ถูกยกให้เป็นหนึ่งของ “แนวโน้มโลก (Global Trends)” ที่ “สหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็น” เป็นห่วง ชนิดถึงขนาดให้ทาง “สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ”หรือ “ยูเอ็นเอชซีอาร์” จัดทำเป็นรายงานประจำปีกันเลยทีเดียว สำหรับ “สถานการณ์และแนวโน้มการอพยพลี้ภัยของประชากรโลก” ที่ประชาชนทั่วโลกต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือน หรือถึงขั้นหลบหนีออกนอกประเทศบ้านเกิดเมืองนอน ไปพำนักอาศัยยังประเทศต่างๆ โดยรายงานแนวโน้มโลกประจำปี 2018 (พ.ศ. 2561) ของยูเอ็นเอชซีอาร์ ซึ่งเป็นรายงานฉบับล่าสุด ที่ระบุถึงสถานการณ์ลี้ภัยอพยพของประชากรโลก ตลอดช่วงปีที่แล้ว เปิดเผยถึงตัวเลขผู้ลี้ภัยว่า มีจำนวนมากถึง 70.8 ล้านคน หรือเกือบ 71 ล้านคน ทั่วโลก อันเป็นตัวเลขสูงที่สุดในรอบเกือบ 70 ปี หรือนับตั้งแต่ก่อตั้งสถาปนาสำนักงานของยูเอ็นเอชซีอาร์มาเลยก็ว่าได้ ตัวเลขที่ออกมาข้างต้น เปรียบเทียบแล้ว ก็มากกว่าจำนวนพลเมืองของหลายๆ ประเทศ อย่างไทยเราเป็นต้น ซึ่งมีประชากรราวๆ กว่า 68 ล้านคน ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งในจอร์แดน ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของยูเอ็นเอชซีอาร์ ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ลี้ภัยอพยพข้างต้น สอดคล้องกับ “องค์กรผู้ลี้ภัยนอร์เวย์” ที่ออกมาระบุในจำนวนนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งทางคณะผู้จัดทำรายงานของ “ยูเอ็นเอชซีอาร์” ยัคำนวณด้วยว่า คิดเป็นอัตราเฉลี่ยแล้ว ก็ทุกๆ 1 นาที จะมีผู้อพยพลี้ภัยทิ้งถิ่นฐานบ้านช่องราว 25 คน ในรายงานยังแจกแจงรายละเอียดว่าเฉลี่ย 1 ใน 2 ของผู้ลี้ภัยเป็น “เด็ก” หรือเฉลี่ยแล้วก็ครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว และในจำนวนผู้ลี้ภัยที่เป็นเด็กที่ว่านี้ หลายแสนคน เป็นเด็กที่อพยพแต่เพียงผู้เดียว หรือไม่ก็ปราศจากครอบครัว คือ พลัดพรากจากครอบครัวด้วยเหตุผลกลใดประการใดประการหนึ่งด้วย แถมมิหนำซ้ำ ผู้ลี้ภัยที่เป็นเด็กข้างต้น อายุราว 5 ขวบ หรือต่ำกว่านั้น ก็มีจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ็อพยพลี้ภัยในภูมิภาคแอฟริกาว อย่าง “ยูกันดา” เป็นอาทิ ซึ่งมีตัวเลขว่า จำนวนเกือบๆ 3 พันคน ส่วนประเทศที่ถูกระบุว่า เป็นดินแดนที่ประชาชีทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดของตนในระดับต้นๆ ได้แก่ ซีเรีย อัฟกานิสถาน ซูดานใต้ และโซมาเลีย ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านี้ ถือว่าเป็นเจ้าของสถิติหน้าเดิม เช่นเดียวกับ “เมียนมา” ที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นประเทศที่มีผู้อพยพจำนวนสูงระดับแถวหน้าอีกประเทศหนึ่ง โดยเหตุปัจจัยที่ทำให้บรรดาประเทศเหล่านี้ ยังคงรั้งตำแหน่งหัวแถว ก็มาจากการได้รับผลกระทบของสงคราม การสู้รบต่างๆ ตลอดจนการทารุณกรรม ข่มเหงรังแก เช่นที่ซีเรีย ซึ่งยังอยู่ในไฟของสงครามกลางเมืองอยู่ หรืออัฟกานิสถานที่ยังต้องทำสงครามก่อการร้ายกับทั้งพวกตาลิบัน และกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส ส่วนที่เมียนมา ก็เป็นการทำสงครามระหว่างคนต่างเผ่าพันธุ์และต่างศาสนิก คือ การไล่เข่นฆ่าโดยกองทัพรัฐบาลเมียนมากับพวกโรฮีนจา จนเกิดเป็นวิกฤติผู้อพยพลี้ภัยจนน่าเป็นห่วง นอกจากนี้ ก็ยังมีกลุ่มประเทศที่เกิดวิกฤติคลื่นผู้อพยพรายใหม่ อย่างใน “เวเนซุเอลา” ซึ่งตามรายงานแนวโน้มโลกประจำปีนี้ของยูเอ็นเอชซีอาร์ ระบุว่า มีจำนวนมากกว่า 4 ล้านคน โดยเป็นผลพวงมาจากความอดอยากแร้นแค้นในประเทศของตน จากการที่ทางการประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จนลุกลามบานปลายกลายเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจในประเทศของตนขึ้น นอกจากนี้ ก็ยังมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองภายในเวเนซุเอลาเป็นอย่างสูง ทั้งนี้ ในรายงานแนวโน้มโลกของยูเอ็นเอชซีอาร์ ยังยกให้เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่มีอัตราผู้อพยพลี้ภัยสูงที่สุดประเทศหนึ่งประจำช่วงปีที่ผ่านมาเลยก็ว่าได้ พร้อมๆ กันนั้น ก็ยังคาดการณ์ด้วยว่า เวเนซุเอลา ยังคงมีแนวโน้มที่ถูกวิกฤติผู้ลี้ภัยเล่นงานในระดับต้นๆ ของปี 2019 (พ.ศ. 2562) อีกต่างหาก จากการที่ถูกพิษวิกฤติทั้งเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศเล่นงานเอาอย่างไม่รู้ว่า จะหาทางยุติ หรือทางออกของวิกฤติกันอย่างไร ส่วนสถานที่ที่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ อพยพไปพักพิง ทางรายงานฯ ก็ระบุว่า ร้อยละ 80 มักจะลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ยกตัวอย่างเช่น พวกโรฮีนจา หนีจากรัฐยะไข่ ในเมียนมา ไปยังชายแดนของบังกลาเทศ หรือชาวเวเนซุเอลา อพยพไปยังโคลัมเบียบ้าง หรือบราซิลบ้าง เป็นต้น นอกจากนี้ ก็มีบางส่วนที่อพยพไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว ในกลุ่มชาติมหาอำนาจตะวันตก เช่น ประเทศเยอรมนี ที่ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของผู้ลี้ภัยจากภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่จากรายงานของยูเอ็นเอชซีอาร์ ระบุว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า “แคนาดา” กลับเป็นจุดหมายปลายทางของผู้ลี้ภัยจากทั่วโลกมากที่สุด โดยมีจำนวนมากถึง 2.8 หมื่นคน แซงหน้า “สหรัฐอเมริกา” ที่เคยยึดตำแหน่งแชมป์มาตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 อันเป็นผลพวงจากการดำเนินนโยบายสกัดกั้นคนเข้าเมืองของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบัน นั่นเอง สวนทางกับนโยบายของรัฐบาลแคนาดาภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีฌุสแต็ง ตรูโด ที่เปิดประตูผู้อพยพกว้างกว่า นายฌุสแต็ง ตรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ให้การต้อนรับต่อบรรดาผู้อพยพอย่างอบอุ่น จากตัวเลขที่มีรายงานออกไป ก็ทำให้นายฟิลิโป กรานดี ข้าหลวงใหญ่ของยูเอ็นเอชซีอาร์ ก็แสดงความเป็นห่วงว่า ตัวเลขการลี้ภัยอพยพของผู้คนทะยานพุ่ง เอาเฉพาะในปีที่ผ่านมา ก็มากกว่าเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้วถึง 2 เท่า และยังส่งสัญญาณว่า มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในปีต่อไป ทั้งนี้ ก็เพราะวิกฤติปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามกลางเมือง การสู้รบกับกลุ่มก่อการร้าย และความขัดแย้งภายในประเทศทั้งหลาย ตลอดจนปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเมืองในบางประเทศที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เป็นแรงผลักดันก่อให้เกิดคลื่นลี้ภัยอพยพจนกลายเป็นวิกฤติอย่างที่เห็น