ผู้ตรวจฯลุยเชียงรายติดตามสิทธิ มารดา เข้าถึงวิตามินโฟลิก ป้องภาวะพิการแต่กำเนิด "สมบูรณ์"เผยเภสัชฯพร้อมจำหน่ายในหมวดยาภายในเดือนพ.ค.63 เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่เชียงราย นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายกีรป กฤตธีรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และพญ.พรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิดประเทศไทย ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิตามินโฟลิก เอซิด ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ประชุมร่วมกับนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เก็บข้อมูลการดำเนินงานด้านสาธารณสุขในเขตภาคเหนือ เพื่อติดตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะ จะได้นำมาจัดทำข้อเสนอแนะ "โครงการสิทธิของมารดาระหว่างก่อนและหลังคลอดบุตร กรณีการบริโภควิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) " เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกมาตรฐานการบริการสาธารณสุขในการรณรงค์ให้ความรู้ ความเข้าใจ เข้าถึงวิตามินโฟลิก เอซิด   อย่างถูกต้อง ทั่วถึง เพื่อลดและป้องกันภาวะพิการแต่กำเนิดในทารกแรกเกิด สร้างรากฐานทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพให้ประเทศ  อย่างยั่งยืนต่อไป  โดยนายบูรณ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากตัวแทนองค์กรเพื่อผู้พิการ ขอให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องทำการผลิตวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ขนาด 0.4 มิลลิกรัม สำหรับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีโอกาสตั้งครรภ์รับประทานตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เพื่อช่วยป้องกันปัญหาพิการในเด็กทารกแรกเกิด ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยให้องค์การเภสัชกรรมดำเนินการผลิตวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ขนาด 0.4 มิลลิกรัม จำหน่ายและจัดให้อยู่ในหมวดยา เพื่อประชาชนจะได้ซื้อบริโภคได้ง่ายขึ้นและหมดกังวลเกี่ยวกับคำเตือนสำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งองค์การเภสัชกรรมกำลังเร่งดำเนินการ โดยจะแล้วเสร็จพร้อมจำหน่ายภายในเดือนพ.ค.63 นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นในระหว่างนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการรณรงค์ให้ความรู้ในเรื่องการบริโภควิตามินโฟลิก เอซิด อย่างถูกต้องแก่ประชาชนควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์และหญิงที่เตรียมวางแผนมีบุตร ซึ่งจากการศึกษาการดำเนินการให้บริการแจกจ่ายวิตามินดังกล่าวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นนั้น พบว่า แม้ว่าจะมีการให้บริการจ่ายวิตามินดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการจ่ายวิตามินในช่วงตั้งครรภ์แล้ว ซึ่งถือว่าช้าไปเนื่องจากตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องบริโภคในช่วง 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ และ3 เดือนหลังตั้งครรภ์ ถึงจะลดอัตราการเกิดภาวะพิการแต่กำเนิดในเด็กได้ร้อยละ 50 และอีกปัจจัยสำคัญคือหน่วยงานด้านสาธารณสุขยังไม่มีระบบติดตามผลหรือตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่ามีการจ่ายวิตามินดังกล่าวไปเท่าไหร่ กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับไปนั้นบริโภคอย่างถูกต้องครบถ้วนตามคำแนะนำ ของแพทย์หรือไม่ และจำนวนของเด็กพิการแต่กำเนิดในภาพรวมลดลงมากน้อยเพียงใดภายหลังการบริโภควิตามินดังกล่าว ซึ่งระบบชี้วัดประเมินผลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการวางแผนเพื่อยกระดับมาตรฐานในการให้บริการสาธารณสุขด้านการเข้าถึงวิตามินดังกล่าวและวางแผนการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคอย่างถูกต้องแก่ประชาชนได้อย่างทั่วยิ่งขึ้น "จากข้อมูลสถานการณ์ความพิการแต่กำเนิดของไทยในปัจจุบันของสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) พบว่า ทารกแรกเกิดของไทยมีความเสี่ยงเกิดภาวะพิการแต่กำเนิดถึง 30,000 รายต่อปี หากปล่อยให้เกิดภาวะดังกล่าว ทั้งที่สามารถป้องกันได้ ผลตามมาคือ ความสูญเสียทางด้านทรัพยากรมนุษย์และเศรษฐกิจที่ใหญ่หลวง ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้ เนื่องจากเป็นสิ่งสะท้อนมาตรฐานการบริการสาธารณสุขอันเป็นรากฐานในการสร้างทรัพยากรบุคคลของชาติ ทุกภาคส่วน   ควรตระหนักถึงความสำคัญอย่างเร่งด่วนในการบูรณาการร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ต้นน้ำ คือหน่วยงานควรให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะหญิงวัยเจริญพันธุ์ และกลุ่มที่วางแผนมีบุตร ให้มีความตระหนักรู้ เข้าใจ และเข้าถึงวิตามินโฟลิก เอซิดได้อย่างทั่วถึง และถูกต้อง ส่งผลให้เกิดการดูแลทั้งก่อน ระหว่าง และหลังตั้งครรภ์ ทำให้ทารกแรกเกิดสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและสติปัญญา นำไปสู่การเป็นต้นทุนที่ดีของประชากรในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น หากแก้ไขที่ต้นน้ำได้ ปัญหาปลายน้ำ เช่น การสูญเสียงบประมาณในการดูแลผู้พิการแต่กำเนิดจะลดลง คุณภาพชีวิตของประชาชนก็ดียิ่งขึ้นเช่นกัน" นายบูรณ์ กล่าว