ดนตรี / ทิวา สาระจูฑะ เดือนมีนาคม 2019 ที่ผ่านมา โจนาส บราเธอร์ส ปล่อยซิงเกิ้ล "Sucker" ออกมา และติดอันดับ 1 ทันทีในสัปดาห์แรกของการวาง เช่นดียวกับ Happiness Begins อัลบั้มล่าสุดของพวกเขา ซึ่งติดอันดับ 1 ในสัปดาห์แรกด้วยยอดขายกว่า 4 แสนชุด ถือเป็นศิลปินและผลงานที่ประสบความสำเร็จใหญ่โตที่สุดในสัปดาห์แรกของการออกวางขาย นับตั้งแต่ วัน ไดเร็คชั่น ทำไว้กับอัลบั้ม Made in the A.M. เมื่อปี 2015 โจนาส บราเธอร์ส และ วัน ไดเร็คชั่น คือวงแบบที่เรียกกันว่า “บอยแบนด์” คำจำกัดความง่ายๆของบอยแบนด์ก็คือ กลุ่มนักร้องที่เด็กวัยรุ่นหรือวัยต้น 20 มารวมกันเป็นวง ร้องเพลงรัก มุ่งไปที่ตลาดผู้ฟังวัยรุ่น โดยเฉพาะผู้หญิง การแสดงบนเวทีหรือมิวสิค วิดีโอเน้นที่การท่าเต้นรำ บอยแบนด์จำพวกหนึ่งก่อตั้งโดยธรรมชาติด้วยกลุ่มเพื่อนวัยรุ่นที่โตมาด้วยกัน หรือเรียนที่เดียวกัน แต่จำนวนที่มากกว่าและประสบความสำเร็จกว่าคือ บอยแบนด์ที่จัดตั้งขึ้นมาด้วยมุมมองทางธุรกิจการแสดง บริษัทเพลงที่ทำบอยแบนด์ จะเริ่มต้นด้วยการประกาศรับสมัครเด็กวัยรุ่นมาทดสอบความสามารถในการร้องและการเต้น ดูบุคลิกหน้าตาว่าหล่อเหลาหรือมีเสน่ห์ขนาดไหน เข้ากับสไตล์ของวงที่วางแผนเอาไว้หรือเปล่า เพราะการเป็นกลุ่มนักร้อง สมาชิกของบอยแบนด์จึงจะเล่นดนตรีเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ แต่คนที่อยู่ในบอยแบนด์จำนวนไม่น้อยมีความสามารถดนตรีระดับยอดเยี่ยม เพียงแต่ไม่ได้ถูกใช้มากนัก เพราะถูกกำหนดจากบริษัทเพลงต้นสังกัด เมื่อได้จำนวนสมาชิกครบ บริษัทก็จะส่งเข้าค่ายเพื่อให้สมาชิกทำความรู้จัก อยู่ร่วมกัน และฝึกฝนด้านต่างๆ ทั้งร้อง, เต้น, สร้างจุดเด่นเป็นบุคลิกของแต่ละคน และกระทั่งการให้สัมภาษณ์ ขณะเดียวกันก็เตรียมการทำอัลบั้ม จัดทีมโปรดิวเซอร์/นักแต่งเพลงมาทำเพลงให้ร้อง เน้นความเป็นป็อปที่ฟังแล้วติดหูเร็ว มีจังหวะจะโคนสนุกสดใสไว้รองรับการเต้น และก็มีเพลงหวานๆอ้อนแฟน แต่ก่อนจะลงมือทำอัลบั้มก็จะมีซิงเกิ้ลตัดออกมาใช้งานโปรโมท ระหว่างกระบวนการในห้องบันทึกเสียงดำเนินไป ด้านนอกก็จะมีการโปรโมททางสื่อต่างๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้สัมภาษณ์สื่อสิ่งพิมพ์, ตระเวนไปยังรายการวิทยุและโทรทัศน์, จัดคิวให้ได้ขึ้นเป็นวงเปิดหรือรับเชิญในคอนเสิร์ตของศิลปินดังๆ, ส่งไปร่วมงานสำคัญต่างๆ, สร้างข่าวกอสซิปเป็นระยะๆ ฯลฯ ถ้ากระบวนการในแนวคิดทางธุรกิจแบบนี้ เป็นการสร้างกลุ่มนักร้องหญิงวัยรุ่น ก็จะเรียกกันว่า “เกิร์ลกรุ๊ป” ความจริงกลุ่มนักร้องประกอบท่าเต้นมีมานานแล้วตั้งแต่ทศวรรษ 1950 ส่วนใหญ่เป็นวงผิวสีร้องเพลงโซล-ป็อป แต่ตอนนั้นไม่เรียกว่า “บอยแบนด์” และถ้าจะเอาการจัดวางรูปแบบของวง, การแต่งตัว, การโปรโมท และความคลั่งไคล้จากแฟนเพลงวัยรุ่น เดอะ บีเทิ่ลส์ ก็จัดเป็นบอยแบนด์ได้เช่นกัน แต่ เดอะ มังกี้ส์ จะชัดเจนกว่าในการผลิตอัลบั้มที่มีทีมงานเบื้องหลัง เพราะ เดอะ บีเทิ่ลส์ นั้นบันทึกเสียงเอง บอยแบนด์ไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชมของนักข่าวหรือคอลัมนิสต์ดนตรีนัก มักมีทัศนคติเกี่ยวกับความสามารถ (แม้ว่าหลายคนจะแสดงให้เห็นฝีมือที่ยอดเยี่ยมหลังวงแยกทางกันแล้ว) แต่บอยแบนด์ก็ไม่เคยตาย โดยเฉพาะในเชิงของบันเทิงธุรกิจ นั่นเพราะบอยแบนด์ไม่ได้ขายเฉพาะตัวเพลง ยังมีบาย-โปรดัคท์อีกมากมายที่ทำเงินมหาศาล ในทศวรรษ 1960 เราจะเห็นความสำเร็จท่วมท้นของ เดอะ แจ็คสัน ไฟว์, เดอะ มังกี้ส์ และ ดิ ออสมอนด์ สองทศวรรษถัดมา เด็กสาววัยรุ่นก็คลั่งไคล้วงอย่าง เบย์ ซิตี้ โรลเลอร์ส หรือ เดอะ ราสเบอร์รี่ส์ ตามด้วยกลุ่มบอยแบนด์ผิวสี อย่าง นิว เอดิชั่น, นิว คิดส์ ออน เดอะ บล็อค, เมนูโด และ บรอส. ทศวรรษ 1990-2000 ถือเป็นสองทศวรรษแห่งความรุ่งเรืองของบอยแบนด์อย่างแท้จริง บริษัทยักษ์ใหญ่ทุกแห่งดูเหมือจะผลิตบอยแบนด์ของตนเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดดนตรี ชื่อกลุ่มดังๆที่มีคนติดตามจำนวนมหาศาลก็ได้แก่ บอยซ์ ทู เมน, ออลล์-ฟอร์-วัน, เทค แธ็ท, อีสต์ เซเว่นทีน, แบ็คสตรีท บอยส์, เอ็นซิงค์, ฮิวแมน เนเฌอร์, เวสต์ไลฟ์, 98 ดีกรีส์, บอยโซน, บลู, เดอะ ม็อฟแฟ็ทท์ส, โจนาส บราเธอร์ส ฯลฯ แม้ครึ่งแรกของทศวรรษ 2010 กระแสบอยแบนด์ในโลกซีกตะวันตกจะเบาบางลง แต่ก็ไม่มีวงดนตรีใดทำรายได้ทั้งในอเมริกาและทั่วโลกมากไปกว่า วัน ไดเร็คชั่น ซึ่งเป็นบอยแบนด์เต็มตัว ในขณะเดียวกัน การผลิตบอยแบนด์ยังเป็นกระแสหลักในธุรกิจดนตรีของญี่ปุ่น (เจ-ป็อป) และเกาหลีใต้ (เค-ป็อป) ซึ่งสามารถกวาดเก็บความนิยมระดับคลั่งไคล้จากเด็กสาววัยรุ่นในแถบเอเชีย และบางวงก็พยายามสร้างฐานผู้ฟังในอเมริกาและยุโรป เช่น อะราชิ (ญี่ปุ่น) หรือ บีทีเอส (เกาหลีใต้) บอยแบนด์ส่วนใหญ่จะมีอายุสั้น แต่ก็มีบางกลุ่มที่ยืนหยัดผ่านกาลเวลามาได้ เช่น เวสต์ไลฟ์, นิว เอดิชั่น, ออลล์-ฟอร์-วัน, ฮิวแมน เนเฌอร์ และ ชินวา (เกาหลีใต้) เป็นต้น และราว 6-7 ปีที่ผ่านมานี้ การกลับมารวมตัวเพื่อทัวร์คอนเสิร์ทของบอยแบนด์ที่แยกทางกันไปแล้ว เกิดขึ้นมากมาย และทำรายได้ให้ผู้จัดได้อย่างดี ตราบใดที่ดนตรีที่เราฟังๆกันอยู่นี้มีสัดส่วนของ “ธุรกิจ” เข้ามาเกี่ยวข้อง บอยแบนด์จะไม่มีวันตาย (เช่นเดียวกับ เกิร์ลกรุ๊ป) อาจจะแผ่วไปบ้างในบางช่วง แต่ก็จะมีการสร้างบอยแบนด์ขึ้นมาอีก ตราบที่โลกนี้ยังมีวัยรุ่นหญิง, เพลงรัก และเม็ดเงินมหาศาล