พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผอ.สำนักวัณโรค กล่าวในงานประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18“Tobacco and Lung Health” จัดขึ้นโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล โดยกล่าวว่า ประเทศไทยยังมีผู้ป่วย วัณโรคจำนวนมาก องค์การอนามัยโลกประมาณการว่ามีผู้ป่วยกว่า 110,000 คน และเป็น 1 ใน 14 ประเทศ ที่มีปัญหาวัณโรคสูง ทั้งจำนวนผู้ป่วยวัณโรคสูง จำนวนผู้ป่วยวัณโรคที่เชื้อดื้อยาสูง และ จำนวนผู้ป่วยวัณโรคในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีสูง การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคสูงกว่าคนทั่วไป ผู้ป่วยวัณโรคที่สูบบุหรี่จะเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยวัณโรคที่ไม่สูบบุหรี่เป็น 3-4 เท่า ในคนสูบบุหรี่ที่เป็นวัณโรค อาการของโรคจะรุนแรงและลุกลามเร็วขึ้นรักษายากขึ้น เช่น ไอมากกว่า เหนื่อยหอบมากกว่า เมื่อเอกซเรย์ปอดจะพบมีแผลวัณโรคที่ใหญ่กว่าและโรคกระจายได้มากกว่า อีกประการคนสูบบุหรี่ที่เป็นวัณโรคมักจะรู้ว่าเป็นวัณโรคช้า เนื่องจากเข้าใจผิดว่าอาการไอที่เกิดจากวัณโรคเกิดจากการสูบบุหรี่ โรคจึงลุกลามมากและกว่าจะรู้อาการก็รุนแรงจนเสียชีวิตในที่สุด จึงเป็นสาเหตุให้คนเป็นวัณโรคที่สูบบุหรี่เสียชีวิตมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ ส่วนในผู้ป่วยวัณโรคที่รักษาหายแล้ว การสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงการกลับมาป่วยเป็น วัณโรคซ้ำมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่อีกด้วย ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลม และทำลายเนื้อปอด ทำให้ความสามารถในการทำลายเชื้อโรคของปอดมีประสิทธิภาพลดลง ประกอบกับภูมิต้านทานของผู้สูบบุหรี่ลดลงทำให้ผู้สูบบุหรี่ที่หายใจเอาเชื้อวัณโรคเข้าสู่ปอด เชื้อวัณโรคเกิดการเจริญเติบโตจนกลายเป็นวัณโรคขึ้นได้ ผู้สูบบุหรี่จึงควรที่จะเลิกสูบ เพื่อลดโอกาสติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรค รวมทั้งผู้ป่วยวัณโรคต้องหยุดสูบบุหรี่ เพื่อลดโอกาสเสียชีวิตจากวัณโรค จากสถิติที่พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยอยู่ที่ 31 % ทำให้ประมาณการได้ว่ามีผู้ป่วย วัณโรคไทย กว่า 15,000 คน ที่เป็นคนสูบบุหรี่ ซึ่งผู้สูบบุหรี่ที่เป็น วัณโรคแล้วต้องหยุดสูบโดยเด็ดขาด หากต้องการให้โรคหายเร็วและผลการรักษาที่ดีขึ้น ส่วนผู้ที่สูบบุหรี่ทั่วไปที่ยังเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาวัณโรค หากมีอาการไอผิดปกติติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ เป็นหวัดแล้วหายช้า ไอมีเสมหะปนเลือด มีไข้ตอนบ่ายๆ เย็นๆ มีเหงื่อออกผิดปกติตอนเวลาหลับกลางคืน เจ็บชายโครงเวลาหายใจ หรือมีอาการเหนื่อยมากกว่าปกติ