ศาลอาญานัดตัดสินอุทธรณ์ นายนที ธีระโรจนพงษ์ หรือ "เกย์นที" กับพวก รวม 22 คนจำเลยในคดี "ฉ้อโกงประชาชน" เครือข่ายแชร์ "ยูฟัน" มูลค่าความเสียหาย 356,211,209 บาท ศาลยกคำร้อง 4 จำเลย พร้อมขอยื่นศาล รธน. วินิจฉัยเรื่องประกันตัว ส่วนคำพิพากษาหลักยังอยู่ระหว่างพิจารณา เมื่อเวลา 08.30 น. วันนี้ ( 20 มิ.ย.62) ที่ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะเบิกตัว ฟัน นายนที ธีระโรจนพงษ์ หรือ "เกย์นที" กับพวก รวม 43 คน จำเลยในคดีแชร์ยูฟัน จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มายังศาลอาญา เพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดียูฟัน หมายเลขดำอ.2279/58 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ฟ้อง นายอภิชณัฏฐ์ แสนกล้า เครือข่ายแชร์ยูฟัน นายนที ธีระโรจนพงษ์ หรือเกย์นที กับพวกรวม 43 คน ร่วมกันเป็นจำเลยในความผิดฐาน กู้ยืมเงินที่เป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน,การมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ,พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ห้องพิจารณา 704 จากกรณีเมื่อระหว่าง วันที่ 25 ต.ค.56-18 มิ.ย.58 บริษัทยูฟัน สโตร์ จำกัด ชักชวนบุคคลเข้าร่วมเครือข่ายในการ ประกอบธุรกิจน้ำผลไม้และสมุนไพรกับเครื่องสำอางผิวหน้า ทำให้หลงเชื่อว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายได้ แต่ภายหลังหลอกลวงขายหน่วยลงทุนทางอิเล็กทรอนิกส์ จำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ หรือที่เรียกว่า ยูโทเคน ที่อ้างว่าเป็นสกุลเงินที่ได้การยอมรับในต่างประเทศ จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อัยการโจทก์ขอให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันคืนเงินชดใช้แก่ผู้เสียหายรวม 2,451 คน เป็นเงิน 356,211,209 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 22 คน ยกฟ้อง 21 คน แต่เมื่อถึงเวลา 11.30 น. องค์คณะผู้พิพากษาฯ ได้แจ้งให้จำเลยที่มาศาลในวันนี้ทราบว่า คำพิพากษาที่ศาลอุทธรณ์ส่งมาในวันนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 17, 36, 37, 40 ได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่น่าจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2560 และ 20 พ.ย. 2560 น.ส.อลิสา หรืออลิส จำเลยที่ 17, นายวัจน์ณฐภัทร์ จำเลยที่ 36, นายบุญธรรม จำเลยที่ 37, นายรัชชาพงษ์ จำเลยที่ 40 ซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งที่ศาลชั้นต้นไม่รับคำร้องของจำเลยทั้ง 4 ที่ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 212 วรรคหนึ่ง (บัญญัติว่าหากศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแล้วยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนนั้น ก็ให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยฯ) วินิจฉัยกรณีที่ศาลใช้ดุลยพินิจไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้เมื่อมีเหตุอันควรเชื่ออย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 108/1 บทบัญญัติของกฎหมายนั้นขัดต่อสิทธิที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยหลักการให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าในคดีอาญาผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จนกว่าคดีจะมีคำพิพากษา โดยคำขอในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาฯ โดยการไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ตรวจประชุมปรึกษาหาหรือกันแล้วเห็นว่า ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 212 วรรคหนึ่ง แสดงให้เห็นว่ากรณีที่จะเสนอความเห็นส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเอง หรือคู่ความในคดีนั้นโต้แย้งเกี่ยวกับกฎหมายที่นำมาใช้บังคับในการพิจารณาพิพากษาคดี แต่กรณีคำร้องของจำเลยทั้งสี่นั้น เป็นเรื่องของการโต้แย้งในกฎหมายเกี่ยวกับการให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี จึงไม่ใช่กรณีที่จะเข้าตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่จะรับคำร้องของจำเลยทั้งสี่ไว้เสนอศาลรัฐธรรมนูญ โดยเหตุแห่งการพิจารณาให้หรือไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ก็เป็นไปตามที่ ป.วิอาญา บัญญัติไว้ จึงให้ยกอุทธรณ์ในส่วนนี้ของจำเลยทั้งสี่ ส่วนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่มีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยทั้งหมดในคดีนี้ ศาลได้แจ้งว่ายังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ว่าจะมีคำพิพากษาอย่างไรต่อไป จึงยังไม่มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนเนื้อหาหลักในวันนี้