ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุข้อความว่า ...
[ นายกฯ ที่ไม่มีคณะรัฐมนตรี – คณะรัฐมนตรีที่ไม่มีนายกฯ ] พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ตนเองได้เป็นมาตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557 ไปแล้ว โดยผลของพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 โดยปกติแล้ว เมื่อนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง คณะรัฐมนตรีก็ต้องพ้นไปด้วยทั้งคณะ แต่ในกรณีนี้มีข้อยกเว้นในบทเฉพาะกาล มาตรา 264 ให้คณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ดังนั้นคณะรัฐมนตรีชุดนี้ (ที่มีนายวิษณุ เป็นรองนายกฯ พล.อ.ประวิตรเป็นรมต.กลาโหม นายดอนเป็นรมต.ต่างประเทศ ฯลฯ) จึงยังคงมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินต่อไป เพียงแต่ว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ไม่มีนายกรัฐมนตรีเสียแล้ว นายกฯ ที่ชื่อประยุทธ์ ที่นั่งหัวโต๊ะในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมาเกือบ 5 ปี ได้สิ้นสภาพความเป็นนายกฯ ไปแล้ว ครั้นจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ คนใหม่ มานั่งหัวโต๊ะในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ยังมีอำนาจอยู่ตามมาตรา 264 ก็ไม่ได้อีก เพราะตนเองไม่ได้เป็นนายกฯ ของคณะรัฐมนตรีชุดนี้แล้ว ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่สามารถเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีในเวลานี้ได้ ดังที่ผมอธิบายไปในเพจนี้เมื่อสองวันก่อน ถ้าหากยังเข้าใจยากอยู่ ผมจะขอลองยกตัวอย่างให้ดู ดังนี้ สมมติว่าในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ได้มีมติเลือกให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่บังเอิญว่านายธนาธรใช้เวลาจัดตั้งรัฐบาลนานมาก จนวันนี้ก็ยังตั้งไม่เสร็จ ในขณะที่คณะรัฐมนตรีชุดเดิมก็ยังบริหารราชการแผ่นดินต่อไปตามมาตรา 264 เพราะคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ยังไม่เข้ารับหน้าที่ ถามว่า นายธนาธร เข้าไปเป็นนายกรัฐมนตรีและนั่งหัวโต๊ะในการประชุมคณะรัฐมนตรีชุดเดิมได้หรือไม่? ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีและนั่งหัวโต๊ะในการประชุมคณะรัฐมนตรีชุดเดิมได้หรือไม่? หรือจะให้ทั้ง นายธนาธร และ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ไปทั้งคู่? ปัญหาทางกฎหมายอันไม่คาดคิดไว้ล่วงหน้านี้เป็นผลพวงจาก 1. การตั้งรัฐบาล “สหพรรค-เสียงปริ่มน้ำ” ทำให้มีการต่อรองแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีกันสูง ทำให้ผ่านไปสองสัปดาห์แล้วยังตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ไม่เสร็จ 2. พล.อ.ประยุทธ์ จะเอาทั้งขึ้นทั้งล่อง เป็นมันทุกตำแหน่ง จะเป็นทั้งหัวหน้า คสช. จะเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีชุดที่บริหารอยู่ตามมาตรา 264 จะเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งในวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ซึ่งไม่มีทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะมี 3 ร่างในคนคนเดียวได้ หากต้องการให้การบริหารราชการแผ่นดินราบรื่นไร้รอยตะเข็บ พล.อ.ประยุทธ์มีทางเลือกสองทางระหว่าง ทางแรก หารัฐมนตรีสักคนขึ้นมารักษาการเป็นประธานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ที่ยังบริหารประเทศอยู่ตามมาตรา 264) แทน หรือ ทางที่สอง รีบ “แบ่งเค้ก” เก้าอี้รัฐมนตรีให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อนำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ จะได้เป็นนายกฯ คนใหม่ ของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ มิเช่นนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีตุรัดตุเหร่อยู่แบบนี้ เป็นนายกฯ ที่ไม่มีคณะรัฐมนตรี ในขณะที่คณะรัฐมนตรีที่บริหารอยู่ตามมาตรา 264 ก็ไม่มีนายกฯ #นายกรัฐมนตรี #ประยุทธ์ #ครม #เก้าอี้รัฐมนตรี #เลือกตั้ง62