23 มิ.ย.62 รศ.วินัย ดะห์ลัน โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุข้อความว่า...
ระวังอาหารโปรตีนสูงกันหน่อย มนุษย์เราระยะหลังเจอปัญหาประเภทหนีเสือปะจระเข้กันบ่อย สามสิบปีที่แล้วกลัวไขมันกันมากว่าเป็นสาเหตุของโรคอ้วนและโรคหัวใจและหลอดเลือด นักโภชนาการแนะนำให้ลดการบริโภคไขมัน ทั้งให้บริโภคแป้งมากขึ้น เมื่อปฏิบัติตามกลับกลายเป็นว่าเจอปัญหาอ้วนมากขึ้นตามด้วยเบาหวานกับโรคหัวใจและหลอดเลือด น้ำตาลกับแป้งสร้างปัญหามากกว่าไขมัน จึงหันมาลดคาร์โบไฮเดรตกันยกใหญ่โดยเลือกอาหารประเภทโลว์คาร์บและบริโภคโปรตีนมากขึ้น หนีเสือไขมันกลับเจอจระเข้แป้งมาครั้งนี้มีข้อแนะนำกันอีกครั้งว่าอาหารโปรตีนสูงอาจจะกลายเป็นจระเข้อีกตัวก็ได้ อาหารโปรตีนสูงนั้นปัญหาก็คือหากกินเข้าไปมาก ร่างกายใช้โปรตีนได้ไม่หมด จะเอาไปสร้างกล้ามเนื้อก็ไม่ได้เพราะร่างกายมีกล้ามเนื้อไว้ใช้ทำงานในปริมาณเหมาะสมแล้วและไม่ได้เป็นแหล่งสะสมโปรตีน จึงจำต้องขจัดโปรตีนออก ส่งผลให้ตับไตทำงานหนัก ในกลไกการสลายโปรตีน ร่างกายจำต้องสร้างโมเลกุลของน้ำให้เกิดขึ้นมาก ทำให้น้ำถูกขับออกมาแยะ ปัสสาวะบ่อย เหงื่อออกง่าย น้ำหนักที่ลดลงช่วงแรกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขับน้ำออกจากร่างกายนี่เอง นอกจากนี้ร่างกายยังมีการสลายแป้งในกล้ามเนื้อที่เรียกกันว่าไกลโคเจนมากขึ้น กล้ามเนื้อเกิดอาการล้าแถมอ่อนเพลียจากการขาดน้ำอีกต่างหาก ศาสตราจารย์โรเบิร์ต เอกเกล (Robert Eckel) แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโด เขียนคำอธิบายไว้ในวารสารชื่อ Circulation ของสมาคมโรคหัวใจอเมริกันว่าอาหารโปรตีนสูงมักมีไขมันสูง วิตามิน เกลือแร่ต่ำ ใยอาหารต่ำ ทำให้ร่างกายมีแนวโน้มที่จะขาดวิตามินเกลือแร่ได้อีก กินอาหารโปรตีนสูงไปได้สักพักโปรตีนที่มากเกินจะเริ่มเปลี่ยนเป็นไขมัน กลับกลายเป็นว่าน้ำหนักตัวจะค่อยๆเพิ่มขึ้นจนกลับมาเท่าเดิมอีกครั้ง จึงเตือนว่าใครที่นิยมใช้อาหารโปรตีนสูงเพื่อลดน้ำหนักตัวขอให้ระวังไว้เพราะมันไม่เคยทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้อย่างถาวรเลย จากการติดตามศึกษามานานเป็นสิบปีพบว่าอาหารโปรตีนสูงมักทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด เสี่ยงต่อโรคหัวใจมากขึ้นจากปัญหาการสะสมไขมัน สรุปคือหากคิดจะลดน้ำหนักกันให้เป็นเรื่องเป็นราว หมอเอกเกลแนะนำให้ใช้วิธีการลดพลังงานจากอาหารร่วมกับการออกกำลังกายซึ่งน่าจะได้ผลเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่า แนะนำกันอย่างนี้เพื่อสุขภาพของพวกเราเองแท้ๆ