“กฤษฏา” สยบม็อบประมง 22 จว. หลังฮึ่มเคลื่อนไหว 28 มิ.ย.นี้ “บิ๊กตู่” สั่งเคลียร์สารพัดปัญหาให้จบใน 1เดือนก่อนมีรัฐบาลใหม่ รับปากเยียวยาผลกระทบไอยูยู ร่วมสำรวจเรือประมงอีกกว่า 2 พันลำต้องหยุดทำอาชีพ ด้านประธานสมาคมประมง ร้องขอรัฐตั้งกองทุนบริหารประมงทั้งระบบ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.62 นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมร่วมกับสมาคมประมงแห่งประเทศไทย สมาคมประมงพื้นบ้าน และตัวแทนชาวประมง 22 จังหวัดแนวฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน ให้ช่วยเหลือจากปัญหาความเดือดร้อนมากว่า 4-5 ปี ได้รับผลกระทบจากการออกกฎหมายประมงใหม่ ปี 2558 มีบทลงโทษรุนแรง ความซ้ำซ้อนการบังคับใช้กฎหมาย มาตรา 81 ระหว่างกรมเจ้าท่า กับ กรมประมง ในการขึ้นทะเบียนเรือประมงพื้นบ้านกว่า 3 หมื่นลำ ทั้งการกำหนดเขตทำประมงชายฝั่ง มาตรา 34 ในระยะ 5 ไมล์ทะเลที่ยังกำหนดไม่ครบทุกจังหวัด และปัญหาการเปิดเขตการค้าอาเซียน มีการนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งบางประเทศยังมีปัญหาไอยูยู เข้ามาแย่งตลาดในประเทศดึงราคาตกต่ำ โดยชาวประมงจะนัดร่วมตัวเคลื่อนไหวในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ เสนอปัญหาและทางออกต่อรัฐบาลใหม่ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกฤษฎา กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ตนเร่งแก้ความเดือดร้อนชาวประมงทุกกลุ่ม พร้อมกันนี้ตนได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงให้เวลา30 วัน ตรวจสอบด่านประมงทุกด่านตลอดแนวชายแดน ที่อาจมีความย่อหย่อนหากพบผิดจะลงโทษทางวินัยทันที เพราะทำให้มีการนำเข้าสินค้าประมงตีตลาดในประเทศ จากเปิดการค้าเสรีอาเซียน แต่การนำเข้าทุกชนิดต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าจับสัตว์น้ำมาแหล่งทำประมงถูกต้องตามกฎไอยูยู จึงสั่งการด่านประมง เพิ่มความเข้มงวดอย่างชัดเจน ไม่ใช่ให้นำเข้ามาโครมๆเรายอมไม่ได้แล้ว ถ้าเจ้าหน้าที่หย่อนยานละเลยลงโทษแน่ นอกจากนี้ปัญหาเรือจอดอยู่ต้องเปิดสัญญาณวีเอ็มเอส ทำให้ชาวประมงมีค่าใช้จ่าย ได้ให้ผ่อนผันให้โดยแจ้งที่จอดชัดเจน เช่นเรือขึ้นคาน เรือนำไปซ่อม และตั้งคณะทำงานปรับแก้กฎหมายด้วย “นายกฯ ให้เวลา 1 เดือนแก้ให้ได้ ทุกท่านรู้จักผมดี งานใดรับผิดชอบต้องทำให้เสร็จสิ้นเพราะกินเงินเดือนหลวง หลังจากประเทศไทยได้ใบเขียว ผมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูกฎหมาย ให้อดีตอธิบดีกรมประมง เป็นประธาน เพื่อทบทวนพ.ร.ฎ.ประมง 2558 ว่ามีมาตราไหน พี่น้องชาวประมงได้รับผลกระทบ พบว่า มี 16มาตรา บางมาตรการแก้ด้วยการออกกฎหมายลูก ออกประกาศกฎกระทรวง กำลังดำเนินการ 7 ฉบับ อยู่ในขั้นตอนกฤษฏีกา ผมมีเวลา 1 เดือน ทำให้ชัดเจน มีอะไรบ้าง ขอให้ทุกหน่วยงานเกาะให้ติดปัญหา กรมประมง ต้องรายงานความคืบหน้าให้ชาวประมงและสังคมรับรู้ ทุก7วัน ว่าเรามีเคลื่อนไหวตลอดเวลา”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว ทั้งนี้ รับข้อปัญหาจากชาวประมงทั้งหมดมาเข้าคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยมีตัวแทนทุกสมาคมประมงเข้าร่วมด้วยจะประชุมวันศุกร์นี้ที่ 21 มิ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ประมงไทยก่อน ปี 2558 มีปัญหามากมายทั้งเรือจดทะเบียนและไม่จดทะเบียน ตนในฐานะเคยเป็นผู้ว่าฯ จ.สงขลา ได้รับร้องเรียนมาตลอดจากชาวประมง และไตก่งเรือ โดนเรียกเงินทองไม่หากจ่ายก็ล่าช้า ทั้งแรงงานต่างด้าว ไม่มีบัตรเอาแรงงานลงเรือ ต้องจ่ายค่านายหน้า เมื่อท่านนายกฯ ประยุทธ์ เข้ามารับผิดชอบได้นำเรื่องเหล่านี้มาแก้ไข จัดระเบียบกองเรือ ทำทะเบียนเรือ ออกกฎหมายใช้เครื่องมือประมงไม่ทำลายทรัพยากรมากนัก ไร้การค้ามนุษย์ สำหรับการจัดระเบียบประมงชายฝั่ง ประมงพาณิชย์ ประมงนอกชายฝั่ง ขณะนี้บางจุดบางจังหวัดยังโยงเส้นไม่เรียบร้อย โดยการประชุม ครม. ที่ผ่านมาได้แก้ไขแนว จ.ตราด ขอให้ข้าราชการพวกเรานึกถึงภาพทำงานแล้วมาเอาหัวใจของชาวประมงมาใส่จะทำให้แก้ไขได้ทุกเรื่อง ตอนนี้ได้จ่ายเยียวยาเรือประมงออกนอกระบบแล้ว 252ลำ จ่ายเงิน30% และที่เหลือจ่ายในการทำลายเรือ ที่ผ่านการตรวจสอบเป็นเรือไม่ผิดกฎหมายประมง กรมเจ้าท่า แรงงาน นอกจากนี้จะตั้งกรรมการตรวจสอบร่วมกับชาวประมง ลงพื้นที่ไปสำรวจเรือที่มีการร้องจากองค์กรชาวประมง ว่ามีเรือได้รับผลกระทบมากกว่านี้ โดยนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมประมงฯ ร้องขอค่าเยียวยากว่า2 พันลำ ที่ต้องจอดเรือ ด้าน นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรือประมงถูกยกเลิกทะเบียนเรือไปกว่า2พันลำ มีเรือตกสำรวจ อีกกลุ่มเรืออวนรุนถูกกฎหมาย ได้ให้ยกเลิกภายในสองสัปดาห์ ให้เปลี่ยนเครื่องมือใหม่และชาวประมงขาดแคลนทุนทรัพย์ในการซื้อเครื่องมือ ยังไม่ได้ดำเนินการ ขอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนบริหารจัดการประมง เป็นเงินจากค่าธรรมเนียมส่งออก ค่าปรับต่างๆ เข้ากองทุน จะสามารถจัดการดูแลชาวประมงได้ทั้งระบบ ซึ่งการประชุมใหญ่วันที่ 28 มิ.ย.นี้ เพราะได้เรียกร้องจากชาวประมง 22 จังหวัด จะเปิดประชุมใหญ่รับฟังปัญหาต่างๆ เสนอรัฐบาลใหม่เพราะกฎหมายประมงปี58นี้เข้มข้นรุนแรงมากเป็นอันดับ1หรือ2 ของโลก ทุกฝ่ายต้องมาปรับให้สมดุล เหมาะสมการประกอบอาชีพ ตามหลักการของไอยูยู จริงๆ คือ มีการลงโทษเมื่อทำผิดต่อทรัพยากร แต่ของไทยกลายมาเอาผิดวิธีการปฏิบัติ หาข้อผิดง่ายๆ แต่โทษรุนแรงมาก ยึดเรือริบสัตว์น้ำที่จับมาบนเรือทั้งหมด รวมทั้งมาตรการแก้ปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ เรามีสัตว์น้ำดีที่สุดในโลกได้ใบเขียว ตรวจสอบย้อนกลับได้ แต่ผู้ประกอบการหันไปนำเข้ามาไปส่งออกก็ไม่ว่า แต่ยังมาขายแข่งในประเทศทำให้ตกต่ำด้วย ทั้งนี้ ปัญหาแรงงานประมง เป็นปัญหาเรื้อรังแก้ยากมากที่สุด กลับไม่น่าเชื่อ ว่ากระทรวงแรงงาน ได้รับฟังและแก้ให้แรงงานถูกกฎหมายถาวร ทำได้ชัดเจนมาก แต่กระทรวงเกษตรฯ เองที่ยังต้องพูดคุยกันให้ดำเนินการได้ในแนวทางสองคล้องกับหน่วยงานอื่นๆ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้เข้ามาแก้ให้ถูกทางพร้อมร่วมเป็นคณะทำงานด้วย