดีทรัมป์ก็ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารให้เดินหน้าแล้ว ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เข้ามานั่งในทำเนียบขาว "ชาติที่ไม่มีพนมแดนย่อมไม่ใช่ชาติ เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ สหรัฐอเมริกาจะกลับไปควบคุมชายแดนของตนเองเอง" ประธานาะบดีจากพรรครีพับลิกันกล่าว ทันทีที่ข่าวออกมา สัญญาณร้าวฉานก็ตามมาทันที เมื่อประธานาธิบดีเอ็นริเก เปนา นิเอโตของเม็กซิโก ออกมาประณามการตัดสินใจดังกล่าวของผู้นำสหรัฐฯ และเรียกร้องให้คำรพประเทศของเขาบ้าง อีกทั้งยืนยันว่าเม็กซิโกจะไม่ยอมจ่ายค่าสร้างกำแพงอะไรทั้งนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ มีกำหนดจะพบปะหารือกับประธานาธิบดีนิเอโตที่ทำเนียบขาวในวันอังคารนี้ แต่พอหลังจากผู้นำเพื่อนบ้านออกมากล่าวเช่นนี้ เขาก็ทวิตออกไปทันทีว่า "ถ้าเม็กซิโกไม่ปรารถนาจะจ่ายค่าสร้างกำแพง ก็ยกเลิกการประชุมที่จะมีขึ้นไปเลยดีกว่า" แล้วจะเหลือหรืองานนี้ ประธานาธิบดีนิเอโตซึ่งมีสัมพันธ์ที่ดีกับอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา เลยทวิตตอบภายหลังว่า ได้แจ้งทำเนียบขาวไปแล้วว่าเขาจะไม่เข้าร่วมการประชุมสัปดาห์หน้า นี่เอาแค่เรื่องใหญ่ๆ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ทำในสัปดาห์แรกสัปดาห์เดียว ยังไม่นับเรื่องคำสั่งระงับการจ้างพนักงานลูกจ้างของหน่วยงานรัฐยกเว้นกองทัพเพื่อประหยัดงบประมาณ คำสั่งห้ามให้เงินอุดหนุนเอ็นจีโอที่สนับสนุนการทำแท้ง หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้ง รวมทั้งที่บอกจะบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองอย่างเข้มงวดเพื่อโดยเฉพาะในรัฐที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสวรรค์ของกลุ่มเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายอีก